เดินหน้ารับฟัง ร่าง พ.ร.บ.กลุ่มชาติพันธุ์ฯ เสริมศักยภาพ ภูมิใจในศักดิ์ศรี และพึ่งพาตนเอง

The Active ชวนทำความเข้าใจ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ก้าวสำคัญการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งแรก ในงานกิจกรรมรวมญาติชาวเล ครั้งที่ 11 ที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล 28-29 พ.ย. 2563

หลังผ่านการพิจารณาของคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มาแล้ว 11 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 และยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเสร็จ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานหลักดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติฯ จึงเดินหน้าจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้  ตั้งเป้าให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศ โดยเริ่มครั้งแรกที่งานกิจกรรมรวมญาติชาวเล ครั้งที่ 11 ที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

ที่มาที่ไป “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ โดยรัฐบาลจัดความสำคัญให้เป็นกฎหมายเร่งด่วน 16 ฉบับ ที่ต้องจัดทำให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งกำหนดไว้ในเอกสารภาคผนวกคำแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560 ไม่เพียงเท่านั้น การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังอยู่ในประกาศแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่องและประเด็นปฏิรูปที่ 4: ระบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง กิจกรรมที่ 4 ส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 70 และมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

การผลักดันจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากความต้องการของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องการยกระดับแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย. 2553 และ แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 3 ส.ค. 2553 ขึ้นเป็นกฎหมาย ซึ่งมีความพยายามผลักดันตั้งแต่ปี 2559 โดยเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กำหนดให้รัฐคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โดยจัดทำเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม แต่ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยังคงหลักการสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้

เหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมาย ส่งเสริม และอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบไปด้วยเหตุผล 3 ประการ

ประการแรก สถานการณ์ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ประเทศไทยมีชาติพันธุ์ มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์  มีประชากรรวม ประมาณ 6.1 ล้านคน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรประเทศ แต่ปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยต่างกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน  ด้วยอคติที่ถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าว ไม่ใช่คนไทย ทั้งที่จริงแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ต่างอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาเป็นเวลาช้านาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลายประเด็น เช่น

  • ถูกมองด้วยอคติ ซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ที่สืบเนื่องจากสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด
  • ถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่า เพียงเพราะภาครัฐไม่เข้าใจวิถีเกษตรกรรม และภูมิปัญญา
  • ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เพราะถูกจำกัดการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีวัฒนธรรม
  • ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมือง เพราะยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย รวมถึงถิ่นฐานที่ตั้งในถิ่นทุรกันดาร ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงสิทธิในบริการต่าง ๆ ของรัฐ
  • ปัญหาของการการสูญเสียอัตลักษณ์ และภูมิปัญญา อันเป็นต้นทุนสำคัญในการพึ่งพาตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ในปัจจุบันชาติพันธุ์ต้องสูญเสียศักยภาพของการพึ่งพาตนเอง

ดังนั้น การมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ประการที่สอง การมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ระบุให้ “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย” 

ประกอบกับมาตรา 27  ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา ฯลฯ 

มาตรา 43 บุคคล และชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามรวมทั้งจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

มาตรา 57  รัฐต้องอนุรักษ์ฟื้นฟู ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและ ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม  รวมทั้งอนุรักษ์คุ้มครอง บำรุงรักษาฟื้นฟูบริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการ

นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเอง และการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ

ประการที่สาม  การมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ดำเนินการตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันไว้ เช่น  สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมหลายฉบับ ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ

  • กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR)
  • อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD)  
  • ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples – UNDRIP)
เสียงแกว (เครื่องเป่าที่ทำจากเขาควายหรือไม้) แว่วดังขึ้นในตอนเช้า
ส่งสัญญานฤดูกาลเกี่ยวข้าวไร่ วิถีที่ถูกสานต่อ

หลักการสำคัญ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  มีสถานภาพเป็นกฎหมายส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มชาติพันธุ์ หากแต่เป็นกฎหมายที่มุ่งส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โดยเน้นการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตามหลักสิทธิทางวัฒนธรรม อันเป็นหลักพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ   3 ประการ คือ

ประการแรก คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม อันหมายถึง การให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในการเลือกดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตนโดยไม่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติ จากเดิมที่กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองในฐานะที่เป็น “คนชายขอบ” เกิดปัญหาอคติทางวัฒนธรรมที่เกิดจากความไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่อาจเป็นรากฐานความรุนแรงในสังคมไทย ดังนั้นการให้การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาดุลยภาคทางสังคม

ประการที่สอง  ส่งเสริมการจัดการตนเองบนฐานวัฒนธรรม ที่เน้นให้ส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นเครือมือจัดการตนเอง หรือมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ในการจัดการปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ จากเดิมที่เน้นการให้การสงเคราะห์กลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียความสามารถจัดการตนเอง มาเป็นการเสริมศักยภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์มี “พลัง” จัดการตนเอง บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแนวทางของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นฐานไปสู่การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคงในประเด็นการสร้างกลไกภาคประชาชนในการเสริมความมั่นคงของชาติ

รอยยิ้ม ความสุข จากความมั่นคงทางอาหารในไร่หมุนเวียน

ประการที่สาม สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะ คนชายขอบต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ในแง่นี้การมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้หลักการของความเสมอภาคที่มีแนวทางจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับศักยภาพของคนที่มีความหลากหลาย

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

เมื่อเข้าใจถึงหลักกันไปแล้ว ดังนั้นในะฐานะของหน่วยงานหลักขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ แต่งตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … โดยจัดประชุมคณะทำงานไปแล้ว 11 ครั้ง เพื่อพิจารณาสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ที่บัญญัติไว้ 5 เรื่อง

1. การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์  กฎหมายฉบับนี้ยืนยันในหลักการที่ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มชาติพันธุ์ หากแต่มุ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะเป็นกลุ่มความด้อยสิทธิและยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ดังนั้นกฎหมาย จึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมอันเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่จะต้องคุ้มครอง

  • การได้รับการดูแลและไม่ถูกเกลียดชัง เหยียดหยาม หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
  • การอนุรักษ์ภูมิปัญญาหรือความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต และความเชื่อตามจารีตประเพณี
  • การจัดการชุมชนและพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
  • การจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของชุมชน
  • การมีส่วนร่วมบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในโครงการ กิจกรรมหรือกิจการของรัฐหรือเอกชน ที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิตหรือชุมชน
  • การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการบริการสาธารณะของรัฐ

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้มีการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย

2. การสร้างกลไกเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์  กฎหมายฉบับนี้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องมีกลไกของรัฐที่จะเข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง เนื่องจากเป็นปัญหาที่เปราะบาง ละเอียดอ่อน จึงออกแบบให้มีกลไกคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้ “คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสร้างกลไกไปสู่คณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม

3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กลุ่มชาติพันธุ์จัดการตนเอง  กฎหมายฉบับนี้ยึดหลักการสำคัญที่มุ่งส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมจัดการตนเองบนฐานภูมิปัญญาวัฒนธรรม จึงออกแบบให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบของ “สมัชชาชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่เลือกกันเองเพื่อเป็นสมาชิกสมัชชา โดยมีหน้าที่ดังนี้

  • เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
  • ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์อนุรักษ์หรือฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษา
  • เสนอนโยบาย มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ต่อคณะกรรมการ
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
  • เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
  • สนับสนุนการจัดทำข้อมูลและบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์
  • เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์อันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะ
  • เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์
  • รายงานปัญหาและผลที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการดำเนินงาน ของหน่วยงานของรัฐต่อคณะกรรมการ

ทั้งนี้ในการบริหารจัดการสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย ให้สมาชิกสมัชชาเลือกสมาชิกจำนวนหนึ่งเป็น “คณะกรรมการบริหารสมัชชา”

4. การจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 70 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำฐานข้อมูล วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ

  • เพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
  • เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกฎหมายในการรับรองสถานะบุคคล
  • เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีกลุ่มชาติพันธุ์
  • เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการประกาศและเพิกถอนเขตพื้นที่ที่มีกฎหมายกำหนดเพื่อการอนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการดำเนินกิจการอื่นของรัฐ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

สำหรับการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ ให้ดำเนินการโดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งทำหน้าที่ในการวางกรอบแนวทาง โดยให้ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์

5. การกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีแนวคิดมากจากการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ อันเป็นความพยายามของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมได้อย่างสมดุล กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

ในกฎหมายฉบับนี้ ได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญ โดยกำหนดให้ให้ชุมชนจัดทำแผนแม่บท ว่าด้วยการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้ทำเป็นประกาศของคณะกรรมการ เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิต วัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีคณะกรรมการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ บริหารจัดการโดยมีหน้าที่จัดทำธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องประกอบด้วย สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ และพื้นที่สงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำนุบำรุงรักษาสืบทอดศิลปวัฒนธรรมและภาษา มาตรการบังคับใช้ธรรมนูญ ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  โดยต้องไม่ขัดกับแผนแม่บทที่เสนอต่อคณะกรรมการ

สิทธิทางวัฒนธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ที่ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ จะทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมพัฒนาชาติ เป็นพลังสำคัญการขับเคลื่อนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของส่วนรวมให้ดีขึ้น

ก่อนตีข้าว ชาวปกาเกอะญอจะทำพิธี “กี่จึ๊เผ้าะบือ“ หรือ “มัดมือเรียกขวัญลงตีข้าว “ . เป็นพิธีที่ตอกย้ำเรื่องคุณค่าและความสำคัญของข้าว ปลุกพลังให้สมาชิกมีความกล้าหาญ ภาคภูมิใจ เชื่อมั่นต่อเรื่องการทำการผลิตข้าว ตระหนักว่ามีความสำคัญแค่ไหนต่อมนุษย์ และเพื่อให้การเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือเกิดความเสียหายน้อยที่สุด

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังมีคำถามว่าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นกฎหมายเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วจะมีผลอะไรกับคนทั่วไป มีคำอธิบายเรื่องนี้ จาก “อภินันท์ ธรรมเสนา” หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ โดยยืนยันว่า สิทธิทางวัฒนธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ที่ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ จะทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมพัฒนาชาติ เป็นพลังสำคัญการขับเคลื่อนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของส่วนรวมให้ดีขึ้น ที่สำคัญเป้าหมายของกฏหมายฉบับนี้ คือ มุ่งส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเข้มแข็ง ภูมิใจศักดิ์ศรีและพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องรอรับการแต่การสงเคราะห์ หรือช่วยเหลือ แต่สามารถพึ่งตนเองได้บนฐานทุนทางวัฒนธรรม จะช่วยลดงบประมาณของชาติ ที่จะนำมาใช้ในการจัดการตรงนี้ได้ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
AUTHOR

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์