เช้ามืดของทุกวัน ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง หรือ ‘ซอยกีบหมู’ คับคั่งไปด้วยการซื้อขายแรงงาน กรรมกร รับจ้างรายวันหลายพันคน สร้างความหวัง อาชีพ รายได้ ให้กับแรงงานขายแรงทุกคนที่นี่
หนึ่งในแรงงานที่มาแสวงหาโอกาส คือ ‘จีน’ กับ ‘ดา’ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร จังหวัดอุบลราชธานี แม้อายุเพียง 16 ปี แต่ทั้งคู่ก็ตั้งใจมาเป็นกรรมกร หารายได้ในช่วงปิดเทอม
วังวน ‘กรรมกร’ ขายแรง จากรุ่นสู่รุ่น
จีน บอกว่า ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี พอปิดเทอม ก็ตามแม่มาทำงานด้วย เพราะอยากได้เงินก้อนกลับไปใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม
“ฐานะที่บ้านเราไม่เท่าคนอื่นเขาค่ะ ก็ต้องหาเงินให้ตัวเอง แบ่งเบาภาระแม่ด้วย มาตั้งแต่เดือนตุลาคมค่ะ เป็นกรรมกรก่อสร้าง เขาบอกอะไรก็ต้องทำ บางวันก็ได้งาน บางวันก็ไม่ได้ เขาไม่อยากรับเด็ก คนตกงานก็เยอะ ก็ต้องมายืนอยู่ตรงนี้”
ส่วน ดา ทุกคนในครอบครัวเป็นกรรมกร การที่เธอได้มาเห็น และทำงานเองแบบนี้ ทำให้เข้าใจถึงความยากลำบากของพ่อแม่และพี่
“จากเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยได้ทำอะไร ก็ได้มาเจอในสิ่งที่พ่อแม่เคยทำ พ่อแม่เคยทำมามากว่าหนูอีกตั้งสิบกว่าปี หนูมาเจอแค่ไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำก็ยังเหนื่อยขนาดนี้แล้ว”
เด็กหญิงทั้งสองคน แม้ตั้งใจทำงานเต็มที่ ทำงานทุกอย่างไม่เกี่ยง ไม่ว่าจะยกแบกของขึ้นลงตึก ทำความสะอาดโรงงาน โรงเชือดหมู งานกลางวันกลางคืนก็รับทำหมด แต่ก็ได้ค่าแรงไม่เท่ากับคนอื่น
แม้เธอรู้สึกกังวลกับความปลอดภัย ทั้งจากงานและสภาพโดยรอบห้องเช่าที่พักอยู่เดือนละ 3,000 บาท แต่เมื่อตัดสินใจมาทำงาน และมีความหวัง ว่าจะได้เงินกลับบ้านสักก้อน จึงจำยอม อดทนขายแรงจนถึงวันเปิดเทอม
“ทำงานได้ค่าจ้างวันละ 500-600 บาท ตั้งใจเก็บเงินให้ได้สักหมื่นบาท แต่เงินเหลือกลับบ้านแค่ 1,400 บาท ก็คงซื้อได้แค่ชุดนักเรียนชุดเดียว”
นอกจากประสบการณ์ เด็กทั้งสองคนยังได้คำตอบว่า การเรียนหนังสือสูง ๆ คือทางเลือกที่ดีกว่า และการศึกษาจะช่วยให้มีงานที่ดีสบาย และมีรายได้มากกว่าการเป็นกรรมกร ที่สำคัญไม่ต้องเสี่ยงเจอกับอุบัติเหตุจากการทำงานเหมือนเช่นเดียวกับรุ่นพ่อ เนื่องจากพ่อของดา ซึ่งเคยเป็นกรรมกรที่ซอยกีบหมู เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจากการทำงาน นายจ้างก็ไม่รับผิดชอบ
“ผมขาหัก ได้พักอยู่แค่ 2 เดือนผมก็ไปอีก ถูกนั่งร้านทับขา โครงหลังคาตีกลับมา นั่งร้านก็พาล้มเลยนั่งร้านสูง 5 ชั้น หมอให้ผ่าตัด แต่ผมไม่มีเงินผ่าก็เลยไม่ผ่า ไปทำงานก็เจ็บตัวฟรีไม่ได้เงินสักบาท เขาเป็นแค่ผู้รับเหมา จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเรา มันไม่ได้เป็นบริษัท ถ้าเป็นงานบริษัทก็คงจะได้หยุด 2 เดือนตอนที่เดินไม่ได้ จะไปผ่าตัดก็กลัวเสียเวลาอีก จะไม่มีกินเพราะลูกต้องไปโรงเรียน จะไม่มีเงินก็ต้องไปหากลัวลูกไม่มีเงินไปโรงเรียน”
อาชีพอิสระ แต่ไร้หลักประกัน(ชีวิต)
“โส” แม่เลี้ยงเดี่ยว วัย 25 ปี เป็นอีกคนที่ยืนหยัดขายแรงที่ซอยกีบหมู เธอเคยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เงินเดือน 9,000 บาท ไม่พอส่งให้ทางบ้าน จึงตัดสินใจมาที่ซอยกีบหมู เพราะเชื่อว่าได้ค่าแรงรายวันมากกว่า และเป็นงานอิสระ
“เลี้ยงลูกคนเดียว ต้องหาเงินเลี้ยงลูก 2-3 ปีแล้ว ทำงานทุกอย่างที่ได้เงิน ทั้งทำความสะอาด ผสมปูน ยาแนว ทาสี ลูกก็ยังเล็กจะต้องหาเงินซื้อนม คนโตก็ต้องไปโรงเรียน งานมันอิสระ ค่าแรงก็สูง ถ้าเราทำงานโรงงานก็แค่รอสิ้นเดือน ตรงนี้ถ้ามีงานทั้งอาทิตย์ก็ส่งให้แม่ได้แล้ว”
โสตั้งใจเรียนสูง ๆ แต่ฐานะทางบ้านยากจน เธอจึงต้องจบเส้นทางการศึกษา ด้วยวุฒิแค่ ม.3 แล้วมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวง สู่เส้นทางกรรมกร ถึงจะตอบโจทย์การเป็นอาชีพอิสระ สร้างรายได้เลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ แต่ก็ไร้หลักประกัน ไม่มีสวัสดิการใด ๆ มารองรับ
“ไม่มีสวัสดิการอะไร ประกันสังคมก็ไม่มี เพื่อนคนอื่นเขาก็จบ ม.6 เขาก็ไปทำงานที่มีสวัสดิการอะไรเยอะ ๆ อย่างหนูจบ ม.3 ไม่มีหรอกป้ายที่เขารับ ม.3 น้อยที่สุด”
โส อาศัยอยู่ในห้องเช่าเพียงลำพัง หากวันไหนไม่มีใครจ้างงาน ก็ต้องกลับมานอนพักรองานใหม่ อยู่ในห้องเช่าเล็ก ๆ ที่มีไว้สำหรับซุกหัวนอนเท่านั้น การพูดคุยโทรศัพท์กับลูก เป็นเพียงกำลังใจเดียวที่ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้ ยังกัดฟันทนทำงาน เพื่ออนาคตของคนที่รัก ซึ่งเธอหวังจะให้ลูกได้เรียนสูงที่สุด จะได้ไม่มีชีวิตลำบากเหมือนแม่
‘กีบหมู’ พื้นที่แห่งความหวัง-โอกาส?
ข้อมูลจากงานศึกษาเกี่ยวกับการจ้างงานประเภทก่อสร้างที่ถนนกีบหมู ระบุว่า แต่ละวันมีแรงงานประมาณ 5,000-8,000 คน ออกมายืนรองาน ตั้งแต่ 05.00 น. – 10.00 น. แรงงานส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาชีพเดิมคือทํานา อีกส่วนคือแรงงานข้ามชาติ ประเภทงานส่วนใหญ่ คือ ช่างไม้ ช่างปูน และกรรมกร
สำหรับเหตุผลที่แรงงานเลือกมาอยู่ที่นี่ เพราะอิสระ ไม่มีระเบียบข้อบังคับ ได้รับค่าจ้างวันต่อวัน และได้รับค่าแรงท่ีสูงกว่าแรงงานก่อสร้าง ที่เป็นลูกจ้างของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แต่ปัญหาร่วมที่แรงงานทุกคนต้องแบกรับความเสี่ยงเหมือนกัน คือ อาชีพของพวกเขาไม่มีหลักประกัน ไม่มีความมั่นคงในอนาคต ไม่มีสวัสดิการทางสังคม ประกันสังคม ไม่มีระบบการออมพื้นฐาน
มองหาสวัสดิการ แรงงานปลายแถว
ธนพร วิจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง บอกว่า แม้เป็นแรงงานอิสระที่ยืนขายแรงในซอยกีบหมู ไม่ว่าแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ถูก และผิดกฎหมาย ล้วนมีสิทธิการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะหากทำงานแล้วนายจ้างไม่จ่ายค่าแรง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายแรงงาน สามารถเขียนคำร้องยื่นได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัด หรือยื่นที่สหภาพแรงงานก็ได้เช่นกัน
ส่วนประกันสังคมนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างร้อยละ 5 และจ่ายสมทบเข้ากองทุนเป็นสิทธิที่นายจ้าง และลูกจ้างควรรู้ในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงการจ้างงานในซอยกีบหมู อาจจะทำได้ยาก เพราะเป็นการจ้างงานรายวัน ซึ่งต้องเปลี่ยนนายจ้างไปเรื่อย ๆ ตามแต่ที่จะถูกว่าจ้างในแต่ละวัน หากเป็นงานต่อเนื่องควรจะต้องรักษาสิทธิ และทวงสิทธินี้จากนายจ้าง แต่ในความเป็นจริงลูกจ้าง และนายจ้างอิสระ ต่างก็มีความรู้เรื่องสิทธิน้อยมาก
“เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานเขาไม่รู้เลย เขาไม่รู้ว่าต้องทำงานหกวันพักหนึ่งวัน เขาไม่รู้ว่าทำโอทีแล้วได้เท่าไหร่ เขามีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน มันมีกฎหมายเขาจะไม่รู้เลย สภาพการจ้างงานที่เจอ เวลาพักก็เหมือนไม่ได้พักต้องรีบๆกิน รีบทำงาน แต่ทำงานครบสี่ชั่วโมงต้องได้พักหนึ่งชั้่วโมง ทุกวันนี้นายจ้างละเมิดโคตรเยฺอะ ไม่ใช่เยอะธรรมดา”
ขณะเดียวกันการทำประกันสังคม ก็ยังคงเปิดช่องให้แรงงานอิสระที่ไม่มีนายจ้าง สามารถทำประกันสังคมได้เอง แต่สิทธิประโยชน์น้อยมาก เมื่อเทียบกับการทำประกันสังคมที่มีนายจ้างหรือแรงงานในระบบ ซึ่งได้ริบสิทธิประโยชน์ถึง 7 เรื่อง เช่น กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีตาย, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน
ส่วนแรงงานนอกระบบ จะได้รับความคุ้มครองประโยชน์ทดแทนแบ่งเป็น 3 ทางเลือก สูงสุดเพียง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีทุพพลภาพ, กรณีตาย, กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
ปิดช่องขายแรงเสรี สู่สิทธิ สวัสดิการที่ควรเป็น
ธนพร เสนอว่า การทำงานอิสระเป็นเรื่องดีกับแรงงานนอกระบบ แต่ควรมีขอบเขตของการคุ้มครอง และไม่ควรปล่อยปละละเลย รัฐควรใช้กลไกที่มีอยู่ เข้ามาทำงาน และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรมในซอยกีบหมู และไม่ควรปล่อยให้การค้าขายแรงงานไร้สวัสดิการรองรับทั้งที่ทำได้
“มันอิสระเกินขอบเขตการคุ้มครอง ควรมีการอบรมนายจ้างให้ข้อมูลนายจ้างรายย่อย ว่าคุณมีหน้าที่อะไร ลูกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง ไม่ใช่มาเปิดอิระเสรีเหมือนการค้ามนุษย์ มันเสรีเกินไป ทุกคนต้องการเงินเข้าใจและที่นี่ค่าแรงมากกว่าขั้นต่ำ แต่นายจ้างไม่ต้องส่งประกันสังคม ลดต้นทุน แต่ถ้าเราไปทำงานก่อสร้างบาดเจ็บเสียชีวิตขึ้นมา อะไรคุ้มครองเรา ต้องไปพิสูจน์กันอีก ทำไมไม่มีมาตรฐานรองรับเขาก่อนที่เขาจะเรียกร้องสิทธิ”
ถ้ากีบหมูเปรียบเสมือนแอ่งกะทะแห่งความหวังของแรงงาน อะไรคือมาตรฐานของการเป็นตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ มีโอกาสพัฒนาทักษะการทำงาน มีโอกาสพัฒนาทักษะชีวิต มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต
หากความฝัน ความหวังของแรงงานสำเร็จ โอกาสที่จะถูกส่งต่อไปยังลูกหลานของพวกเขาจะเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้คนรุ่นต่อไปเป็นแรงงานมากฝีมือในบริษัทที่เต็มไปด้วยสวัสดิการสังคม ไม่เดินตามรอยความลำบากเหมือนคนรุ่นพ่อแม่