‘เสน่ห์ จามริก’ ปฐมบท “สิทธิชุมชน – สิทธิมนุษยชนไทย”

นับเป็นอีกความสูญเสียครั้งสำคัญ ของวงการ ‘สิทธิมนุษยชนไทย’ ต่อการจากไปของ ‘ศ.เสน่ห์ จามริก’ วัย 95 ปี หนึ่งในผู้ที่ทำให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยธรรมชาติ และเป็นผู้ริเริ่มเรื่อง ‘สิทธิชุมชน’ ว่า เป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชน จนทำให้ ศ.เสน่ห์ นั่งอยู่ในใจผู้คน โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ตัวน้อย คือ การมีส่วนผลักดันและชี้เป้าให้สังคมร่วมกันตระหนักถึงการปกป้องสิทธิ ในช่วงการทำหน้าที่ ‘ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 1’ ช่วงปี 2544 ถึง 2552

เสน่ห์ จามริก

“อาจารย์เสน่ห์ พูดถึงสิทธิชุมชนในความหมายว่า ต้องทำให้ผู้คนปกป้องสิทธิตัวเองได้ ไม่ใช่ออกมาเรียกร้องลอย ๆ ทำให้ชุมชน ได้ใช้สิทธิ สร้างความเข้มแข็งเพื่อตัวเองได้ ไม่ให้มีใครมาละเมิด”

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าย้อนความทรงจำ ถึงสิ่งที่เคยได้ยิน อาจารย์เสน่ห์ พูดย้ำมาตลอด จนยึดเป็นแนวทางการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดมา

เสน่ห์ จามริก

พิทักษ์สิทธิ เป็นที่พึ่งคนตัวเล็ก ตัวน้อย

สุนี บอกว่า บทบาทการทำงานของ อาจารย์เสน่ห์ อยู่ในความทรงจำ แม้ในฐานะของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ก็ต่อสู้เรื่องสิทธิการเมืองมาตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพราะมองว่า การต่อสู้ของนักศึกษาเป็นพลังที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม สะท้อนระบบการเมืองในตอนนั้น โดยไม่คิดแสวงหาอำนาจ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ล้วนเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนชัดเจน

เมื่อ อาจารย์เสน่ห์ เข้ามาทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชน จึงได้ให้ความสำคัญกับการพิทักษ์สิทธิให้กับผู้คนตัวเล็ก ตัวน้อย เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาในระยะยาว ไปสู่การเป็นนโยบายสาธารณะ ที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ซึ่งในช่วงแรกของการทำงาน มีเรื่องร้องเรียนแทบทุกมิติ ที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจารย์เสน่ห์ ก็ยินดีไปพบกับทุกฝ่ายเพื่อคลี่คลายปัญหา พร้อมจะช่วยผลักดันไปสู่การหาทางออก 

เสน่ห์ จามริก

“ปีแรก ที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีหลายประเด็นที่การเรียกร้องของชาวบ้าน คาบเกี่ยวกับสิทธิการเมือง เช่น กรณีสลายชุมนุมชาวบ้านที่คัดค้านท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย, กรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าบ้านกรูด อาจารย์เสน่ห์ ให้ความสำคัญอย่างมาก ลงตรวจสอบ จนออกมาเป็นรายงาน แถลงต่อสาธารณชน มีรายงานสรุปเสนอต่อรัฐบาลอย่างจริงจัง ซึ่ง อาจารย์เสน่ห์ พูดมาตลอดว่า สิทธิเสรีภาพทางการเมืองสำคัญ ต้องปกป้องให้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องสิทธิชุมชนควบคู่ไปด้วย นี่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือก แต่ต้องไปด้วยกัน เป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนเล็ก คนน้อย พิทักษ์สิทธิของตัวเองเอาไว้ให้ได้”

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ปักหมุด ‘สิทธิชุมชน’ รากฐานสิทธิมนุษยชน

เพราะอะไร ‘สิทธิชุมชน’ คือสิ่งที่อาจารย์เสน่ห์ให้ความสำคัญ กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะผู้ที่เคยได้ร่วมงานกับอาจารย์เสน่ห์ ในช่วงบุกเบิกสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ย้อนเรื่องราว ว่า จริง ๆ อาจารย์เสน่ห์ เคยตั้งโจทย์ร่วมกันกับกลุ่มนักวิชาการ และ เครือข่าย NGO เพื่อศึกษางานด้านสิทธิมนุษยชน ต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนรากหญ้า ผู้คนในชนบท เกษตรกร จนทำให้ได้ข้อสรุปว่า เอาเข้าจริงปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย ไม่ใช่แค่มิติของปัจเจกชนเท่านั้น แต่ทุกปัญหาล้วนมีฐานจาก วิถีวัฒนธรรม การพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีการแย่งชิงทรัพยากร ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น จากนโยบายป่าไม้ การอพยพชาวบ้านจากพื้นที่การสร้างเขื่อน ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเดือดร้อน จึงทำให้เห็นชัดเจนว่าแนวคิดสิทธิชุมชน ในฐานะ สิทธิมนุษยชน ไม่เคยแยกขาดจากกัน อาจารย์เสน่ห์ จึงพยายามพัฒนามิติเหล่านี้ ผลักดันทำให้ที่ทางของสิทธิชุมชน ถูกพัฒนามาจากฐานรากของสังคมไทย

เสน่ห์ จามริก

‘สิทธิชุมชน’ เครื่องมือประชาชน

เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา บอกด้วยว่า แนวคิดสิทธิชุมชน ที่อาจารย์เสน่ห์ ปักหมุดเอาไว้ เชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชน ทำให้ชุมชน และผู้คน มองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งเชื่อว่า การจัดการทรัพยากรจะยั่งยืนได้ ไม่ใช่แค่การสร้างกรรมสิทธิส่วนบุคคล หรือ ไม่ให้กรรมสิทธิกับใครเลย แต่การจัดการที่ดีคือต้องจัดการอย่างมีส่วนร่วม ที่สำคัญสิทธิชุมชน ยังเป็นเครื่องมือให้กับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย

“ชาวบ้านที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบ เมื่อพวกเขารู้จักสิทธิชุมชน ก็จะรู้สึกว่าการออกมาปกป้อง ต่อสู้เพื่อทรัพยากร เป็นสิทธิที่สำคัญ และแนวคิดสิทธิชุมชน ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐ ซึ่งตอนนี้สิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญก็รองรับ เมื่อชาวบ้านมีปัญหาต้องต่อสู้กับโครงการพัฒนา การเวนคืนที่ดิน การต้องถูกอพยพโยกย้าย ชาวบ้านจะรู้ได้เองว่านี่คือการกำลังถูกละเมิดสิทธิชุมชน ทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มีพลังอย่างมาก” 

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

แต่กว่าจะทำให้คำว่า สิทธิชุมชน เป็นที่รู้จัก เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ก็ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกระบวนการคิดของนักวิชาการสายกฎหมาย อาจมองสวนทางกันกับหลักการสิทธิชุมชน เพราะสิ่งที่เขายืนยันหนักแน่น คือ สิทธิของผู้คน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีกฎหมายมาเป็นตัวกำหนด แต่ปรัชญาที่อาจารย์เสน่ห์ พยายามทำความเข้าใจกับสังคม คือ มนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาติ รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตามสิทธิพึงมีอยู่แล้ว เมื่อนั้นสิทธิชุมชนก็จะเกิดขึ้น

เสน่ห์ จามริก

“อย่างคำถามที่ว่า ทำไมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีสิทธิอะไรไปอยู่ในป่า แต่ถ้าเราพูดถึงสิทธิชุมชน จะเข้าใจเลยว่า นี่คือวิถีการดำรงชีพของกะเหรี่ยง พวกเขาอยู่และเติบโตมากับป่า จึงจำเป็นต้องได้รับสิทธิอยู่ที่นั่น ตามสิทธิโดยธรรมชาติ ดังนั้น ถ้ามีคนภายนอกมาทำลายทรัพยากร พวกเขาก็มีสิทธิปกป้องมัน นี่คือหลักการง่าย ๆ ที่ อาจารย์เสน่ห์ ย้ำถึงความสำคัญของสิทธิชุมชน”

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เท่าทัน สังคมเปลี่ยนแปลง

นอกจาก สิทธิชุมชน ที่อาจารย์เสน่ห์ปูทางเอาไว้ให้กับวงการสิทธิมนุษยชนไทย หลักการทำงาน ยังเป็นอีกแนวทาง ที่น่าจะสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ในปัจจุบัน เรื่องนี้ สุนี ไชยรส อธิบายว่าอาจารย์เสน่ห์ ย้ำตลอดว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เกิดขึ้นจากประชาชน จึงต้องมีความอิสระของตัวเองให้มากที่สุด ในช่วงที่ทำหน้าที่อาจารย์เสน่ห์ พิสูจน์ให้เห็น ไม่ว่าจะวิจารณ์การทำหน้าที่ของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา วิจารณ์รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่กระบวนการยกร่างฯ ที่ต้องยึดมั่นในหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยความกล้าของคนเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งอาจารย์เสน่ห์ ทำให้เห็นมาแล้ว

เสน่ห์ จามริก

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ย้ำอีกว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ต้องเข้มแข็งในเรื่องการพิทักษ์สิทธิ ไม่ทิ้งปัญหาของชาวบ้าน และต้องเท่าทันปัญหาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ พร้อมทั้งต้องช่วยขยับการแก้ไขปัญหาไปสู่การเป็นนโยบายสาธารณะให้ได้

สอดคล้องกับบางช่วงบางตอนที่อาจารย์เสน่ห์ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ เมื่อ 7 ปีก่อน (17 ก.พ. 2558) ฝากถึงบทบาทของกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ โดยเน้นย้ำให้ทำหน้าที่อย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของปัญหาในสังคม

เสน่ห์ จามริก

“กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีหน้าที่ดูความเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ใช่ดูแค่เหตุที่เกิด แต่สังคมทั่วไป เป็นกรอบของปัญหาสิทธิ ถ้าทำให้สังคมดีขึ้น คนรู้เท่าทันมากขึ้น สถานการณ์ก็จะดีขึ้น แต่ก็จะมีการสร้างสถานการณ์ใหม่ ในความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นสิทธิมนุษยชน จึงเป็นเรื่องที่พลวัต (Dynamic) เป็นเรื่องที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาสิทธิ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ต้องติดตามความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงเป็นอีกมิติหนึ่งในหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ”   

ศ.เสน่ห์ จามริก อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สัมภาษณ์ 17 ก.พ. 2558)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น