“ถ้าจะให้พูดตรง ๆ แก้ผ้าโชว์ มันผิดขนาดนั้นเลยเหรอวะ”
Sex Creator ท่านหนึ่ง
หนึ่งคำถามที่เต็มไปด้วยหลายล้านความรู้สึกจากปากของหญิงสาววัย 26 ปี ที่เรียกตัวเองว่าเป็น Sex Creator ซึ่ง ถ้าหากกฎหมายพูดได้ ก็คงจะพูดตรง ๆ ตอบกลับเธอไปเช่นกันว่า “มันผิดขนาดนั้นแหละ..”
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 “ร่วมกันทำผลิตมีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพหรือสิ่งอื่นใดอันลามก เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน” โทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้” โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ถ้าย้อนกลับมา… อะไรถึงทำให้ต้องตั้งคำถามว่า “ผิดขนาดนั้นเลยหรือ” และอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ Sex Creator เข้ามามีบทบาทในสังคมไทย The Active ชวนสังคมทำความเข้าใจ Sex Creator ผ่านประสบการณ์ของเขาและเธอเหล่านี้ พร้อมมองท่าทีของสังคมด้วยเครื่องมือ Zocial Eye ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

เงินบาป เงินง่าย ใครทำก็ได้ เพราะมีแค่ร่างกายไว้โชว์ ?
“ตอนแรกไม่ได้กะจะทำเป็นงานหลัก แต่เงินมันดี มีปัญหาเรื่องสุขภาพด้วย มันก็ไปกระทบกับงานประจำที่ทำ เราก็เลยเลือกที่จะทำ Sex Creator ตั้งแต่นั้นมา”
Sex Creator ท่านหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้เหล่า Sex Creator จะช่วยระบายความใคร่ให้ใครต่อใคร แต่สำหรับสังคมส่วนใหญ่ถือว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีไปโดยปริยาย เพราะต้นทุนหลักของงานนี้คือเรือนร่างที่ฉายผ่านหน้าจอ
“Sex Creator คือการหากินจากสิ่งที่ทุกคนมีมาแต่กำเนิด ใครก็หากินจากการแก้ผ้าได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ได้รับเกียรติใด ๆ ในขณะเดียวกันคนที่หากินกับสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นการลดเกียรติ ลดศักดิ์ศรีของตัวเองไปทำสิ่งที่ง่าย ด้วยการหากินกับความใคร่ และที่สำคัญ เรื่องนี้มันขาดศีลธรรม”
ความเห็นบนโลกออนไลน์
Sex Creator ใครก็ทำได้จริงเหรอ ?
แม้เนื้อตัวร่างกายจะเป็นสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันทั้งโลก แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำให้เนื้อตัวร่างกายของตัวเองเป็นที่ถูกตาต้องใจจนทำให้หลายคนยอมสละเงินเพื่อได้เชยชมเรือนร่างนั้นอย่างไม่ลังเล ขณะที่ไม่สามารถลูบไล้หรือร่วมเพศได้อย่าง Sex Worker ตามบาร์ได้ด้วย…แล้วมันเพราะอะไรกัน ? ที่ทำให้ผู้รับชมทั้งหลายมีความสุขทางเพศได้โดยดูได้โดยไม่ต้องสัมผัส
“เราเรียกมันว่างานสร้างสรรค์ เราต้องคิดตลอดเวลาว่าจะทำยังไงให้คลิปของเราออกมาดีที่สุด ทั้งร่างกาย ชุดเสื้อผ้า ไปจนถึงการจัดแสงจัดไฟ ที่สำคัญ ต้องคิดพล็อตเรื่องด้วย จนแทบจะเป็นหนังดี ๆ เรื่องหนึ่งแล้ว”
Sex Creator ท่านหนึ่ง
คำบอกเล่าจากผู้ที่โลดแล่นอยู่ในวงการ Sex Creator มาเป็นเวลา 3 ปี จึงเป็นคำตอบที่ยืนยันได้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้” และถ้าหากเราได้เห็นผลงานต่าง ๆ ผ่านตามาบ้าง คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “จริงอย่างที่เธอพูด” เพราะผลงานแต่ละชิ้นที่เหล่า Sex Creator ผลิตออกมา เรียกได้ว่าถูกสร้างสรรค์มาด้วยความตั้งใจและผ่านการคิดมาเป็นอย่างดีเพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่แฟนคลับของเธอสนับสนุน
นอกจากเขา/เธอจะต้องลงทุนไปกับร่างกายและค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องแลก ซึ่งจากประสบการณ์ของเอและการพูดคุยกับเพื่อนร่วมอาชีพของเธอบอกว่า อาชีพนี้ต้องแลกมาด้วยสุขภาพจิตที่แย่ลง เพราะการเอาเรื่องบนเตียงออกมาสู่ที่สาธารณะสำหรับสังคมไทยยังเป็นเรื่องที่ขัดกับศีลธรรมอันดีและหลักศาสนา
ผลสะท้อนที่เกิดขึ้นจากสังคมจึงกลายเป็นคำดูถูก ดูแคลน ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมากไปกว่านั้นคือการคุกคามชีวิตส่วนตัวของ Sex Creator จนทำให้ต้องยุติบทบาทการเป็นดาวโป๊ อย่าง กวาง-อาริศา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เดียร์ลอง’
“การที่ต้องเห็นคอมเมนต์ทางเพศตลอด แม้แต่ในโพสต์ที่แทบจะไม่มีอะไรเซ็กซี่เลย มันทำให้กวางเศร้ามาก และกลัวว่าคนจะเริ่มลืมกันไปจริง ๆ ว่ากวางได้เคยทำ หรือเคยเป็นอะไรมาบ้าง เลยจะขอถอยกลับมาในจุดที่สบายใจ”
ข้อความจากโพสต์ของเดียร์ลอง

ไม่ใช่แค่เดียร์ลองเท่านั้นที่ต้องเจอกับการคุกคามจากคนในสังคมหรือแม้กระทั่งผู้ที่สนับสนุน เพราะจากประสบการณ์ของ Sex Creator บางคน ก็พบเจอกับเหตุการณ์คุกคามจากคนเหล่านี้เช่นกัน โดยเธอเล่าให้ฟังว่า แม้เธอจะปิดบังตัวตนบนแพลตฟอร์มที่เผยแพร่คลิปวิดีโอ แต่เมื่อมีผู้ติดตามจำลักษณะของเธอได้ เธอกลับถูกทักทายด้วยคำพูดคุกคามในงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศแม้แต่น้อย หนำซ้ำ ยังถูกชักชวนให้เธอขายบริการทางเพศด้วยถ้อยคำหยาบคายอีกด้วย
“เราไม่โอเคมากเวลาออกไปทำงานข้างนอกแล้วเจอคนทักว่า ไปกินข้าวกับพี่สองคนไหม เดี๋ยวพี่ให้ค่าขนม คือเรารู้ว่ามันไม่ใช่แค่กินข้าวไง ถ้าคนซัพพอร์ตเราจริง ๆ เขาจะรู้ว่าเราไม่รับงาน”
Sex Creator ท่านหนึ่ง
มากไปกว่าเรื่องการโดนสังคมมองเธอในแง่ลบจนทำให้สุขภาพจิตแย่ลงไปกว่าเดิมคือ ‘ความรู้สึกไร้รัก’ ที่มีต่อแฟนหนุ่มของเธอ เพราะทุกครั้งที่มีการร่วมรักหรือเสพสื่อ 18+ เธอกลับไม่ได้มีความรู้สึกพิเศษของการร่วมรักระหว่างคนสองคน และมองข้ามความรู้สึกนั้นไปพร้อมกับความกังวลที่เข้ามาแทน
“แบบนี้ดีไหมนะ ดูดีพอรึยัง”
Sex Creator ท่านหนึ่ง
“มุมกล้องของคนนี้ดีจัง เราลองทำแบบนี้ดีไหม”
ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เอาเข้าจริง เรื่องนี้ก็มีผลกระทบกับความรู้สึกของเธอ และทำให้ความสุขที่เคยมีลดลงไปไม่น้อย เมื่อจะต้องคิดคอนเทนต์เอาใจเหล่าผู้ติดตาม พร้อมแข่งกับ Sex Creator หน้าใหม่ที่เฉือนราคาเข้ารับชม จนทำให้ผู้ติดตามเดิมเริ่มหายไปทีละนิด อีกทั้งยังมีแอ็กเคานต์โปรโมทเว็บพนันมาขโมยคลิปไปลงในช่องทางดูฟรี จนทำให้รายได้ที่เคยมีลดลงอย่างไม่ทันตั้งตัว
“เมื่อก่อนรายได้เราดีมาก แต่พอคนหน้าใหม่เข้ามา เขามาแบบตัดราคาครึ่งต่อครึ่งเลย ถึงจะเป็นแค่แอ็กเคานต์เล็ก ๆ คนก็ยอมจ่ายอยู่ดี เพราะราคาถูก”
Sex Creator ท่านหนึ่ง
ฉะนั้นแล้ว ยังมีอะไรอีกมายมายที่ทำให้เราเห็นว่าการเป็น Sex Creator มีความยากลำบากหลายด้าน ทั้งจากอคติทางสังคม ความเสี่ยงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ รายได้ที่ไม่มั่นคง ความเครียดทางจิตใจจากแรงกดดันและคอมเมนต์ด้านลบ และที่สำคัญคืออาชีพนี้ยัง ผิดกฎหมาย ทั้งหมดนี้จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายคนมองว่า Sex Creator ไม่ง่ายอย่างที่คิด และไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้
อย่างไรก็ดี สังคมบางส่วนเริ่มเข้าใจและมอง Sex Work เป็นอาชีพที่มีเกียรติเทียบเท่ากับอาชีพอื่น ๆ โดยสะท้อนออกมาผ่านความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ และความคิดเห็นคนในครอบครัวของเหล่า Sex Work ผ่าน สารคดีคนจนเมือง ซีซัน 4 ตอน คุณป้าบาร์เบียร์ และ สารคดีคนจนเมือง ซีซัน 5 ตอน ฝันสีรุ้ง
“เอาจริง อาชีพนี้ ถ้าคิดดี ๆ ข้อเสียใหญ่ข้อเดียวเลย คือสายตาจากสังคมนะ คือถ้าลองคิดแบบลบเส้นศีลธรรมที่ขีดด้วยหลักศาสนาแล้วใช้หลักความดีสากลมามองแทน อาชีพพวกนี้แทบไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมมากขนาดนั้นด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ไม่มากเทียบเท่ากับสิ่งที่สังคมพยายามจะลงโทษอาชีพนี้”
ความเห็นบนโลกออนไลน์

ในเมื่อปฏิเสธการมีอยู่ของ Sex Work ไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ และทำให้ถูกต้อง ?
“เราปฏิเสธการมีอยู่ของมันไม่ได้ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่เราเพิ่งมาคิดว่าอะไรคือศีลธรรมอันดี เพิ่งมาเปลี่ยนกฎหมายกันไม่นานมานี้”
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน The Active Podcast EP.206 หนังโป๊ เซ็กซ์ทอย สิทธิในการเข้าถึงจุดสุดยอด ต้องขอใคร ? ไว้ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ และทุกวันนี้เราก็ยังเห็นว่าหลายคนก็ดูหนังโป๊ ใช้เซ็กส์ทอย พร้อมเล่าประวัติศาสตร์ฉบับย่อให้ฟังว่า เรามี Sex Toy และหนังโป๊ในลักษณะภาพวาดผนังที่แสดงถึงลักษณะร่วมเพศมาตั้งแต่ยุคหินแล้ว
สำหรับประเทศไทยเรื่องพวกนี้ก็เพิ่งถูกแบนในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะมีความจำเป็นด้านความมั่นคงของประเทศ และในเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราอาจจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและความเป็นไปของสังคม
“ประเทศชาติแก่กว่าเรา แต่พอเราเกิดในจุดใดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ เราอย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้”
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
อย่างอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นที่ถูกทำให้อยู่บนดิน เท่าพิภพ บอกว่า ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นก็มีปัญหามาก่อน เรื่องไปหลอกเด็กผู้หญิงมาอนาจาร เพราะเมื่อก่อนไม่มีเรื่องการกำหนดอายุในการผลิตสื่อ จนกระทั่งองค์กรภาคเอกชนรวมตัวกันเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของเขาเอง โดยเสนอให้มีการควบคุม กำกับ ดูแล ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้จึงออกกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานให้กับผู้ที่จะมาเป็นดาวโป๊ในอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น
“ถ้ามีคนดึงผมเข้าสังกัด ผมต้องยินยอมอยู่แล้ว ถ้าผมเซ็นสัญญาวันนี้ ผมไปถ่ายหนังเลยไม่ได้นะ ผมต้องรอ 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่เว้นไว้ตามกฎหมาย ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะถ่ายได้เลย คือเป็นเรื่องของการให้เวลาเผื่อเปลี่ยนใจของนักแสดง สามารถยกเลิกสัญญาได้เลยใน 3 สัปดาห์ โดยไม่ต้องผิดสัญญา ถ้า 3 สัปดาห์ยังไม่เปลี่ยนใจ และเริ่มทำการถ่าย นับจากนั้น 3 เดือนถึงจะปล่อยผลงานได้ ก็เหมือนกัน มีเวลาให้เปลี่ยนใจได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกฎหมายของสภาฯ ก็ออกมาแล้ว และวันหนึ่งผมจะเลิก ผมไปบอกค่ายว่าจะไม่ทำแล้ว ค่ายก็จะต้องถอดออกจากสื่อต่าง ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นกระบวนการที่กฎหมายญี่ปุ่นทำได้ โดยที่นักแสดงไม่ต้องจ่ายเงินให้ค่ายเลย”
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
ดังนั้นการทำแบบนี้มันมีมาตรฐาน ต้องตรวจโรคทุกอย่าง ซึ่งถ้าทำให้มันอยู่บนดินได้ ผมว่ามันก็เห็นสมควร และต้องทำ เพราะปัจจุบันเราก็มี Sex Creator มากมาย มันก็มีหลายระดับตั้งแต่โป๊ที่แค่โชว์ ไปจนถึงการร่วมเพศ
สำหรับกรณีของประเทศไทย เท่าพิภพ ก็ได้เสนอเพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำให้ถูกกฎหมาย คือ ห้ามไม่ให้มีเนื้อหารุนแรงหรือข่มขืน และนักแสดงต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของหนังโป๊ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งถ้าจะทำให้กฎหมายถูกต้อง เราจะมาคิดง่าทำยังไงให้เนื้อหาที่เด็กดู ไม่เข้าใจผิดว่าการร่วมเพศต้องรุนแรง
“สรุปง่าย ๆ คือ เราต้องทำหนังโป๊น้ำดี หรือหนังโป๊คุณธรรม ให้เป็น Sex Education อย่างหนึ่ง ให้เป็นการสอนเด็กหรือสังคมได้”
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
ขณะที่สถานการณ์ เด็กและสื่อลามกอนาจารเริ่มให้เห็นกันถี่ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างกรณีคนในครอบครัวบังคับให้ลูกหลานถ่ายคลิปเพื่อขายให้กับผู้ติดตาม ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการไม่มีอะไรมาควบคุมในอุตสาหกรรมนี้ อาจทำให้เด็กหลายคนกลายเป็นเหยื่อให้กับผู้ที่อยากแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับเอ ผู้ที่หวังจะเป็น Sex Creator ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ก็เห็นด้วยเช่นกันที่ควรทำให้อุตสาหกรรมนี้มีมาตรฐาน และถูกกำกับดูแล เพราะการทำให้ถูกกฎหมายจะช่วยให้พวกเธอมีความปลอดภัย และได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงานเช่นเดียวกับชีพอื่น ๆ ซึ่งสำหรับเธอเองก็พร้อมที่จะเสียภาษีให้กับรัฐบาลอย่างถูกต้องเช่นกัน
กฎหมายก็ส่วนกฎหมาย ศีลธรรมเป็นอีกเรื่องที่ต้องแยกแยะ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นจากออนไลน์ในประเด็นนี้อีกว่าการทำให้ Sex Creator ถูกกฎหมาย ไม่ได้เปลี่ยนความคิดของคนในสังคมไปในทางที่ดีได้ คนก็ยังมองว่าอาชีพนี้ผิดศีลธรรมหรือรังเกียจเหมือนเดิม เพียงแค่ทำให้มีการควบคุมแค่นั้น
“ผมจะสื่อว่าคนที่ชอบอ้างประเทศที่ถูกกฎหมายไม่ได้ดัดจริตเหมือนประเทศไทย ความจริงไม่ใช่เลย อย่างญี่ปุ่น ก็มีคนในสังคมไม่น้อยนะที่รู้สึกรังเกียจอาชีพพวกนี้ ดารา AV หลายคนก็เคยถูกคนใกล้ตัวตีตัวออกห่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งพ่อแม่ตัวเอง ที่ผมยกเรื่องนี้มาพูด ไม่ใช่ว่าตัวผมดูถูกอะไรอาชีพนี้นะ แต่แค่อยากชี้ให้เห็นว่า ถ้าใครเลือกที่จะเดินทางสายนี้แล้ว ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์การโดนดูถูกเหยียดหยาม”
ความเห็นบนโลกออนไลน์
เหนือสิ่งอื่นใด สำหรับเรื่องนี้ เท่าพิภพ บอกว่า พอจะเข้าใจได้ในเรื่องศีลธรรมที่ทุกคนมีไม่เท่ากัน เพราะถ้ามองเป็นพีระมิด สิ่งที่อยู่ล่างสุดคือเรื่องกฎหมาย ขึ้นไปอีกคือจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกที่ต้องเคารพกัน และสุดท้ายคือศีลธรรม ที่เป็นเรื่องปัจเจกมากขึ้นไปอีก
เมื่อจริยธรรมและศีลธรรมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เราจึงไม่ควรนำเรื่องปัจเจกมาครอบผู้อื่น และนำความแตกต่างมาเป็นความขัดแย้ง เพราะจริยธรรมและศีลธรรมมันยังคับให้ทุกคนเป็นเหมือนกันไม่ได้
“ศีลธรรมไม่ได้ผิดในตัวของมันเอง มันจะเสียเมื่อคุณเอาศีลธรรมนั้น ไปครอบคนอื่น แล้วชี้คนอื่นว่าคุณมีไม่เท่าผม คุณผิด”
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
ท้ายที่สุด Sex Work ถูกกฎหมายจะไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว หากแต่การทำให้อาชีพที่มีอยู่มาอย่างยาวนาน และไม่มีทางเป็นไปได้ว่าจะกำจัดออกไปจากสังคม ได้ถูกกฎหมาย และมีการกำกับดูแล รวมถึงให้สิทธิแรงงานอย่างเท่าเทียม อาจเป็นทางออกที่ช่วยทำให้ปัญหาในขณะนี้ ตามสิทธิเสรีภาพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะได้รับ
แต่คำถามสำคัญคือ สังคมควรยอมรับและคุ้มครองอาชีพนี้อย่างไร? และ เราจะช่วยให้คนที่ไม่มีทางเลือก มีโอกาสอื่นในชีวิตได้อย่างไร ? เพื่อให้ทุกคนในสังคมไปต่อกันได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจกันและกัน