ถนน เสาไฟ ? ‘อบต.’ กับคุณภาพชีวิตประชาชน

เมื่อพูดถึง อบต. เราจะนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก ?

ถนน สะพาน ตลาด ความสะอาด หรือ เสาไฟกินรี ?

ก่อนวันชี้ชะตาผู้บริหารท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดอย่าง ‘นายก อบต.‘ และ ‘ส.อบต.’ มีอะไรอยู่ภายใต้นโยบายหาเสียง และคำมั่นสัญญาของเหล่าผู้ลงสมัครในพื้นที่

แล้วหากคนเหล่านั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว นโยบายเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง และส่งผลดีต่อชีวิตอย่างไร ?

The Active ชวนลงพื้นที่ ดูตัวอย่าง อบต.ที่โดดเด่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้กับคนในชุมชน

“เตาะแตะ – ต้วมเตี้ยม – เต่งตึง – โตงเตง – ตาย” คือ ความมุ่งหวังในการดูแลประชาชนทุกช่วงวัย ของ องค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานท้องถิ่นซึ่งใช้พลังและศักยภาพของเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในตำบลให้ดียิ่งขึ้น การันตีความสำเร็จด้วย ‘รางวัลพระปกเกล้าทองคำ’ ปี 2563 จากสถาบันพระปกเกล้า

โรงเรียนผู้สูงอายุ ต้นแบบการบริหารจัดการท้องถิ่น

‘โรงเรียนผู้สูงอายุ อบต.พลับพลาไชย’ ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการโดยท้องถิ่น ที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ได้รับความสนใจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศ เดินทางมาศึกษาดูงาน นับตั้งแต่ปี 2557 โดยร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โรงพยาบาลอู่ทอง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน วิทยาลัยการอาชีพอู่ทอง บริษัทอู่ทองพลังงาน จำกัด ร่วมกันออกแบบกิจกรรม และพัฒนาหลักสูตรภายในโรงเรียน ให้ผู้สูงอายุในพื้นที่สามารถดูแลตนเองได้ และใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข

อบต.พลับพลาไชย มีประชากร จำนวน 11,905 คน (ข้อมูลสำนักทะเบียนอำเภออู่ทอง ณ เดือนเมษายน 2563) โดยในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพ จำนวน 2,333 คน (ข้อมูล อบต.พลับพลาไชย ณ เดือนสิงหาคม 2563) คิดเป็นร้อยละ 19.59 ของประชากรทั้งหมด และจากการเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ยังจำแนกได้เป็น กลุ่มผู้สุงอายุที่ติดเตียงร้อยละ 1.11 กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านร้อยละ 11.14 และกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังสามารถเข้าร่วมสังคมได้ร้อยละ 87.75

จากข้อมูลประชากรสะท้อนได้ว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุใน อบต.พลับพลาไชย ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้พัฒนาการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ถดถอยลงไป การสร้างพื้นที่เรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และที่สำคัญสร้างทักษะอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้สูงอายุได้ ถือเป็นทางเลือกการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับสภาพของประชากร

เมื่อเดินทางมาถึงโรงเรียนผู้สูงอายุ อบต.พลับพลาไชย เหล่านักเรียนรุ่นใหญ่ก็รอต้อนรับพร้อมรอยยิ้ม และความเป็นกันเอง ‘บุญเกื้อ – เฉลิมพร – ปถมภรณ์ – ภวัต’ กรรมการโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นผู้บอกเล่าประสบการณ์ และสิ่งที่ได้รับจากโรงเรียนแห่งนี้ และการกลับมาเจอกันที่โรงเรียนครั้งนี้ เป็นรอบหลายเดือนหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เราสัมผัสได้ถึงความคิดถึงของเพื่อนวัยเดียวกัน

ความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุในชุมชนก่อนหน้านี้ ต่างพื้นที่ ต่างคน ต่างอยู่ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันเท่าไหร่นัก แต่โรงเรียนแห่งนี้ทำให้ทุกคนรู้จักกันมากขึ้น “เพื่อนวัยแก่” คือสิ่งที่ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน ว่าเป็นข้อดีที่สุดในการมีโรงเรียนผู้สูงอายุ นอกจากนั้นแล้วหลักสูตรการสอนภายในโรงเรียนช่วยสร้างทักษะการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้กับผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

‘ไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง’ เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ผู้สูงอายุกล่าวว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะในยุคปัจจุบัน แม้พวกเขาจะสามารถใช้โทรศัพท์ และท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้ แต่หลายขั้นตอนก็เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ อบต.พลับพลาไชย จึงเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ สร้างเกราะป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุถูกหลอกจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งการเรียนการสอนถูกแบ่งออกเป็นประเภทวิชา “ต้องรู้ ควรรู้ อยากรู้” ในสัดส่วน 50: 30: 20 เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการเรียนรู้

นอกจากนั้นโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ยังสามารถช่วยเยียวยาจิตใจ เป็นพื้นที่ผ่อนคลายความเครียดและความกังวล ปอหลุน สร้อยระย้า วัย 64 ปี เป็นหนึ่งในนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า รักษาตามอาการด้วยการรับประทานยาอยู่เป็นเวลานานกว่า 5 ปี แต่เมื่อได้ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุ ได้เปิดโลกใหม่ในบั้นปลายชีวิต ได้พบเจอเพื่อนมากหน้าหลายตา จนปัจจุบันไม่ต้องพึ่งยารักษาโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ

ปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ “แก่ก่อนรวย” ทำให้ขาดรายได้ในการเลี้ยงดูตัวเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัว หรือลูกหลานคอยดูแล มีเพียงเบี้ยยังชีพผู้อายุคอยช่วยเหลือในแต่ละเดือนเท่านั้น โรงเรียนผู้สูงอายุ อบต.พลับพลาไชย มองเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงสร้างโรงเรียนเป็นพื้นที่ฝึกทักษะอาชีพ ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น ทอผ้า สานตะกร้า และงานประดิษฐ์ต่าง ๆ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในตำบล

ผู้สูงอายุกลุ่มสานตะกร้านี้ ได้รับทักษะมาจากการเรียนรู้ภายในโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยวิทยากร จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาเป็นผู้ฝึกสอน จนปัจจุบันกลายเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ ตะกร้าสานมือหลายรูปแบบนี้ เหมาะกับการใช้สอยในชีวิตประจำวัน หรือได้รับความนิยมอย่างมากจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการตกแต่งกระเช้าสวยงามไปมอบให้กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ แม้รายได้จะไม่ได้มากมาย แต่อย่างน้อยที่สุดได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

รายงานผลเงินหมุนเวียนจากการเปิดขายของ “ตลาดสีเขียว” เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษาดูงาน รวมถึงงานสำคัญประจำตำบล ในปี 2562 จำหน่ายสินค้าได้ 7,234 บาท/ครั้ง จำนวน 10 ครั้ง/ปี และในปี 2563 จำหน่ายสินค้าได้ 6,895 บาท/ครั้ง จำนวน 5 ครั้ง/ปี นอกจากนั้น อบต.พลับพลาไชย ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดหาตลาดให้กับสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่าน Facebook Fanpage : Eldery PPC Shop อีกด้วย

ซึ่งการกำหนดสัดส่วนหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายในโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ เกิดจากการสำรวจความต้องการของนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ ว่าต้องการเรียนรู้ในสิ่งใดบ้าง และนำข้อมูลเหล่านั้นมากำหนดเป็นสัดส่วนของหลักสูตรการเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนให้มากที่สุด และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าต้องถูกบังคับให้เข้าร่วม แต่เป็นความต้องการของทุกคนร่วมกัน

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดี

คุณภาพชีวิตที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อสร้างทุนทรัพยากรมนุษย์ของท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.พลับพลาไชย เป็นอีกหนึ่งผลงานการขับเคลื่อนโดยท้องถิ่นเพื่อคนในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ ช่วยให้เด็กในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการลดภาระรายจ่ายของผู้ปกครอง และสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมให้กับเด็กเล็กได้เป็นอย่างดี

เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองของนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.พลับพลาไชย ทำให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อ ครอบครัว และลูกหลานในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สามารถลดรายจ่ายให้กับแต่ละครัวเรือนได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น 1. ค่าอาหาร 20 บาท/คน/วัน (600 บาทต่อเดือน) 2. ค่าอาหารเสริมนม 7 บาท/คน/วัน (210 บาทต่อเดือน) 3. ค่าชุดนักเรียน 300 บาท
4. ค่าหนังสือ 200 บาท 5. ค่าอุปกรณ์การเรียน 200 บาท 6. ค่าจัดการเรียนการสอน 1,400 บาท และ 7. ค่าศึกษาดูงาน 430 บาท ซึ่งหากรวมทั้งหมดใน 1 ปีการศึกษา สามารถลดรายจ่ายได้มากกว่า 6,000 บาทต่อครัวเรือน

ในขณะที่ผู้ปกครองเองที่ยังต้องทำมาหากิน การมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้ามาดูแลลูกหลานของตน ทำให้สามารถมีเวลาในการประกอบอาชีพอย่างเต็มที่โดยไม่สูญเสียรายได้ พัฒนาการของเด็กดีและครอบครัวมีความมั่นคง ย่อมเป็นต้นทุนที่ดีกว่า สำหรับเด็กที่จะเติบโตและเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างเครือข่ายของผู้ปกครองที่เข้มแข็งในชุมชน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางพัฒนาเด็กในชุมชนของตนเอง ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพไปพร้อมกัน

ภาพ : อบต.พลับพลาไชย

และประโยชน์สูงสุดนั้น เกิดขึ้นกับนักเรียน วัยเด็กเล็กที่ต้องการพัฒนาการที่สมวัย เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในอนาคต ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.พลับพลาไชย เน้นการเสริมสร้างความรู้ควบคู่ไปกับประสบการณ์ชีวิตและความรับผิดชอบ เป็นพื้นที่ฝึกฝนเด็กเล็กให้สามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวันได้ ทั้งการรับประทานอาหาร อาบน้ำ แต่งตัว รวมถึงการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม ตลอดจนให้อิสระในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ได้ลองทำในสิ่งที่เด็กอยากรู้ด้วยตนเอง

หน้าที่อันแท้จริงของ อบต. และท้องถิ่น

ทรงรัตน์ หิรัญอุทก ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลพลับพลาไชย กล่าวว่า อบต.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดมากที่สุด เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ ได้รับเสียงสะท้อนจากการใช้ชีวิตของประชาชนมาโดยตลอด หน้าที่สำคัญจึงเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับคนในชุมชน เพราะเชื่อมั่นว่าหากคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะเป็นพื้นฐานเพื่อความก้าวหน้าและมั่นคงในด้านอื่นต่อไป

“อำนาจหน้าที่ของ อบต.นั้น กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วตามกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะแก้ไขปัญหาใดในท้องถิ่น โดยใช้วิธีการซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม”

ทรงรัตน์ หิรัญอุทก

ทรงรัตน์ กล่าวว่า หลักสำคัญของการทำงานใน อบต.พลับพลาไชย เน้นสร้างการมีส่วนร่วม ก่อนจะดำเนินโครงการใด จะมีการสำรวจความคิดเห็น และความต้องการของคนในชุมชน เพื่อร่วมกันออกแบบวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และทุกคนเห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้สึกร่วม และช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น ที่ไม่ได้เกิดได้เพียงแค่ อบต. เท่านั้น แต่ส่วนสำคัญคือความร่วมมือกันของทุกคนในชุมชน อันเป็นหลักการของการกระจายอำนาจนั่นเอง

ท้องถิ่นที่เรารับรู้และเข้าใจในปัจจุบัน มาพร้อมภาพลักษณ์ที่ติดอยู่ในใจ ทั้งมุมของความไร้ประสิทธิภาพ หรือการทุจริตคอร์รัปชัน แต่นี่เป็นอีกด้านหนึ่งที่ท้องถิ่นสามารถบรรเทาความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนนั้น ๆ ได้ อันเกิดจากความร่วมมือ และกลไกการทำงานของท้องถิ่นเอง แม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งงบประมาณ และการกระจายอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้ คือ เมื่อคนในชุมชนรู้สึกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาธิปไตยในท้องถิ่น มีอำนาจกำหนดและตัดสินความเป็นไปในท้องถิ่นของตนแล้ว จะก่อเกิดโครงการที่ดี และความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจที่ยั่งยืน

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นี้ เป็นวาระที่จะชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น อันเป็นบันไดขั้นแรกสู่การพัฒนา แม้นักการเมืองท้องถิ่นจะถูกลดทอนความสำคัญด้วยข้อหาโกงกิน การแสวงหาผลประโยชน์และแก่ตนและพวกพ้อง แต่เราต้องไม่ลืมผลงานอันน่าจดจำและมีประโยชน์เหล่านี้ ว่าสำคัญต่อชีวิตผู้คนเพียงใด มาร่วมกำหนดอนาคตท้องถิ่นไทย เพื่อสร้างประชาธิปไตยฐานรากที่เข้มแข็งไปพร้อมกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้