ท่อน้ำเลี้ยงทางการศึกษา กับใบปริญญาของ “เคนศรี”

“แท้จริงแล้วปริญญาใบนี้เป็นของใคร?” คำถามของบัณฑิตใหม่ หลังผ่านพิธีกรรมเมื่อจบการศึกษา

สิ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในชีวิต และเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้าง คือ รูปรับปริญญาที่ติดข้างฝาบ้าน ถึงเวลานี้…มายาคติที่ว่า ก็ยังไม่ถูกล้มล้างไปได้

เคนศรี หญิงชราวัยกว่า 70 ปี เธอเป็นคนกาฬสินธุ์ เรียนหนังสือไม่เก่ง และจบเพียงชั้น ป.4 ในยุคที่การศึกษาภาคบังคับส่งให้เธอเรียนได้ถึงแค่ชั้นนั้น

อาชีพเกษตรกร และลูกทั้ง 4 คน เป็นแรงผลักดันให้ยังคงใช้ชีวิต

เธอมีความฝันอยากส่งลูกให้เรียนจบปริญญาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเธอและสามี แต่มีเงื่อนไขหนึ่งต้องตัดสินใจ…

มีลูกแค่เพียง 1 คนเท่านั้น ที่จะได้เรียนต่อจนถึงชั้นปริญญาเพราะข้อจำกัดเรื่องฐานะ เธอและสามีเลือกให้ลูกชายคนสุดท้องเป็นคนไปทำภารกิจ

จนแล้วจนเล่า สิ่งที่เธอปรารถนาอยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัว ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝัน ไม่ใช่ว่าเธอไม่มีกำลังจะสู้ แต่สิ่งแวดล้อมรอบข้างที่ลูกผู้ชายต้องเดินผ่าน ทำให้ลูกชายของเธอไม่สามารถก้าวผ่านมันไปได้

ความหวังของเธอและครอบครัวสลายลงในทันที…

เมื่อความหวังที่ว่าอยากจะได้ปริญญาสักใบให้ครอบครัว เพื่อยกระดับฐานะทางสังคม นอกจากที่จะไม่สำเร็จ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นตราประทับความล้มเหลวของครอบครัวอีกด้วย

กว่า 23 ปี ของการรอคอย เธอยังคงเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ปลูกผัก หาของป่า ขายของ รวมถึงรับจ้างทั่วไปเพื่อเลี้ยงครอบครัวอย่างที่เคยเป็น

เงื่อนไขของเวลา คือ เดินไปข้างหน้า หลายคนต้องจากไป และหลายชีวิตก็เกิดขึ้นมา


23 ปีต่อมา…

โชคชะตากลับมามองเห็นเธออีกครั้ง เมื่อหลานสาว วัย 23 ปี คว้า “ปริญญาใบแรกของตระกูล” เหมือนที่เคยฝัน

แต่ใจของเธอมันยังฝังลึกกับความล้มเหลวครั้งก่อน การที่หลานสาวของเธอเรียนจบจนได้รับปริญญา ทำให้ “เคนศรี” ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลนี้ เพราะมองว่าตัวเองเป็นเพียงแค่คนข้างหลัง ไม่ใช่คนที่ส่งเสีย

แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้เงิน คือ กำลังใจที่เธอมีให้หลานอยู่ตลอดไม่เคยขาด การกอด และคำถามว่า “เหนื่อยไหม…ไหวไหม” นั่นคือกำลังใจ และหากวัดค่า มันอาจมากกว่าเงินด้วยซ้ำ

แสงสายัณห์ กำลังจะลับขอบฟ้า เธอกลับจากทำสวนด้วยร่างกายที่กำลังหมดแรง ปั่นจักรยานคู่ใจสีฟ้าที่สนิมเกาะกินไปแล้วบางส่วน

เธอไม่รู้ว่ามีคนมารอเธอ เพื่อถ่ายรูปแสดงความยินดี…

เมื่อเธอจอดรถจักรยานคู่ใจ แล้วหันมองไปที่หญิงสาววัย 23 ปี ลักษณะที่คุ้นเคย รอยยิ้มของหญิงวัยชราค่อย ๆ ยกขึ้น พร้อมสายตาเปล่งประกาย แสดงให้เห็นถึงความดีใจ ความคิดถึง

“มามื้อได๋ แล้วจะกลับมื้อได๋ มาอยู่ดนบ่”

คำถามถูกพ่นออกมา ด้วยความอยากรู้คำตอบ

หลานสาวของเธอไม่ตอบ แต่เลือกจะสวมชุดครุยใส่ร่างที่ชุ่มด้วยกลิ่นเหงื่อและคราบโคลนที่ติดตามตัว ทำให้เธอเลือกที่จะปฏิเสธการสวมชุดนั้นทันที

แต่ไม่เป็นผล เมื่อชุดครุยค่อย ๆ ถูกสวมในร่างเล็ก ๆ ของหญิงชรา พร้อมกับใบปริญญา และดอกไม้เล็ก ๆ 1 ช่อในมือ

สิ่งเหล่านี้มัน คือ ของเธอ…

ดวงตาของหญิงวัยรุ่น 70 เริ่มมีน้ำใส ๆ คลอ และรอยยิ้มที่เกร็ง ๆ พร้อมกับบอกว่า ชุดนี้มันไม่คู่ควร ใส่แบบนี้จะถูกว่าไหม คนอื่นจะมองไม่ดีไหม ว่าเรียนไม่จบ แต่ทำไมกล้าใส่ชุดนี้

“พอแล้วบ่เอา เดี๋ยวคนแถวบ้านเขาสิหัวให้ ว่าคนบ่ได้หนังสือจังได๋มาใส่ชุดนี้”

คำพูดใสซื่อถูกเปล่งออกมาจากสาวสูงวัยพูดกับหลานสาว เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้เมื่อทวนดี ๆ แล้วทำให้เห็นมายาคติอะไรบางอย่าง ที่ถูกสะสมมา ตลอดช่วงอายุของเธอ

เธอพูดด้วยความเขินอาย เกรงต่อสายตาที่ขับรถผ่านไปผ่านมา กังวลและกลัวว่ามีคนมอง กังวลอยู่ตลอดเวลาที่สวมใส่ชุดครุยของหลานสาว

ในเมื่อเงินที่ใช้ในการเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการศึกษา คอยอำนวยความสะดวกและเป็นกำลังใจสำคัญ เพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ประกอบสร้างที่ถูกประดับ ไม่มีเหตุผลที่เธอจะต้องอาย

การรอคอยกว่า 40 ปีกับปริญญาใบแรก…

ความสำคัญของใบปริญญา แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จของคนที่่เรียน แต่มันคือความสำเร็จของคนที่อยู่ข้างหลัง ที่คอยผลัก คอยดัน คน ๆ หนึ่งไปให้ถึงฝั่งได้จากครอบครัวเกษตรกรในชนบทตีนภูเขา สู่ใบปริญญาใบแรกของตระกูล การรอคอยกว่า 40 ปี ของหญิงชรากับใบปริญญา มันคุ้มค่ามากสำหรับเธอ

“ยายของฉันเก่งที่สุดในโลก”

แม้เรียนไม่จบหลักสูตรตามหลักวิชาการ แต่เธอจบหลักสูตรทำอาชีพเกษตรกรส่งหลานจบปริญญาตรี และเมื่อชุดครุยหลักสูตรเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ที่เป็นหลักสูตรที่ยากยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแม่ที่ดีได้ ไม่ใช่ทุกคนจะอดทนกับความล้มเหลวในชีวิตได้ทุกคน

หลานสาวเธอ จึงขออนุญาตให้ใส่ เป็นชุดเดียวกับหลักสูตรหลานเลยแล้วกัน

เมื่ออ่านมาถึงประโยคนี้ คำตอบของคำถามที่ว่าใบปริญญาจริง ๆ แล้ว มันเป็นของใคร มันควรคู่กับใคร และบ่งบอกอะไรได้บ้าง คงมีคำตอบในใจแตกต่างกัน

สำหรับเรา ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว คำตอบ คือ เป็นของทุกคนที่มีส่วนร่วมในการเดินทางครั้งนี้ เพียงแค่ต้องมี 1 คนเป็นคนเดินตามเกม

ระบบการศึกษา ทำใครตกหล่นไปบ้าง มายาคติกับใบปริญญา คือ ความสำเร็จที่สุดของชีวิต?

คำเหล่านี้ ทำร้ายความรู้สึกใครไปบ้างแล้ว หากไม่เกี่ยว คงไม่มีเหตุผลที่หญิงสูงวัยจะลั่นวาจานั้นออกมา

หากโครงสร้างทางสังคมไม่สร้างมายาคติ กดทับให้คนที่ไม่เรียนว่าเป็นคนโง่ ไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต

เพราะนี่อาจทำให้ใครหลายคนไม่กล้าแสดงตัวตน หรือแสดงความสามารถที่มีอยู่ในตัว เช่นเดียวกับหญิงชราที่มีชื่อว่า “เคนศรี”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ