เกมชีวิต นอกสนามของ “ครูแล่ม”
“ครูแล่ม” หรือ บุตรดา สาโสก อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลที่ผันตัวเองมาเป็นโค้ชวอลเลย์บอลโรงเรียนเมืองเตาวิทยาคม จ.มหาสารคาม ขณะเดียวกันก็เป็นครูอัตราจ้าง รับเงินเดือน 8,000 บาท
ผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่ครูแล่มใช้เงินก้อนนี้ดูแลทีมนักกีฬาที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนนับแสนบาท เมื่อดูรายรับและรายจ่ายที่เกินตัวแบบนี้ การนำทีมจึงเป็นภาระที่แบกไว้หนักหนา แต่หากจะให้ละทิ้งด้วยเหตุผลนี้ ครูแล่มกลับไม่สามารถจะละทิ้งได้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่การเล่นกีฬาเพื่อความสนุกสนานยามว่างเท่านั้น แต่เส้นทางนี้คือโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส และอาจพลิกชีวิตของเด็กคนหนึ่งให้หลุดพ้นจากวังวนของความยากจนข้ามรุ่นได้
“เงินเดือนเรา 8,000 บาท รายรับจากโรงเรียน 10,000 บาท รายรับทั้งหมดก็คือ 18,000 บาท แต่ว่ารายจ่ายของเราอยู่ที่ 70,000-100,000 บาทต่อเดือน มันก็เลยไม่สมดุลกัน ประโยชน์สูงสุด ครูทำเพื่อเด็ก มันอาจจะเป็นเพราะว่าครูเคยมีปมเรื่องคำว่าโอกาสทางการศึกษา ซึ่งพอครูมาอยู่จุด ๆ นี้ มันสามารถสร้างโอกาสให้เด็กที่เขาด้อยโอกาส เหมือนที่เราเคยมาแล้วเลยไม่อยากทิ้งตรงนี้ไป เพราะถ้าครูทิ้งไป ไม่รู้ว่าเด็กอีกกี่คนที่จะต้องพลาดโอกาส เสียโอกาสตรงนี้”
ปัจจุบันมีเด็กอยู่ภายใต้การดูแลของครูแล่มทั้งหมด 30 คน และมีบางคนที่ครูแล่มต้องดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดในฐานะผู้ปกครอง
ตุ๊ต๊ะ อาศัยอยู่กับย่าตั้งแต่เกิดและไม่เคยเห็นหน้าแม่ มีเพียงย่าทำงานส่งเสียเพียงลำพัง และหวังให้เขาเรียนสูง ๆ แต่เพราะฐานะทางบ้านยากจน ย่าจึงให้ตุ๊ต๊ะมาอาศัยอยู่กับครูแล่มและเป็นสมาชิกของทีมวอลเลย์บอล ปูทางไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
เช่นเดียวกับ มะระ ที่ฝันจะใช้ความสามารถด้านกีฬาวอลเลย์บอลเป็นใบเบิกทางต่อยอดทั้งการศึกษา อาชีพ รายได้ หากทุกอย่างเป็นไปตามฝัน เขาก็หวังว่าจะมีเงินเก็บสักก้อนเพื่อไถ่ถอนที่ดินของครอบครัวที่จำนองไว้
ครูแล่มบอกว่าเด็ก ๆ ที่อยู่จุดนี้ ต้องมีวินัยในการฝึกซ้อม และต้องไม่ละทิ้งการเรียน ทุกอย่างต้องควบคู่และอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยเดียวกัน ผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถคว้าทุนทางกีฬาหรือเป็นดาวเด่นประดับวงการกีฬาดวงใหม่ แต่อย่างน้อยเด็กด้อยโอกาสทุกคนจะไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา นี่เป็นความตั้งใจและเป็นเหตุผลที่ทำให้ครูแล่มยังคงทำหน้าที่นี้ในทุกวัน แม้บางวันอยากจะจบชีวิตเพื่อหลีกหนีหนี้สินที่ล้นพ้นตัว
“เมื่อก่อนที่ทำแรก ๆ ไม่หนัก เพราะเมื่อก่อนเรามีตังค์ เมื่อก่อนเรามีเงินเก็บเป็นก้อน แต่ภายในปีสองปีเงินก้อนเราหมดไปเลย แล้วมันก็เริ่มหนักเรื่อย ๆ ซึ่งจนถึง ณ ตอนนี้ คำว่าท้อและคำว่าไม่ไหวมันมาอยู่ที่เราแล้ว ดิ้นหาตังค์ทุกวัน แล้วพอเราไม่มีที่ไป เราก็ต้องยืม ยืมไม่ได้เราก็ต้องกู้ ตอนนี้ก็คือตัน”
การแข่งขันหลายรายการที่ครูแล่มพาทีมตระเวนแข่งขัน หากชนะได้เงินรางวัลก็นำมาใช้หมุนเวียนภายในทีม เช่น ค่าอาหาร การเดินทาง ค่ายา และส่วนใหญ่จะไม่แบ่งให้นักกีฬาใช้ส่วนตัว ยกเว้นโครงการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ 1 จังหวัด 1 ชนิดกีฬา จะแบ่งบางส่วนให้นักกีฬาเจ้าของทุนบ้าง แต่ยังน้อยกว่าที่ต้องหักเข้าทีม ล่าสุด งบประมาณจากโครงการนี้มีการเบิกจ่ายล่าช้า ส่งผลกระทบกับทีมวอลเลย์บอลของครูแล่ม ซึ่งมีปัญหาทางด้านการเงินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ที่งดจัดการแข่งขัน ขาดงบฯ สนับสนุนการฝึกซ้อม แต่นักกีฬายังคงต้องฝึกซ้อมทุกวัน แม้การทำทีมจะเต็มไปด้วยภาระ และมองไม่เห็นจุดคลี่คลายของปัญหา แต่ทุกวันนี้ครูแล่มยังคงทำหน้าที่ฝึกสอน หาเงิน เป็นสะพานเชื่อมฝันสร้างโอกาส ส่งเด็ก ๆ หลายคนติดนักกีฬาทีมชาติ บางคนก็ได้เรียนต่อในระดับที่สูง มีหน้าที่การงานที่มั่งคงจากรุ่นสู่รุ่น
“กีฬา” เครื่องมือ “พัฒนาคน”
สมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย บอกว่าเรื่องราวที่สะท้อนผ่านสารคดีชีวิตของครูแล่ม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และยังคงมีอยู่อีกมาก เนื่องจากระบบต้นน้ำที่สร้างนักกีฬายังคงไม่มีใครรับผิดชอบหรือมีกลไกที่ทำให้การสร้างนักกีฬาได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง และภาระของการทำทีมก็ตกอยู่ที่ครูหรือโค้ช
“เรามีหลายทีมที่เป็นแบบนี้ ที่ทำทีมด้วยใจรัก เสียสละ เพื่อเป้าหมายอยากให้เด็ก ๆ ชนบทที่ห่างไกล ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือ นี่คือผลผลิตที่เกิดจากต้นน้ำ เป็นองคาพยพของสมาคม”
แม้ว่าสิ่งที่ครูแล่มทำและเผชิญอยู่จะหนักหนา และทางสมาคมฯ เองก็เข้าใจ และรู้สึกซาบซึ้งในความเสียสละของบุคลากรต้นน้ำ แต่เมื่อถามถึงการดูแลบุคลากรแบบนี้ กลับพบว่าทางสมาคมฯ เองก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือช่วงโควิด-19 ถูกระงับการสนับสนุน ขณะที่ทางสมาคมฯ สามารถช่วยทีมครูแล่มหรือบุคลากรต้นน้ำเหล่านี้ได้มากที่สุด คือ การให้โอกาสเปิดพื้นที่การแข่งขันให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่สร้างชื่อเสียง พิสูจน์ผลงาน ต่อยอดสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของสมาคมฯ ซึ่งอยู่ปลายน้ำแล้ว
“เราไม่มีระบบต้นน้ำที่ดี สมาคมฯ เราเลยต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คือจัดกีฬาในร่ม ชายหาดรุ่นมินิตั้งแต่ 12 ปี จัดแข่งขันไปทั่วภูมิภาค เราต้องลงไปทำเอง เราไม่สามารถทำให้วอลเลย์บอลเป็นที่รู้จัก ไม่สามารถสร้างนักกีฬาทีมชาติได้ เราก็เลยต้องรับผิดชอบทั้งระบบ ซึ่งมันหนักมาก”
นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การดูแลระบบต้นน้ำถูกพูดถึงไว้ในแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ และตามบริบทควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องทำงานร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่กรมพลศึกษาย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลายอย่างก็เปลี่ยนไป
“กรมพลศึกษามีบุคลากรกีฬา มีอุปกรณ์ ขณะที่กระทรวงศึกษาฯ มีเด็ก ทั้งสองหน่วยต้องทำงานร่วมกัน แต่พอกรมพลศึกษาย้ายไปอยู่กระทรวงท่องเที่ยวฯ กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้ดูแล ในความรู้สึกคือไม่ใช่หน้าที่หลัก”
แล้วหน้าที่ของการดูแลระบบต้นน้ำควรเป็นหน้าที่ของใคร? ในมุมของนายกสมาคมฯ เห็นว่า หากดูตามบริบทโรงเรียนเมืองเตาพิทยาคม เป็นโรงเรียนสังกัดท้องถิ่น หน้าที่หลักของท้องถิ่นตามภารกิจคือการดูแล สนับสนุนทั้งการศึกษา กีฬา วัฒนธรรม ภาระตรงนี้จะปลดล็อกได้หากท้องถิ่นให้การสนับสนุน และตามกลไกปกติเปิดช่องให้ไว้อยู่แล้ว คือการเขียนเสนอโครงการเข้าไป แต่จะได้รับการพิจารณาหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง ซึ่งต้องดูว่านโยบายของผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบาย วิสัยทัศน์ และเช่นเดียวกัน หากท้องถิ่นเห็นว่ากีฬาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาคน ท้องถิ่นก็จะเป็นอีกหน่วยงานที่เข้ามาสนับสุนนส่วนนี้ได้
“ถ้าเข้าใจปรัชญาของกีฬา คือ การพัฒนาคน ไม่ใช่แค่วิชาการเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจปรัชญาตรงนี้ การสร้างคนและสู่ความเป็นเลิศก็เกิดขึ้นได้ ถ้าทุกหน่วยร่วมมือกัน ก็ทำให้ต้นน้ำมีพลังได้ เชื่อว่า อบจ. มีงบประมาณ แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการ และต้องเข้าใจตรงกัน”
นายกสมาคมฯ ยังทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาเพชรประดับวงการกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติทั้งหมดมาจากเด็กต่างจังหวัด และมาจากการควานหาเพชรในตม ซึ่งได้จากการจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาค ครูแล่มคือส่วนหนึ่งขององคาพยพที่สร้างนักกีฬามากฝีมือ ทางสมาคมฯ รู้สึกซาบซึ้งใจในความเสียสละของบุคลากรเหล่านี้ แต่หากใช้กลไกในระบบที่มีอยู่ซึ่งไม่เพียงพอ ทั้งบุคลากรและงบประมาณ จึงอยากให้ผู้ที่มีใจรักกีฬาให้การสนับสนุน และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับครูแล่มคือสถานการณ์ของวงการกีฬาวอลเลย์บอลไทย
คิดใหม่? กระจายงบฯ สร้างนักกีฬาต้นน้ำ
หากดูข้อมูลจาก อบจ.มหาสารคาม พบว่ามีโครงการสนับสนุนด้านการกีฬางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3 โครงการได้แก่ (1) โครงการส่งเสริมกีฬาและการจัดการแข่งขันกีฬา 2,000,000 บาท (2) โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศด้านการกีฬา จำนวน 200,000 บาท และ (3) โครงการส่งเสริมสนับสนุนความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ศิลปะ ดนตรี กีฬา และนันทนาการ จำนวน 400,000 บาท รวม 2,600,000 บาท หากดูวงเงินทั้งหมดจะพบว่าเงินส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อการจัดการแข่งขัน
สอดคล้องกับ สุธาศินี สุทธิบงกช บรรณาธิการและผู้ประกาศข่าวกีฬา ไทยพีบีเอส ที่กล่าวถึงกรณีการใช้งบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ซึ่งพบว่ามีงบฯ แต่ละปี 4-5 พันล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ จะใช้สำหรับเพื่อเงินรางวัลในการจัดการแข่งขันระดับชาติ และสำหรับการจัดการแข่งขัน ซึ่งใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท ขณะที่การกระจายงบฯ ตามจำนวนเหรียญ โดยลืมมองเห็นความสำคัญว่า กว่านักกีฬาคนหนึ่งจะมีฝีมือขึ้นมาสู่ระดับการแข่งขันได้ ต้องเริ่มต้นจากการเข้าถึงกีฬาได้ก่อน ซึ่งปัญหาหลักอาจอยู่ที่วิธีคิดและการบริหารจัดการเงิน
“กว่าที่นักกีฬาจะขึ้นมาอยู่ในจุดที่แข่งขันได้ ต้องเริ่มที่เขาเข้าถึงกีฬาได้ก่อน แต่เด็กชายขอบแค่อยากจะวิ่งหารองเท้าสักคู่ก็ยังยาก ถ้าอยากให้เขาเข้าถึงก็ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เด็กเข้าถึงให้ได้ก่อน ครูพละ อุปกรณ์ หลักเกณฑ์การบริหารเงินกองทุนฯมีอยู่แล้ว หลักเกณฑ์สร้างขึ้นด้วยคนก็ต้องปรับเปลี่ยนได้ แค่เปลี่ยนมุมมองในการสนับสนุนเด็ก เยาวชน มากกว่าให้เงินกองที่กองทุนแล้วรอจ่ายแค่เงินรางวัลกับการจัดการแข่งขัน จะดีไหม”
สำหรับการจัดสรรงบประมาณไปยังสมาคมกีฬาจังหวัดแต่ละจังหวัด จะได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละจังหวัด ชี้วัดด้วยจำนวนเหรียญและความเป็นเลิศของนักกีฬา ยกตัวอย่างโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหลาย ๆ โครงการของการส่งเสริมพัฒนานักกีฬาในประเทศไทย ได้รับงบฯ มาจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ปีนี้ได้รับ 320 ล้านบาท แต่เดิม หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายคือจะโอนเงินไปที่ กกท.จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะได้รับไม่เท่ากัน สูงสุดไม่เกินจังหวัดละ 12 ล้านบาท ต่ำสุด 3 ล้านบาท ส่วนเกณฑ์พิจารณาว่าจังหวัดไหนควรได้เท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละจังหวัดมีผลงานมากน้อยแค่ไหน ชี้วัดด้วยจำนวนเหรียญและสมรรถภาพของนักกีฬา ปีนี้จะเป็นปีแรกที่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป เช่น การเบิกจ่ายจะเป็นการโอนโดยตรงจากกองทุนฯ ไปยังสมาคมจังหวัดแทน ไม่ผ่าน กกท.