ศิลปะความจน คนกับควาย EP.1
…ความจนมันกดทับ ให้คนต้องอยู่ในสภาวะจำยอมเยี่ยงควาย…
ภาพจำที่ฝังอยู่ในส่วนลึกของความรู้สึก คือการ เห็นควายถูกกดขี่และใช้แรงงาน จนมาถึงคราที่ตัวเองรู้สึก ถูกกระทำเยี่ยงควาย คือคำสารภาพจาก “เยี่ยม” ธนาวัช ป้องแก้ว เจ้าของผลงานศิลปะ ควายผอมแบกกระสอบ
ใบหน้าและหัวเป็นควาย ส่วนมือ แขน ขา และเท้าลักษณะคล้ายคน แต่สัดส่วนภาพรวมของตัวกลับผอมแห้ง หากจะกล่าวว่าเหมือนคนผอมโซ ก็ไม่เกินจริง สิ่งนี้คือผลงานประติมากรรม ควายผอมแบกกระสอบ ที่อ้างถึง
ไม่อาจจะเหมารวมได้ว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นที่รู้จักของทุกคน แต่ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยอยู่ในจุดที่ของใช้ ของกิน ช่วงชิงกันขึ้นราคาเป็นว่าเล่น ทั้งจากปัจจัยภายในและนอก ทั้งผลพวงจากสถานการณ์โลกอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการระบาดของโควิด-19
ของแพง แต่ค่าแรงคนในประเทศยังเท่าเดิม อาจทำให้งานชิ้นนี้ได้รับความสนใจ หลายความเห็นบอกว่า เป็นผลงานที่สร้างความรู้สึกร่วมให้พวกเขาแบบไม่ต้องบรรยาย
พื้นหลังของชีวิต สู่การตกตะกอนเป็นชิ้นงาน
“ตั้งแต่เด็กจนโตผมเลี้ยงควายมาเหมือนกับเพื่อน สิ่งที่ทำให้ผมเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ มันทำงานหนักจนตาย ซึ่งเป็นช่วงที่ผมตัดสินใจเข้าไปทำงานในเมือง ทำให้ผมเห็นภาพของตัวเองว่าไม่ได้ต่างอะไรจากควายตัวนั้นที่พ่อใช้แรงงานเลย ผมเลยจำภาพนั้นมา”
“เยี่ยม” เป็นหนุ่มอุบลฯ วัย 22 ปี เรียนอยู่ที่ วิทยาลัยเพาะช่าง ในกรุงเทพฯ และเขากำลังจะเรียนจบ เป้าหมายคือการเป็นศิลปิน ผลิตชิ้นงานหล่อเลี้ยงความสุขและขายเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัว
“เยี่ยม” เป็นหนึ่งในศิลปินจำนวนไม่น้อย ที่ดึงความเป็นตัวเองออกมาแล้ววางมันไว้ในชิ้นงานเพื่อสื่อสารความรู้สึก รวมถึงเหตุการณ์บางอย่างและสื่อสารมันออกไปผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า ศิลปะ
“ด้วยความที่สมัยเด็ก ผมเห็นคนใช้ควายไถนา มันเป็นภาพที่เราจำได้ว่าคนเอาสัตว์มาใช้แรงงาน บังคับ ลากจูง และพอถึงจุดที่ผมเองต้องมาทำงาน เพื่อเอาเงินไปจุนเจือครอบครัว ผมต้องอดทนและทำตามคำสั่งของนายจ้างอย่างปฏิเสธไม่ได้ เลยมองกลับไปว่ามันเหมือนกับในอดีตที่ผมเคยเห็น”
เขาเล่าว่าเคยต้องทำงานหนักหวังเพื่อให้ได้เงินไปจุนเจือครอบครัว เบาแรงพ่อและแม่ เพราะเพียงค่าแรงจากการทำนา อยู่ได้แต่ไม่มีเก็บ ไม่สามารถต่อยอดคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นได้
“อย่างเรื่องราวของผม ผมรู้สึกว่ามันแย่ ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 แต่ผมได้วันละ 100 แต่เขา(นายจ้าง)ใช้งานผมทั้งวัน ไม่ให้ผมพัก ข้าวปลาแทบไม่ได้กิน ผมเจอตรงนั้นมามันทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นการทำร้ายจิตใจกันเกินไป จนเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่มนุษย์ นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามัน ไม่ได้ต่างอะไรจากควาย”
กระทั่งช่วง ม.ปลาย เขาและพี่ชายฝาแฝดจำต้องมีคนเสียสสะความฝันเพื่อให้อีกคนได้ไปต่อ และแน่นอนว่าคนได้ไปต่อคือ เยี่ยม
“นั้นเพราะบ้านผมจน ทำให้พี่ผมไม่ได้เรียนต่อ ตอนนั้นผมเสียใจมาก เพราะเขาก็มีความฝันอยากเป็นศิลปิน” ความรู้สึกที่ฝังลึกของเยี่ยม ไม่ได้มีเพียงแค่กับควาย แต่มีความรู้สึกกดทับภายในใจ เพราะจนเงิน จึงมีผลพวงลากไปถึงการขาดโอกาส
“ทั้งที่ขยันและพยายามทำงานสายตัวแทบขาด ยอมออกมาขายแรงงานตั้งแต่เด็ก ท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้สบายอย่างที่ตั้งใจ เรามีความคิดว่ายิ่งทำงานขยันมากก็ยิ่งจะรวย ทั้งที่จริง มันตรงกันข้าม ผมเลยผมรู้สึกว่ามันเป็นภาระ ขยันเท่าไรก็ได้เหมือนเดิม ผมคิดว่ามันจะเปลี่ยนมันก็ไม่เปลี่ยน”
เมื่อพูดถึงงานประติมากรรมที่เขาทำแล้วได้รับความนิยมในข้ามคืน เยี่ยมเล่าว่า จากกระแสจริง ๆ จะเห็นว่ามันไม่ได้เกิดเพียงแค่จากตัวเขา แต่เกิดจากการที่หลาย ๆ คน สื่อสาร เขาไม่เคยคาดหวัง เขาไม่แม้แต่จะคิดว่างานจะต้องไปในเชิงการเมือง
“ผมไม่เคยคิดว่ามันจะมีผลต่อคนอื่น งานศิลปะที่เป็นประติมากรรมมันสื่อความหมายที่ยาก แต่คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจสิ่งที่ผมสื่อสารออกไป หรือเพราะว่าทุกคนมีอารมณ์ร่วมตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ข่มเหง เลยอาจทำให้คนที่ถูกกระทำ รู้สึกตาม”
ความยากแค้นที่อยู่กับวิถีชีวิตขายแรงแลกเงินอยู่กับเยี่ยมตั้งแต่เด็กจนโตเป็นหนุ่ม ทำให้เขารู้สึกว่าความลำบากนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จากวันนั้นสู่วันนี้นับเวลาก็ 10 ปี แม้ว่าชีวิตจะดีขึ้นจากอดีตบ้างแต่ก็ไม่ทั้งหมด เขายังคงต้องทำงานส่งตัวเองเรียนและส่งเงินกลับไปช่วยที่บ้าน
ศิลปินมักได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเอง รวมไปถึงประสบการณ์ร่วมในสังคม สะท้อนให้เห็นสภาวะสังคมนั้น ๆ ชิ้นงานของเยี่ยมก็ได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ต้องลำบาก ไปทำงานขายแรง ถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหง จากความรู้สึกวันนั้น ก็ถูกพัฒนามาเป็นผลงานประติมากรรม
เหตุไฉน “คนกับควาย” ถึงได้รับความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมมากมาย
ภาพจำ ควาย ในสังคมไทย มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความ โง่ ความจน ความเจ็บ ความลำบากแสนเข็ญ การทำงานหนักของผู้ที่เป็นคนจนและคนใช้แรงงาน สิ่งที่จะทำให้คนจำนวนมากสนใจและรู้สึกกับสัญญะนี้ได้ ก็น่าจะไม่ต่างไปจากเยี่ยมเท่าไรนัก ไม่เพียงควายเท่านั้นที่แทนความจนได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าควายคือสิ่งที่สร้างความรู้สึกได้ดีและเร็ว
ความจน ปัญหาฝังรากสังคมไทย ที่ถูกสื่อสารด้วยงานศิลปะ
“จน จากการพัฒนา” กล่าวเช่นนี้ จะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายหรือไม่? งานวิชาการของ กิติราช พงษ์เฉลียว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศึกษาภาพแทนชนบทไทยในเรื่องสั้นยุคพัฒนา พศ. 2493 -2519
ในปี 2493 รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ปัจจุบันคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานถาวรเพื่อให้คำแนะนำรัฐบาลด้านเศรษฐกิจของประเทศ และได้มีการจัดทำแผนพัฒนาฯ ตั้งแต่ปี 2500 ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อวางแผนจากส่วนกลาง บนลงล่าง ใช้แนวคิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Development with growth) โดยเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านการคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม สร้างเขื่อนและชลประทานและไฟฟ้า รวมทั้งสาธาระณูปการต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับภาคเกษตร
ขณะเดียวกัน ในปี 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2504 และได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก รัฐบาลดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พยายามทำให้พื้นที่ชนบทซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ยากจน” โดยพยายามพัฒนาฐานะประชาชนให้ดีขึ้น วัดมูลค่าด้วยระบบเงินตรา ด้วยการพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรม สร้างสิ่งต่าง ๆ ไปยังชนบท
ในปี 2510-2514 เป็นช่วงแผนพัฒนาเศษฐกิจฉบับที่ 2 เรียกว่าเป็น “ยุคทองของการพัฒนา” มีแนวคิดการวางแผนพัฒนารายสาขา ( Sectoral Development Planning) ขยายขอบเขตแผนครอบคุมการพัฒนารัฐวิสาหกิจและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อนจากแผนพัฒนาฉบับที่ 1 พัฒนาชนบทเพื่อความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเอกชนให้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลให้สภาพสังคม ณ ขณะนั้นเกิดปัญหาความแตกแยกด้านรายได้ มีช่องว่างระหว่างรายได้เพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่า เศรษฐกิจประเทศเริ่มถดถอย
จากแนวคิดการพัฒนาที่รัฐไทยในยุคนั้นพยายามนำมาใช้ ก่อให้เกิด วาทกรรมการพัฒนา มุ่งขจัดความด้อยพัฒนาให้หายไปจากชนบทภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมที่มุ่งสู่ชนบทเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับรัฐไทย ขณะเดียวกัน วาทกรรมความโง่และความจน ก็วัดมาตรฐานความรู้ วิทยาการ จากระบบการศึกษาสมัยใหม่ ในรูบแบบของโรงเรียน และเป็นชุดความคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับชุดวาทกรรมการพัฒนา สิ่งเดียวที่สามารถขจัดสิ่งเหล่านี้ได้ คือ การพัฒนาเพื่อก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ (Modernization) ชาวบ้านถูกถือว่าเป็นผู้ล้าหลังและเป็นเพียงทรัพยากรในระบบทุนนิยม
จากบริบททางสังคมในช่วงเวลาที่กล่าวมา จะเห็นว่า ชนบทเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแผนพัฒนาเศษฐกิจ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงภายใต้ระบบทุนนิยมที่ไหล่บ่าไปสู่ชนบทของประเทศไทย ส่งผลต่ออาชีพในชนบท ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ สิ่งนี้ยืนยันประโยคที่ว่า ความจนเกิดจากการพัฒนา ที่รุกล้ำไปในพื้นที่ต่าง ๆ สอดคล้องกับวรรณกรรมไทยในช่วงนั้น ที่บันทึกเหตุการณ์สังคมไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งการกล่าวถึงความแห้งแล้ง ความยากจน ความโง่ไร้การศึกษาของคนชนบท ถูกสื่อสารผ่านสัญญะต่าง ๆ มากมาย
หนึ่งในนั้นคือ ควาย หากนับเวลาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็เกินครึ่งศตวรรษแล้ว
ก่อนหน้านี้ เคยมีศิลปินจำนวนมากที่ใช้สัญลักษณ์คนกับควายส่งเสียงสะท้อน ทั้งเรื่องสั้น บทเพลง อย่าง คนกับควาย คนขี่หลังควาย ฯลฯ
เยี่ยม เป็นหนึ่งคนที่ใช้งานศิลปะในการสื่อสาร ความใสซื่อถูกถ่ายทอดผ่านคำพูดและแววตา เขาไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่สุดโต่ง ผลงานที่สื่อสารออกมา ตั้งต้นจากตัวเขาเอง
“ผมไม่เคยคิดว่าจะมีคนเข้าถึงผลงานผมมาก คิดเพียงแค่ว่าทำมันขึ้นมาเพื่อพูดถึงความรู้สึกข้างในที่มีต่องานศิลปะ ผมอยากสื่อสารตัวตนและจิตสำนึกของตนเองที่อยู่ข้างในว่าเรารู้สึกอย่างไร เป็นคนอย่างไรผ่านงานศิลปะ เพราะผมเชื่อว่าศิลปะมันพูดได้ นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่งานประติมากรรม แต่หากมองลึก ๆ มันมีเรื่องของแนวความคิดมีการไตร่ตรองเข้าไปในชิ้นงานเยอะมาก ผมไม่รู้หรอกว่าทุกคนจะรู้สึกร่วมไปกับผมมั้ย”
มุมของหนุ่มอุบลฯ วัย 22 ปี เล่าว่า แม้ผ่านมาเป็น 10 ปี การเอาเปรียบมันยังคงอยู่ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไป จึงคิดว่าการมีอยู่ของชิ้นงาน จะทำให้เกิดการฉุกคิดได้บ้าง เพียงแค่น้อยนิดก็ยังดี เพื่อจะไม่ให้มีการกดขี่ข่มเหงในประเทศไปมากกว่านี้
“ควายเป็นสัตว์ที่ต่ำต้อยโดนใช้แรงงานมาตลอดในภาพจำ ผมเลยรู้สึกว่าควายเป็นอะไรที่สื่อได้ดี ก็เลยหยิบสิ่งนี้มาเพื่อสื่อสารแทนสัญลักษณ์การด้อยค่าของคน บางคนก็เรียกไอ้ควาย ควายโง่ โง่เหมือนควาย มักจะใช้เป็นคำด่า”
เขาหวังให้ชิ้นงานได้เป็นตัวแทนของเสียงแรงงานที่สะท้อนความทรมานที่อยู่ข้างในของแรงงาน ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน มันเป็นมากกว่าการใช้แรง แต่สิ่งที่เจอระหว่างนั้นมันส่งผลกระทบต่อจิตใจ คนที่โดนกระทำมันเจ็บปวดและทรมาน จนกระทั่งตอนนี้ก็ยังมีความรู้สึกนั้น เมื่อครั้งที่เคยเป็นแรงงาน
“อย่างที่ผมเคยเจอมา เขามักจะมองว่าคนอีสานเป็นคนที่โง่และใช้แรงงาน นี่คือสิ่งที่ผมเจอมา ส่วนมากเขาจะมาพูดถึงเรื่องแบบนี้ ผมรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้โง่ แต่ที่ต้องทำไปก็เพราะว่าเขาดิ้นรนเพื่อวันข้างหน้ามันจะดีกว่าเดิม”
ในสังคมการพูดกันแบบตรง ๆ อาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ เยี่ยมจึงเป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ศิลปะแทนคำการพูด แสดงความเจ็บปวดทรมานในวัยเยาว์ของเขา รวมถึงสามารถเป็นตัวแทนเสียงที่เบาหวิวของคนจำนวนมาก
“ผมอยากจะพูดประเด็นของสังคมผ่านสิ่งที่ผมรัก ให้ทุกคนได้เห็นและได้ยิน ผมเชื่อว่าศิลปะเป็นมีเสียง ผมเลยเอาสิ่งที่ผมรู้สึกพูดผ่านศิลปะ โดยการใช้สัญญะคนกับควาย ”
“คนกับควาย” อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ว่าถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความจนมานาน อย่างผลงานประพันธ์เพลง คนกับควาย ในยุค 70 ที่แต่งโดยสมคิด สิงสง และขับร้องโดย หงา คารวาน ซึ่งจะกล่าวในบทต่อไป บนคำสำคัญใหญ่ ๆ ควาย คน และความจน