ศาสตร์พระราชา 2020 | ปรัชญามีชีวิต

ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้แก่คนไทยในปี 2517 เป็นต้นมา

เราเข้าใจความหมายของคำนี้แค่ไหน? …

หากเรานิยามว่า นี่คือการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะหลังโลกต้องผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และซ้ำเติมด้วยโรคระบาดโควิด-19 ก็ชัดเจนว่า นี่คือปรัชญาที่ปรับใช้ได้กับผู้คนทุกอาชีพ ทุกยุคสมัย

และเป็นบทพิสูจน์ที่ทั่วโลก ยอมรับให้เป็นพิมพ์เขียวของการพัฒนาอย่างยั่งยืน SEP for SDGs  (Sufficiency Economy Philosophy  for Sustainable Development Goals) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ที่ให้ความสำคัญกับการ พัฒนาคนไปสู่การสร้างความสมดุล และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ภายใต้หลักการ 3 ห่วง “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง”  และ 2 เงื่อนไข “ความรู้ และคุณธรรม”

Keyword สำคัญของการให้ความหมายกับ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือ การพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีเหตุมีผล ประมาณตน และมีภูมิคุ้มกัน

ส่วนคำว่า “ศาสตร์พระราชา” ก็คือ เป็นร่มใหญ่ ของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” (ซึ่งมีหลายทฤษฎี)

ขณะที่ “โคก หนอง นา” ก็คือภาคปฏิบัติ ที่ประยุกต์เอาบางทฤษฎีจากศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ให้เหมาะกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่

วัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี คือ จุดกำเนิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบันใช้ที่ดินบางส่วนปรับรูปแบบเป็น “โคก หนอง นา โมเดล” และเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับประชาชนที่สนใจ

13 ต.ค. วันคล้ายวันสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

The Active ชวนติดตามเรื่องราววิวัฒนาการและรูปธรรมของการน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ ในผู้คนหลากหลายกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะคนเมือง ที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ทำให้เราเห็นการเติบโตของศาสตร์พระราชา ที่ยังคงถูกปรับใช้อย่างทันสมัยแม้จะผ่านมานานถึง 46 ปี แล้วก็ตาม

ศาสตร์พระราชาร่วมสมัย

จากการพูดคุยกับ รักษ์เผ่า พลรัตน์ ครูจิตอาสาพัฒนา เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ พบว่า สถานะของศาสตร์พระราชาช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในวงจำกัด เฉพาะเครือข่ายที่ทำการเกษตรและผู้ที่สนใจ กระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นพัฒนาการของศาสตร์พระราชาชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะน้ำท่วมอุบลราชธานีหนักมาก จนกลายเป็นกระแส #saveubon เกิดการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์เพื่อร่วมฟื้นฟูจังหวัดอุบลราชธานี หลายคนเริ่มตระหนักได้ว่าการปรับพื้นที่ในรูปแบบ “โคก หนอง นา” หรือ ภาคปฏิบัติของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” สามารถแก้วิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซากของประเทศไทยได้จริง

จากนั้นมา เกษตรทฤษฎีใหม่ ก็ถูกปรับใช้กับคนวัยใกล้เกษียณ ที่อยากจะมีที่พักพิงยามบั้นปลายชีวิต กระทั่งไทยต้องเจอกับ วิกฤตเศรษฐกิจ เทคโนโลยีถาโถม และซ้ำเติมด้วยวิกฤตของโรคระบาดโควิด-19 กลับทำให้เรื่องนี้กลายเป็นกระแสที่จุดติด  ไม่ใช่แค่คนใกล้เกษียณ กับ คนที่เป็นเกษตรกรที่สนใจศาสตร์พระราชา แต่ได้รับความสนใจในกลุ่มคนที่อายุน้อยลง

จากการสอบถามเฉพาะใน กลุ่มเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ยังพบว่ามีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่ลาออกจากลูกจ้างประจำ ออกมาเดินตามเส้นทางนี้ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ “รู้สึกแล้วว่างานที่ทำไม่มั่นคง”  แต่สิ่งที่ต้องทำเพื่ออยู่รอดให้ได้คือ การน้อมนำ ศาสตร์พระราชา มาใช้เพื่อทำให้ “เมื่อเกิดวิกฤตอีกครั้งพวกเขา ต้องพึ่งพาตัวเองได้ ต้องช่วยเหลือชุมชนตัวเองได้” ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงต้องการ พัฒนาคนไปสู่การสร้างความสมดุล และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ตัวชี้วัดการเติบโตของ ศาสตร์พระราชา

แต่ถ้าจะให้เห็นในเชิงปริมาณ ก็วัดได้จากจำนวนผู้ที่สนใจเข้าอบรมศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ที่มาบเอื้อง จ.ชลบุรี และศูนย์อบรมตามจังหวัดต่าง ๆ จากการสอบถามเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ พบว่า มีผู้สนใจเพิ่มขึ้น บางคนจองคอร์สล่วงหน้าหลายเดือนกว่าจะได้เรียน มีความต้องการเข้าอบรมนับหมื่นคน และก็ยังเห็นธุรกิจเกิดใหม่ที่รับให้คำปรึกษา ออกแบบ ขุดโคกหนองนา ในช่วงนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังวัดได้จากการเปิดระบบ Open Chat กลุ่มไลน์จากผู้คนที่สนใจศึกษาการทำโคกหนองนาจากทั่วประเทศ สามารถสอบถามความรู้ที่เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา  มีสื่อการสอน มีคลิป และข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการทั้งหมด และที่สำคัญมีแผนที่ ระบุจุด ที่มีโคกหนองนาในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้นับได้คร่าว ๆ ก็คือ หลักพัน

แต่คนที่ทำจริง ๆ ไม่ได้เล่นไลน์ ไม่ได้มาปักหมุดมาในระบบนี้ก็ยังมีอีกไม่น้อย

น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่ชีวิต

The Active ชวนฟังแนวคิด และการลงมือทำจริงของคนเมือง ที่ต้องการจะเห็นความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในมหานคร แม้จะมีหลายวัย หลายอาชีพ แต่ก็ยังถือว่าไม่ครอบคลุมตัวอย่างของผู้คนอีกมากมายที่น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาปรับใช้ แต่อย่างน้อย ๆ ก็หวังจะให้ผู้อ่านได้เห็นตัวอย่างเหล่านี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชีวิตของตัวเอง

สายันห์ ภาชะรัตน์ วัย 35 ปี คนเมืองที่ตัดสินใจลาออกจากงาน 3 ครั้ง ที่ทลายข้อจำกัดไม่มีเงิน แต่หาองค์ความรู้ ฝึกฝน จนทำตามฝันได้สำเร็จ เพราะเจอกับ เบญจพร เตชะปรีชาวงศ์ คนเมืองไม่หวงที่ เธอสร้างที่ดินแปลงเล็ก ๆ ใน นนทบุรี ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนเมือง

วัชสุ นราแก้ว และภรรยา คู่รักอดีตพนักงานแบงก์เงินเดือนหลักแสนผันตัวสู่ “เจ้าของฟาร์มเห็ด” ที่มาพร้อมคำถามว่า “อะไรคือความมั่นคงในชีวิต?” และสิ่งที่เขาค้นพบก็คือ ความมั่นคงทางอาหาร และคุณค่าทางใจ

แม็กซ์ พีรวิชญ์ เพ็ชรจันทร์ หนุ่มน้อย ชาวนามหานคร วัย 27 ปี และกลุ่มเพื่อนที่นิยามตัวเองว่าเป็น #วัยรุ่นสายโหด #โหมดหัวใจร่มเย็น รวมตัวกันทำเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารในเขตทวีวัฒนา กทม.

ละมาย เสววันนา เกษตรกร อุตรดิตถ์ วัย 69 ปี ขายผักริมรั้วกำละ 5 บาทมาตลอดชีวิต ชาวบ้านเรียกเขาว่า “ลุงผัก” ผู้พลิกฟื้นที่ดินรกร้างข้างทาง ให้กลายเป็นแหล่งอาหารและพืชผักปลอดสารพิษของคนเมือง “สวนผักคุณตา” ที่ทอดยาวตามแนวถนนคอนกรีตริมฟุตบาทย่านสะพานสูง ทั้งกิน ทั้งแบ่ง ทั้งขาย ที่แถบชานเมืองมหานคร

วรเกียรติ สุจิวโรดม นักธุรกิจด้านส่งออก วัย 57 ปี ผู้เปลี่ยนนิยามของความรวย “ไม่ต้องการเป็นคนจนที่มีแต่เงิน”  เมื่อเจ้าของที่ดิน 133 ไร่ ต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหารและศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ

ณัฐชานันท์ รัตนะดำรงชัย ครูแพทย์แผนไทย ที่ตั้งใจปรับที่ดิน 2 ไร่ของตัวเอง ในหมู่บ้านจัดสรร ย่านมีนบุรี ให้กลายเป็นคลังอาหาร และยาของชุมชน เธอจะทำให้ภาพจำของ “หมู่บ้านจัดสรร” ในมหานคร เปลี่ยนไป เมื่อคนเมืองรวมตัวกันสร้าง “ครัวอาหารชุมชน”

ชญาน์นันท์ เผ่าศรีเจริญ หนึ่งในเจ้าของที่ดินชุมชนพอเพียง จ.ฉะเชิงเทรา

14 ครอบครัวคนเมือง ร่วมเป็นเจ้าของที่ดิน 19 ไร่ หวังพลิกฟื้นผืนดินให้อุดมสมบูรณ์

แต่มีข้อแม้ว่า พวกเขาจะต้องสละที่ดิน 75% เป็นของส่วนรวม เพื่อสร้างอาหารและป่าด้วยกัน

รักษ์เผ่า พลรัตน์ เจ้าของครัวอุ่นรักอิ่มใจ ร้านอาหารที่เคยผลิตอาหารปลอดภัยช่วยคนในชุมชนช่วงวิกฤตโควิด-19 และผู้ที่จะช่วยเปลี่ยนภาพ โคก หนอง นา แบบเดิม ๆ ไอเดียเจ้าของร้านอาหารใช้ดาดฟ้าทำนาและปลูกผัก สร้างวัตถุดิบปลอดสารเคมี ปรุงอาหารให้คนไทยและชาวต่างชาติ

สวัสดิ์ วงศ์ปถัมภ์ วัย 76 ปี ผู้ไม่ขายที่ดิน 40 ไร่ มูลค่าหลายร้อยล้าน แต่เมื่อขายจะไม่ได้หวนคืน ฟังเสียงหัวใจ ลูกหลานชาวนา ที่ยังโหยหาวิถีดั้งเดิม แต่ไม่อาจหวนกลับไปทำนาได้อีก แต่คำสอนและหลักปฏิบัติของบรรพบุรุษ ยังถูกส่งต่อมาสู่คนรุ่นหลัง การพยายามรักษาที่ดินเอาไว้ เพื่อเก็บเกี่ยวความสุขจากการพึ่งพาตัวเอง คือ หนทางเพื่อสร้างความยั่งยืน


ศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน

“เมื่อวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจ ภัยพิบัติมา ศาสตร์พระราชาก็กลับมา พอวิกฤตหมด กระแสเรื่องนี้ก็แผ่วลง…” คำถามใหญ่ คือ จะทำอย่างไรให้เราน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ได้อย่างยั่งยืน ?

คำตอบสำคัญของเรื่องนี้คือ การสร้างองค์ความรู้ก่อน ลงมือทำ สำคัญที่สุด

หน่วยงานรัฐเองก็มีปฏิกริยาตอบรับ อย่างในช่วงโควิด-19 ชัดเจนว่า งบประมาณภายใต้วงเงิน 4 แสนล้านบาท ก็ถูกหยิบมาขยายผลโคกหนองนาโมเดลในหลายจังหวัด และมีแนวทางที่ยั่งยืนด้วย เพราะไม่ได้สักแต่ทุ่มงบลงไปออกแบบโคกหนองนา แต่ใช้หลักการสร้างคน สร้างความรู้ ให้กับคนในพื้นที่นั้น

ที่ชัดที่สุด  กรมพัฒนาชุมชน  ของกระทรวงมหาดไทย  เฟสแรก เลือกพื้นที่ไปทำโคกหนองนา 20,000 กว่าแปลง งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ถ้าไปดู 7 ขั้นตอนที่เขาทำเป็นโมเดลเอาไว้ เน้นฝึกอบรมก่อนขั้นแรก ให้คนมีความรู้ แล้วจึงเน้นต่อยอดเป็น OTOP วิสาหกิจชุมชน

และที่น่าสนใจ คือ ใน 20,000 กว่าแปลง มันจะมีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 แปลง ที่มีปัญหา เช่น เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติหรือไม่ ชาวบ้านทำกินมาก่อน หรือหลังรัฐประกาศ ลักษณะนี้ หน่วยงานรัฐเขาก็จะไปเจรจาให้ เพื่อใช้พื้นที่บางส่วนอาจจะ 10% บูรณาการกับหลายหน่วยงาน เดินหน้าโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และส่งเสริมอาชีพ พัฒนาชีวิตให้คนในชุมชน

หากเราจะแก้ปัญหา ก็ต้องส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการและติดตามเรื่องนี้

แนวคิดและวิธีการนี้ ยังได้เริ่มฝึกอบรมให้กับผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ กรมราชฑัณฑ์ เพื่อให้มีอาชีพหลังพ้นโทษ สะท้อนว่าหลายหน่วยงานของรัฐก็เริ่มเดินหน้าสร้างคน มากกว่าการสร้างโปรเจกต์ แล้วจบเป็นโปรเจกต์มากขึ้น ซึ่งถ้าทำได้ก็จะยิ่งช่วยให้การขยายผลของ “ศาสตร์พระราชา” ยั่งยืน ถูกเข้าใจผิดว่าทำแล้วไม่ได้ผลไม่ใช่ของจริง หรือ กลายเป็นเรื่องของ วาทกรรม

“…เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2542

บทส่งท้าย

หัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนา คือ การขาดความสมดุล ระหว่างวงกลม 3 วง คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การให้คุณค่ากับความเติบโตทางเศรษฐกิจ แข่งขันกันรวย และมีอำนาจ แต่ในทางกลับกันโลกกลับพบความเหลื่อมล้ำ ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงบางกลุ่ม เกิดปัญหาสังคม เกิดปัญหาต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ สิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้สอยอย่างไม่เกรงใจ จนกลายเป็นปัญหาความเสื่อมโทรม ขาดแคลนไม่เพียงพอ หลายประเทศเกิดวิกฤต เกิดภัยพิบัติ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ไม่คำนึงถึงโลกอนาคตไปพร้อม ๆ กัน

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงกลายเป็นพิมพ์เขียวของการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน หรือที่เรารู้จักกันก็คือ  SEP for SDGs  (Sufficiency Economy Philosophy  for Sustainable Development Goals) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลก ลงนามตกลงร่วมกันเมื่อปี 2558 และ ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งแน่นอนว่าจะบรรลุได้ทุกประเทศจะต้องเริ่มต้นจากการสร้างคน และองค์ความรู้ ให้ประชาชนในประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน