20 ปี สึนามิ : อุปกรณ์เตือนภัย – อาคารหลบภัย พร้อมไหม ?

”ผมเชื่ออยู่เสมอว่า เราจะวิ่งไว้ก่อน
อพยพไปก่อน ดีกว่าที่เรา จะไม่มีโอกาสอพยพ”

บทเรียนเมื่อครั้งตกอยู่ในสถานะผู้ประสบภัยสึนามิ ยังคงอยู่ในความทรงจำของ ไมตรี จงไกรจักร์

20 ปีก่อน มหันตภัยร้ายแรงครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ทำให้ ไมตรี ต้องสูญเสียญาติพี่น้องรวม ๆ กว่า 40 คน นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ เขา เดินหน้าผลักดันให้สังคมไทย ตระหนักถึงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย การอพยพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ โดยอาศัยบทบาทการขับเคลื่อนในฐานะ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ในเวลานี้

ที่ผ่านมาแม้ไทย ตื่นตัวและพัฒนาระบบเตือนภัยหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ อุปกรณ์เตือนภัย อาคารหลบภัย ป้ายเตือน ถูกสร้างขึ้น ถูกติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ระยะเวลาที่ล่วงเลยมา 2 ทศวรรษ หลายอย่างชำรุด ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เพราะขาดการดูแลเอาใจ และขาดงบประมาณบำรุงรักษา

นี่คือสิ่งที่ ไมตรี ตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า เมื่อไร ? การกระจายอำนาจ จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้กลไกท้องถิ่นสามารถเข้ามาดูแล ร่วมจัดการ รับมือภัยพิบัติได้ด้วยตัวเอง

ระบบเตือนภัย เมื่อไร ? จะสร้างความเชื่อมั่น

หอเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ คือสิ่งจำเป็นลำดับแรก ๆ เพื่อลดความเสี่ยง และทำให้ประชาชนรับรู้ถึงการแจ้งเตือน ซึ่งในตอนนี้ ไมตรี ให้ข้อมูลว่า มีอยู่ประมาณ 18 แห่ง แต่ละแห่งถูกติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง บางตำแหน่งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว บางตำแหน่งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ปัจจุบันใช้วิธีทดสอบสัญญาณเตือนภัยทุกวันพุธ เวลา 8.00 น. ด้วยเพลงชาติ ซึ่งหลายปีมานี้ ก็อาจจะยังไม่ได้มีเสียงสัญญาณเตือน ที่เป็นระบบมากนัก

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

“ที่ผ่านมาเคยมีข้อผิดพลาด สัญญาณไม่ดังในขณะที่เกิดการซักซ้อม เคยมีข้อผิดพลาดสัญญาณเตือนดังต่อเนื่องหลายนาที โดยไม่มีแผ่นดินไหว มันก็เลยเป็นปัจจัยให้คนในพื้นที่บางส่วนขาดความเชื่อมั่น ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นแล้ว มันจะยังดังเตือนได้อยู่ไหม”

ไมตรี จงไกรจักร์

อีกระบบสำคัญ คือ ทุ่นเตือนภัยสึนามิ ซึ่ง ไมตรี บอกว่า เวลาที่สัญญาณขาดหาย อาจต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าจะได้กลับไปดำเนินการแก้ไข วางทุ่นใหม่ โดยในปีนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ก็เพิ่งได้กลับไปวางทุ่นอีกรอบ เพราะที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์พบว่า เมื่อวางทุ่นไปแล้ว ประมาณ 3 เดือน 5 เดือน สัญญาณทุ่นก็ขาดหาย

ปัจจุบันนี้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงเหมือนต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องตื่นรู้ เรียนรู้ และพยายามใช้ความรู้ที่มี พยายามหาแอปพลิเคชันหรือ เว็บไซต์ อื่น ๆ เพื่อคอยเช็คข้อมูลด้วยตัวเอง

“สิ่งที่เราทำคือความพยายามสร้างความปลอดภัย เช่น หากรอให้หอเตือนภัยดัง จริง ๆ เราก็อาจจะควบคุม การอพยพของคนไม่ได้ จึงต้องหูไวตาไว เพื่อวางแผนให้ดี ลดความสูญเสีย ที่สำคัญคือเราก็ไม่แน่ใจว่า หอเตือนภัยมันจะดังหรือไม่ ดังนั้นเราเลยจำเป็นต้องเตือนภัยกันเองในชุมชน และผมเชื่ออยู่เสมอว่า เราจะวิ่งไว้ก่อน อพยพไปก่อน ดีกว่าที่เราจะไม่มีโอกาสอพยพ อันนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญ”

ไมตรี จงไกรจักร์

(ภาพ : ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ)

ส่วนเรื่อง หอหลบภัยสึนามิ ไมตรี ยอมรับว่า เกือบทุกแห่งยังมีปัญหาความไม่พร้อม เช่น ระบบไฟฟ้า, ระบบห้องน้ำ, ระบบน้ำประปา อาจจะไม่เอื้อให้ใช้บริการ หากภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง เพราะเก่า ชำรุด ที่สำคัญคือการดูแลจากหน่วยงานรัฐ อาจยังมีข้อจำกัด หากจะทำให้หอหลบภัย เป็นประโยชน์ และไม่ถูกทำลาย ไม่เสียหาย อาจจำเป็นต้องมอบให้ชุมชน หรือท้องถิ่น ได้ร่วมจัดการ เช่น อาจทำเป็นศูนย์เรียนรู้ข้างล่าง หรือทำเป็นตลาดชุมชนข้างล่าง เพราะหากเกิดอะไรขึ้น ก็ปรับเปลี่ยนมารองรับเมื่อเกิดเหตุได้ ซึ่งในบางกรณี ถ้าไม่เป็นภาระท้องถิ่นมาก จากค่าใช้จ่ายเดิม ก็อาจทำให้หอหลบภัย ไม่ต้องซ่อมแซมทุกปี ปัจจุบันยังติดที่กลไกหลายส่วน

ทลายข้อจำกัด เอื้อให้ชุมชน-ท้องถิ่น ดูแล จัดการภัยพิบัติ

ที่ต้องยอมรับกันตอนนี้ คือ โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ภัยพิบัติรุนแรง และ ถี่ มากขึ้น แม้ที่ผ่านมาการจัดการภัยพิบัติมีกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการจัดการในภาวะวิกฤต แต่ ไมตรี ก็มองว่า ไทยยังไม่มีระเบียบที่เอื้อมากพอเพื่อให้ชุมชน และท้องถิ่นเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ในโอกาสครบรอบ 20 ปีสึนามิ เป้าหมายสูงสุด คือ ต้องทำให้เกิดการกระจายอำนาจ หน้าที่ งบประมาณให้กับชุมชนและท้องถิ่น

ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท บอกด้วยว่า ได้จัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติระดับชุมชนและท้องถิ่น ให้ร่วมกันฝึกคน ร่วมกันทำข้อมูล ร่วมกันฝึกซ้อมแผนอพยพในทุกภัยพิบัติ ร่วมกันสร้างเครื่องไม้เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ เช่น เรือ อุปกรณ์กู้ชีพ เสื้อชูชีพให้เป็นของชุมชน และท้องถิ่น โดยไม่ต้องคาดหวังว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วใครจะมาช่วย

“เราไม่ต้องคาดหวังว่าเกิดภัยแล้วรัฐบาลจะส่งคนมาช่วยเรา เราไม่ต้องไปเป็นภาระให้สังคมมากนัก ผมคิดว่าพื้นฐานเหล่านี้ กับความเสี่ยงภัยของชุมชนกว่า 40,000 ชุมชน เราจะทำให้ชุมชนพร้อมรับมือภัยได้ ผมคิดว่าหัวใจสำคัญของสังคมไทยรอบนี้ ต้องวางเป้าหมายเดียวกันว่า ต้องทำให้ชุมชนและท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลัก ในการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับพื้นที่”

ไมตรี จงไกรจักร์

คนรุ่นหลังต้องปลอดภัยจากภัยพิบัติ

ในวาระครบรอบ 20 ปี สึนามิ ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการภัยพิบัติประเทศไทย และได้ขยายผลไปสู่การปฏิบัติในหลายพื้นที่ แต่ ไมตรี ก็ยอมรับว่า ยังมีอีกหลายชุมชนที่ไม่เคยประสบภัยพิบัติ จึงย้ำเรื่องการเรียนรู้ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ มีความจำเป็น 20 ปีที่ผ่านมาเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อายุไม่ถึง 20 ปี ไม่เคยเจอสึนามิ การจัดงานรำลึกสึนามิ จึงเป็นเหมือนกระบวนการเรียนรู้ร่วม ของคนในพื้นที่เสี่ยงภัย ของสังคมไทย และเด็กรุ่นใหม่ ที่กำลังเติบโตขึ้น เพื่อให้พวกเขาได้ร่วมกันตระหนักรู้ว่า สึนามิมีโอกาสเกิดได้ทุกเมื่อ

“เราต้องการยกระดับการจัดการภัยพิบัติให้มีระบบจัดการที่ดี ให้เป็นนโยบายสาธารณะของสังคม ให้เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่จะร่วมกัน สร้างประเทศไทยให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติ ไม่ว่าสึนามิ หรือภัยพิบัติอื่นๆ”

ไมตรี จงไกรจักร์

พล.อ.อ. สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้แทนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

บทเรียนจากสึนามิ ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ ระบบเตือนภัยที่ดี ทั้งจากการป้องกันภัยสึนามิ และภัยพิบัติอื่น ๆ ความสำคัญเรื่องนี้จึงหมายถึงการเปลี่ยนผ่านแนวคิดที่ พล.อ.อ. สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้แทนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แสดงให้เห็นการเรียนรู้และปรับตัวของไทย

ที่ผ่านมาพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติสึนามิของไทย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และ สตูล ครอบคลุมพื้นที่ 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้าน ปัจจุบันหลายพื้นที่มีการพัฒนาระบบเตือนภัยต่อเนื่อง และมีการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน จนเกิดกระบวนการแจ้งเตือนภัย ต่าง ๆ ดังนี้

ระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมามีการวางแผนกระบวนการแจ้งเตือนภัย ในข้อที่เป็นระเบียบ และข้อกฎหมาย จะมีพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มีแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 และมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2562

บทบาท หน้าที่ ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’

รับข้อมูลและข่าวสารจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ ทุ่นตรวจวัดสึนามิ และข้อมูลจากเครือข่ายฯ ในพื้นที่ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการ วิเคราะห์ และตัดสินใจ โดยใช้ความรู้ทางเทคนิค หรือผู้เชี่ยวชาญเกณฑ์การพิจารณาการประเมินสถานการณ์ และผลกระทบของภัยพิบัติพื้นที่ีเสี่ยงภัย สถิติการเกิดภัย

อุปกรณ์เตือนภัย

หอเตือนภัย 354 แห่ง อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ 18 แห่ง ส่วนเครื่องรับสัญญาณเตือนภัย (EVAC) 163 เครื่อง สถานีถ่ายทอดสัญญาณ (CSC) 301 แห่ง, หอเตือนภัยขนาดเล็ก 674 แห่ง หอกระจายข่าวในหมู่บ้านและชุมชน ทั้งหมดนี้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

สำหรับ หอเตือนภัยจำนวน 354 แห่ง ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ โดยรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียมโดยตรงจากระบบควบคุมการเตือนภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ในลักษณะเสียงไซเรน และคำพูดที่เตรียมไว้ โครงสร้างของส่วนฐานหอเตือนภัย เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลักษณะ stand alone และ self sustain มีความสูง 16.5 เมตรจากพื้นดิน เส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 1 เมตร ทาสีขาว ฐานของหอเตือนภัยมีพื้นที่ไม่เกิน 4 x 4 ตารางเมตร ล้อมรั้วด้วยตาข่าย มีลวดหนาม 3 แถว ที่ด้านบนของรั้ว อุปกรณ์ที่ใช้ส่งสัญญาณและรัศมีการส่งสัญญาณ ระบบกระจายเสียงประกอบด้วย ลำโพงและเครื่องขยายเสียง กำลังงานที่ส่งออกไม่น้อยกว่า 115 dB ที่ระยะห่าง 30 เมตร มีรัศมีการส่งสัญญาณอย่างต่ำ 1 กิโลเมตรจากจุดติดตั้ง

ช่องทางการกระจายข้อมูล

ประชาชน จะได้รับข่าวสาร ผ่าน Application ด้วยการส่งผ่าน Line Thai และ Disaster Alert ส่วนทาง Social Media จะเป็นทาง Line@ Twitter Facebook ถัดจากนี้ ไทยกำลังจะนำระบบ Cell Broadcast ที่ประชาชนผู่ใช้มือถือได้รับการเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง

แต่หากย้อนกลับมามองในแง่การเตือนภัยสึนามิ ในมุมหน่วยงานปฎิบัติ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะได้รับสัญญาณเตือนภัยจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ท้องถิ่น, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ปภ.จังหวัด, นายก อปท., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน นอกจากจะมีหนังสือราชการ Line SMS ที่ได้รับก่อนส่งต่อมายังประชาชนก็เป็นกระบวนการตามกรอบที่วางไว้

อย่างใน จ.กระบี่ มีหอเตือนภัยทั้งหมด 32 หอ ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่เสี่ยงภัยทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้มีการทดสอบสัญญาณทุกวันวันพุธ หลังเคารพธงชาติ นั่นหมายความว่า หากทุ่นเตือนภัยสึนามิส่งสัญญาณมาในเหตุสึนามิ จะมีการเตือนของจริงมาทั้งหมด 5 ภาษา ได้แก่ ไทย, อังกฤษ, เยอรมัน, จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้อพยพไปที่สูงได้ทันท่วงที

สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เน้นย้ำว่า ได้บูรณาการด้านการจัดการสาธารณภัยให้เป็นไปอย่างเป็นระบบ โดยมีหน่วยเผชิญเหตุที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติระดับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ จ.สตูล และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ จ.ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ และตรัง เพื่อเตรียมความพร้อมและประสานการปฏิบัติด้านการจัดการภัยสึนามิ ในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย และทะเลอันดามัน ถือเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยสึนามิ เพื่อให้สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย และประชาชนในภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดีย สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับภัยสึนามิ และอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ขณะที่อุปกรณ์ระบบเตือนภัยสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดเสี่ยง ก็มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อเนื่อง

ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า 20 ปี หลังเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ ช่วยจุดให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย หันมาตระหนักเรื่องการแจ้งเตือนภัยพิบัติมากขึ้น ตั้งแต่เครื่องไม้ เครื่องมือ ไปจนถึงกลไกทางกฎหมาย และนโยบาย

แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา เสียงสะท้อนจากภาคประชาชนเอง ก็พอจะย้ำเตือนถึงข้อจำกัดในหลากหลายมิติ ที่อาจส่งผลให้ระบบเตือนภัยพิบัติ ใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นในช่วงเวลาที่สภาพอากาศเอาแน่เอานอนไม่ได้ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้คนไทย และคนทั่วโลก ยังต้องอยู่ภายใต้ความเสี่ยง นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ กับระบบเตือนภัยพิบัติ ให้สามารถใช้ได้จริง อย่างน้อยนี่อาจช่วยให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน เหมือนอย่างที่ผ่าน ๆ มา


Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์