ไทยเสี่ยงเกิดสึนามิ ในอนาคตอันใกล้ วิเคราะห์ ‘จุดอ่อน’ ปรับ ‘นโยบาย’ เตรียมพร้อมรับมือ​ภัยพิบัติ

ปัจจุบันมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อยู่ในทะเลอันดามัน ฝั่งตะวันตกของเมียนมา และอยู่เหนือเกาะอันดามันขึ้นไป หรือที่เรียกกันว่า ‘แนวมุดตัวอาระกัน’ ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 เมื่อ 260 ปีที่แล้ว มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงคล้ายสึนามิ เมื่อ 20 ปีก่อนหากมีการสะสมพลังงานมากพอ

ไทยเสี่ยงเกิดสึนามิขนาดใหญ่ได้อีกหรือไม่ ?

ศาสตราจารย์เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงด้านภัยพิบัติหลายด้าน ในอดีตเมื่อ เกิดสึนามิ 26 ธันวาคม 2547 ไทยไม่พร้อมหลายเรื่องและยังไม่รู้จักสึนามิมากพอ ไม่มีระบบเตือนภัย ไม่มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แต่ปัจจุบันทุกอย่างพัฒนาขึ้น ทั้งเทคโนโลยี รู้แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว มีระบบเตือนภัย แต่เรายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก เพราะภัยธรรมชาติประมาทไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลายหลายคนอาจจะคิดว่า สึนามิน่าจะไม่เกิดถี่ ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง สึนามิรอบก่อนมีตำแหน่งที่เกิดเป็นแนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลก ที่เกิดการขยับเคลื่อนตัว ตั้งแต่ช่วงหัวเกาะสุมาตรา ผ่านเกาะนิโคบาไปถึงบางส่วนไปที่หมู่เกาะอันดามัน บางส่วนของแนวรอยต่อมีการปล่อยพลังงานมาแล้ว และอาจใช้เวลาสะสมพลังงานก่อนจนได้ที่จะปลดปล่อยมาอีกครั้ง

​ในส่วนตะวันตกของเมียนมา หรือส่วนที่อยู่เหนือเกาะอันดามันขึ้นไป เรายังมีอีกตำแหน่ง จุดนี้เรียกว่า ‘แนวมุดตัวอาระกัน’ แนวรอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8 ในอดีตเกิดมาแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดที่เคยเกิดคือ ก่อน พ.ศ. 2305 และยังไม่ปลดปล่อยพลังงานออกมามาก เพราะฉะนั้นแนวมุดตัวอาระกันก็เป็นแนวที่มีโอกาสที่จะเกิดได้สูงมาก ถ้ามันเป็นแผ่นดินไหวไม่ใหญ่มากคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดมันเกิดระเบิดเป็นแผ่นดินไหวใหญ่มาก และเกิดต่อเนื่องมาที่เหมูเกาะอันดามันมันอาจสร้างปรากฎการณ์ที่เกิดคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อครั้งที่แล้วได้ เพราะจะสามารถกระตุ้นมวลน้ำทำให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ได้

ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล เคยมีการทำแบบจำลองสร้างเหตุการณ์คล้ายสึนามิเหมือนครั้งที่แล้ว ผลก็คือเกิดได้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็ทำให้เกิดได้ แล้วไทยเราพร้อมแค่ไหน

พัฒนาการการตรวจวัดแผ่นดินไหว


ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไทยและอีกหลายประเทศมีความร่วมมือกันปรับปรุงระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวให้ดีขึ้น เพราะว่าก่อนหน้านี้มีการนำเครื่องมือมาใช้ อย่างเครื่องวัดแผ่นดินไหว ไม่ค่อยทันสมัยเท่าไหร่ ขณะนั้นยังไม่สามารถประเมินขนาดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก ๆ ได้ เลยเปลี่ยนเป็นเครื่องวัดอันใหม่ที่ดีขึ้น

ในหลายหลายประเทศก็เปลี่ยน เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย พอมีการปรับปรุงระบบเครื่องตรวจวัด และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ในแบบเดียวกัน ​ไทยเองก็มีการติดตั้ง เครื่องวัดระดับน้ำ สถานีวัดระดับน้ำ เดิมระบบวัดระดับน้ำ ไม่ได้ใช้เป็นแบบเรียลไทม์ ​แต่จะมีคนไปถึงที่วัดระดับน้ำเพื่อไปเก็บข้อมูล แต่ปัจจุบันมีระบบส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมและมีเซ็นเซอร์รุ่นใหม่ติดตั้งตั้งเข้าไปแล้ว

ในส่วนของการวัดระดับน้ำดีขึ้น มีอุปกรณ์ตรวจวัดสึนามิโดยตรง ทุ่นเตือนภัยสึนามิ มีระบบรับสัญญาณผ่านดาวเทียม เพราะฉะนั้นเรามีระบบเตือนภัยสึนามิ และระบบตรวจจับแผ่นดินไหวที่ดีพอสมควร แต่ว่าระบบเหล่านี้ก็สามรถทำให้ดีกว่านี้ได้อีก ไทยยังคงต้องพัฒนาต่อไปและเตือนภัยให้เร็วขึ้น

ปัจจุบันไทยยังทำไม่ถึงขั้นที่ญี่ปุ่นทำซึ่งสามารถเตือนได้เร็วมาก แต่ว่าเราสามารถปรับปรุงให้เร็วกว่าเท่าที่เป็นอยู่ได้แต่ต้องอาศัยให้ความสำคัญงบประมาณที่มากพอ หากเทียบกับญี่ปุ่นจะใช้เวลาน้อยมาก ส่วนของไทยเมื่อเกิดสึนามิคลื่นจะมาถึงฝั่งอาจใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เราน่าจะแจ้งเตือนได้ภายในเวลาประมาณ 20 – 30 นาที หลังจากเกิดแผ่นดินไหว เพราะฉะนั้นเราก็จะมีเวลาหนีไป ประมาณสัก 1 ชั่วโมง 40 นาที ซึ่งไทยต้องเร็วกว่านี้จะได้หนีทัน

อุปกรณ์เตือนภัยพร้อมแค่ไหน

ปัจจุบันไทยมีหอเตือนภัย หอกระจายข่าวที่ต้องปรับปรุงหลายเรื่อง การส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังพื้นที่ มันก็ไม่ได้มีครอบคลุมทุกพื้นที่ นักวิจัยเราลงไปในพื้นที่ แล้วก็พบว่าบางพื้นที่มันก็ไม่ค่อยได้ยินสัญญาณ แต่เข้าใจว่าระบบเตือนภัยก็ส่งกระจายในหลายแบบ ทั้ง หอกระจายข่าว สถานีโทรทัศน์ วิทยุ หรือออนไลน์ หลายคนมีมือถือ ขณะที่อีกหลายประเทศได้มีการใช้ Cell Broadcast ( CB ) เป็นวิธีการส่ง ข้อความสั้น ๆ พร้อมกันไปยังผู้ใช้ โทรศัพท์มือถือ หลายรายในพื้นที่ที่กำหนดหากเกิดความเสี่ยงก็รู้ทันทีว่าอยู่ในพื้นที่อันตรายที่ต้องอพยพ โดยไทยยังไม่ได้อยู่ในขั้นเอามาใช้งาน ทั้งที่ระบบนี้สำคัญรัฐบาลต้องลงทุนเพราะนี้คือความปลอดภัยประชาชน

การอพยพหนีภัยพื้นที่เสี่ยงสึนามิไม่ปลอดภัยหากเกิดสึนามิ

ประเด็นสำคัญคือความเสี่ยงคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิจะหนีออกมาได้ทันหรือไม่ การจัดการของไทยต้องคุยกันให้ชัด เพราะการการอพยพหนีภัยสึนามิจะยากกว่าเพราะเรามีแวลาน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง อาจยังน้อยไป กับประชากรในพื้นที่ที่มากขึ้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีมานี้ เช่น ที่เขาหลัก จ.พังงา ประชากรเพิ่มขึ้น 2 เท่า หมายถึงความเสี่ยง 2 เท่าเช่นกัน จะทำอย่างไรที่ต้องย้ายคนจำนวนมากขึ้นให้ปลอดภัย ปัจจุบันผังเมืองที่เปลี่ยนไป การซ้อมหนีภัยก็รู้ไม่ทั่วถึง หรือแม้แต่หอหลบภัยที่มีน้อยเกินไป แม้บางพื้นที่จะหนีขึ้นเขาได้ แต่การวางป้ายหรือการจัดการกลไกในท้องถิ่นก็ยังไม่ชัด

กรณีการซ้อมหนีภัย ปัจจุบันก็ยังซ้อมไม่เหมือนจริง บางพื้นที่ก็อาจจะไม่ซ้อมแล้ว เมื่อปี 2012 ประมาณ 8 ปี ก่อนหนี้ อาจจำกันได้ ตอนนั้นเป็นแผ่นดินไหวขนาด 8.6 ที่ไม่เกิดสึนามิ เพราะเป็นคนละแนวเลื่อนซึ่งครั้งนั้นเป็นแบบแนวราบ ครั้งนั้นทำให้เราเห็น ประสิทธิภาพของการอพยพ ยังติดขัดหลายด้าน เช่น ที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต หนีกันแบบอลหมาน แล้วที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ มีคนไม่รู้เส้นทางเยอะ แล้วก็ใช้รถยนต์เยอะ ให้จักรยานยนต์มาก หากเทียบในหลายพื้นที่ทั่วโลก เขาแนะนำกันว่าถ้าเป็นไปได้ไม่ควรจะใช้รถยนต์เพราะจะเจอปัญหารถติด ​ทำให้​สูญเสียกว่าเดิมหากหนีไม่ทัน

แบบจำลองการหนีภัยสึนามิที่เห็นภาพ ชี้จุดอ่อนการหนีภัยสึนามิไทย สู่การออกแบบนโยบาย

การซ้อมหนีภัยไม่เหมือนจริงทำให้มีงานวิจัยจัยจำลองพฤติกรรมของคนแต่ละคน เพราะละคนอาจจะมีพฤติกรรมไม่เหมือนคนอื่น นักท่องเที่ยวก็มีพฤติกรรมไม่เหมือนกับคนในพื้นที่ คนพื้นที่ที่อายุมาก ก็อาจจะเดินได้ช้า คนในพื้นที่ที่เป็นหนุ่มสาวก็จะเดินได้เร็ว บางคนรู้เส้นทาง ว่าจะอพยพยังไง บางคนไม่รู้เส้นทาง แม้จะมีป้ายค่อยชี้ทาง แต่บางคนเห็นป้ายเตือน บางคนไม่เห็นป้ายหนีภัย ซึ่งงานวิจัยนี้สามารถจำลองสถานการณ์แบบนี้ได้

นักวิจัยได้จำลองเหตุการณ์ให้มีคนประมาณ 20,000 คน อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันและดูว่าเขาจะ มีพฤติกรรมยังไง แต่ก่อนที่นักวิจัยจะออกแบบจำลองนี้ ได้มีการไปสอบถามแต่ละคนว่ามีพฤติกรรมอย่างไร ​เขาจะตัดสินใจอย่างไร แล้วก็จำลองขึ้นมา โดยพบว่าจากข้อมูลที่สอบถาม คนประมาณสัก 70% จะใช้รถใช้รถยนต์ ใช้จักรยานยนต์ ในขณะหนีภัยหลังได้ยินสัญญาณเตือน ผลคือรถจะติดทันทีติดสะสมจากถนนใหญ่ นี่จึงเป็นความเสี่ยงใหญ่ ๆ ที่ทำให้อาจมีผู้เสยชีวิตหลายพันคนเมื่อสึนามิมาถึง เพราะไม่สามารถอพยพได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะการจราจรติดขัด

ทางเลือกของการหนีภัยสึนามิ

จากแบบจำลองชี้ให้เห็นว่า ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในพื้นที่ได้ แทนที่จะใช้รถยนต์ 70 % ลดให้เหลือให้ใช้รถยนต์แค่ 25% อันนี้จะทำให้ไม่ไม่เกิดรถติด แล้วจะอพยพได้ต่อเนื่องไม่เสียชีวิตจากปัญหารถติด ถัดมาถ้าเปลี่ยนเป็นคนเดินเท้า 70% ปัญหาต่อไปก็คือ จะใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ซึ่งอาจจะหนีไม่ทันในบางส่วน เพราะมีทั้งคนแก่มีทั้งเด็ก มีทั้งคนที่ไม่สามารถเดินได้เร็วมาก

แต่มีอีกทางที่จะเป็นทางเลือกการหาพื้นที่ตึกอาคารสูงที่แข็งแรง 3-4 ชั้นขึ้นไป ที่สูงพอที่จะหนีน้ำท่วม ที่จะทำให้คนในพื้นที่เสี่ยงสามารถ จะวิ่งไปที่อาคารเหล่านี้ได้ เป็นที่หลบภัยในแนวดิ่งได้ ซึ่งจะช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมากในแต่ละพื้นที่ แต่เรื่องนี้มันต้องมีข้อตกลงกันกับรัฐเจ้าของอาคารและมีข้อกำหนดร่วมกัน ก็จะได้พื้นที่หลบภัยเพิ่มขึ้นมาอีก อย่างหอหลบภัยที่เขาหลักมี 4 แห่ง รองรับคนไม่ถึงหมื่น แต่การใช้อาคารแบบนี้ก็จะช่วยชีวิตได้หลายคน

เรื่องต่อไปที่ต้องทำก็คือต้อง มีป้ายชี้ว่า ตึกสูงที่ให้หลบภัยได้อยู่ตรงไหน มีป้ายนำทางให้คนจากที่ต่าง ๆ วิ่งมาได้ถูกต้องเรื่องนี้อาจจะต้องเป็นเรื่องที่ ต้องทำต่อไป ควบคู่กันไป อย่างพื้นที่เขาหลัก นี่คนในท้องถิ่นอาจจะมีน้อยกว่านักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวก็จะไม่รู้จักพื้นที่ดีเพราะฉะนั้นเราก็อาจจะต้องมีป้ายที่ นำทางไปอย่างถูกต้อง กรณี เกาะพีพี เมื่อเกิดเหตุสึนามิ พบว่าอพยพยาก ทำให้ที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตมาก ก็ต้องมีการออกแบบระบบที่ดี

ภัยพิบัติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ละภัยจะมีการบูรณาการการรับมือที่แตกต่างกัน แต่อยู่ภายใต้การจัดการที่ดีในเชิงกลไก และตั้งแต่เกิดสึนามิหลังจากนั้นเราก็มีกฎหมายตามมาหลายด้าน อย่างกรณีแผ่นดินไหวก็เริ่มมีกฎหมายควบคุมอาคารใหม่ แต่สำหรับอาคารเก่าที่เกิดก่อนกฎหมายก็ต้องการให้มีการเสริมความแข็งแรงมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารสาธารณะ บางคนอาจจะคิดว่าในการเสริมกำลังอาคารนี้มัน มันมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ว่าถ้าที่เรามีประสบการณ์ทำการเสริมกำลังอาคารจริง ๆ มันจะคุ้มค่าและประหยัดกว่ามาก


“เรามักจะพูดกันตลกว่า อยากให้นโยบายใหม่เกิดขึ้น ต้องรอให้ภัยพิบัติเกิดก่อน แต่ว่าถ้าทำอย่างนั้นมันก็ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ มันก็ต้องมีการสูญเสีย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทีมงานวิจัยเราพยายามทำอยู่ก็คือเราพยายามทำแบบจำลอง เพื่อให้รัฐเห็นประโยชน์ เพราะการที่จะตัดสินใจอะไรต้องมีการใช้ข้อมูลรอบด้าน ใช้งานวิจัยและต้องเอาผู้ที่มีความรู้มาทำงาน ไทยยังทำเรื่องนี้น้อยเราต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติมากขึ้น”

ศ. เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์