หาก “บ้าน” คือต้นทุนความมั่นคงของชีวิต
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว คนในชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ต้องอยู่กันอย่างแออัดในบ้านที่ไม่มั่นคงตามแนวรถไฟสายตะวันออก ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 โรคระบาดกำลังลุกลามอย่างรวดเร็ว
โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมความยากลำบากที่ชุมชนต้องเผชิญอยู่ก่อนแล้วอีกชั้น เพราะชุมชนไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ เนื่องจาก กทม. ยังไม่อนุญาต เพราะไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ดังนั้น เมื่อมีผู้ติดเชื้อในชุมชน การประสานส่งตัวเข้ารับการรักษา จึงมีปัญหาว่าหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ตอบรับ เพราะไม่มีชื่อชุมชนในระบบอย่างเป็นทางการ สุดท้าย สมาชิกในชุมชนต้องช่วยเหลือกันเอง ตั้งครัวกลางทำอาหารแบ่งปันกันเอง พยายามจัดพื้นที่กักตัวกันตามมีตามเกิด
“วันนั้นผมเป็นไข้พอดี ไม่น่าไปตรวจเลย”
‘ชาติ’ สุชาติ หลุ่มบางล้า เป็นหัวหน้าของครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน เป็นคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อาศัยอยู่ชุมชนบุญร่มไทร เคยติดเชื้อโควิด-19 เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ตอนที่แม้จะรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงติดเชื้อ แต่ก็ไม่อาจแยกกักตัวได้ ต้องอาศัยอยู่ในที่พักอาศัยตามสภาพที่เป็นอยู่กับภรรยาและลูกอีก 3 คน เป็นเวลา 2 วันกว่าจะมีรถมารับตัวไปที่โรงพยาบาล
“ตอนนั้น ผมยังไม่รู้ว่าผมเป็นรึเปล่า เพราะไม่มีอาการอะไร ไปไหนไม่ได้ เราก็ใส่แมสก์ตลอด เขาให้ผมแยกตัวไปบ้านร้างฝั่งโน้น แต่บ้านยังทำไม่เสร็จ มันรก นอนไม่ได้ ก็เลยไม่ไป นอนในนี้แหละ” เขาชี้เข้าไปในบ้านเพิงหลังเล็กริมทางรถไฟที่ทุกกิจกรรมเกิดขึ้นในที่เดียวกัน ข้าวของเครื่องใช้อัดแน่นรวมอยู่ด้วยกันทั้งหมดในพื้นที่นี้ เด็ก 3 คน นั่ง ๆ นอน ๆ เล่นเกมออนไลน์ในสมาร์ตโฟนอยู่บนเตียงซึ่งตั้งอยู่กลางบ้าน
“เล่นแต่เกม พอหนูบอกเขาก็ไม่ฟัง” ‘ขวัญเรือน เชิดชู’ ภรรยาของชาติเล่าอย่างอ่อนใจถึงลูก ๆ วัยประถมที่ต้องหยุดเรียนเนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ลำพังตัวเธอเองก็ไม่อาจกระตุ้นให้พวกเขาเรียนออนไลน์ได้สำเร็จ
“หนูก็เครียดด้วย หนูก็ปล่อยเลยตามเลย เพราะให้สอนเองก็สอนไม่เป็น บางวันเล่นจนไม่ยอมกินข้าวเช้า บ่ายก็ไม่กิน กินทีเดียวตอนเย็น ถ้ามีห้องเป็นสัดส่วน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องทำการบ้าน ก็อาจจูงใจให้เด็กรู้เวลา ถึงเวลากินข้าวมีโต๊ะอาหารให้กิน น่าจะดีกว่านี้ แต่นี่กินข้าว นอน ทุกอย่างอยู่ตรงนี้ ไม่มีห้อง มีแค่นี้”
“ชาติ” เป็นผู้ติดเชื้อรายแรกในชุมชนบุญร่มไทร ระหว่างรอรถโรงพยาบาลมารับ เขาไม่สามารถกักตัวแยกห่างจากครอบครัวได้ เพราะบ้านหลังเล็ก ๆ ริมทางรถไฟของชาติมีเพียงห้องเดียว ซึ่งทั้ง 5 คนในบ้าน ใช้พื้นที่เดียวกัน ทั้งกิน อยู่ หลับนอน ทำอาหาร ทำให้ภรรยาและลูก ๆ กลายเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่าบ้านของชาติเป็นภาพสะท้อนผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลสะเทือนถึงคนกลุ่มเปราะบางอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ความไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ ส่งผลให้นักเรียนไทยหลุดจากระบบการศึกษาแล้วอย่างน้อย 43,060 คน ในปี 2564
‘สมพงษ์ จิตระดับ’ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า การเรียนออนไลน์ส่งผลต่อภาวะถดถอยทางการศึกษาถึง 50% เท่ากับครึ่งปีการศึกษาไปจนถึงหนึ่งปีการศึกษา อาจจะเกิดการสูญเสียต่อจีดีพีถึง 30% ของเด็กรุ่นนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
นั่นเท่ากับว่าโควิด 19 ยิ่งทำให้ฝันที่คนจนเมืองจะได้มีโอกาสเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมยิ่งยากขึ้น หรือแม้แต่ฝันที่จะมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานในเมืองก็ยิ่งดูเหมือนจะห่างไกลออกไปทุกที
การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ซึ่งหมายรวมถึงภาวะโรคระบาดด้วย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จาก 17 เป้าหมายหลักที่สมัชชาสหประชาชาติกำหนดเป็นกรอบการพัฒนาร่วมกัน ภายในปี 2573 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกเห็นตรงกันว่า การมีที่อยู่อาศัยอันอบอุ่นปลอดภัยไม่ใช่ความปรารถนาเฉพาะบุคคล แต่คือความจำเป็นพื้นฐานสำหรับทุกคนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมจึงจะเกิดขึ้นได้จริง
เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ได้พิสูจน์ให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม “คนจนเมือง” เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในภาวะวิกฤตนี้ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจหนักหนาที่สุด ถูกบังคับให้ต้องปรับตัวตามมาตรการควบคุมโรคอย่างลำบากที่สุด และเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในการออกไปทำมาหากินมากที่สุด
เกือบ 2 ปีแล้ว ชีวิตของคนจนเมืองยังคงต้องดิ้นรนอยู่บนความไม่แน่นอนอันยากลำบากยิ่งกว่าเดิม และถูกกระหน่ำซ้ำเติมซ้อนอีกชั้น เมื่อพบว่ามีหมายศาลแจ้งว่า พวกเขาคือผู้บุกรุก พื้นที่ที่พวกเขาบุกเบิกสร้างที่อยู่ของตนเองขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน
ชุมชนริมทางรถไฟ เขตราชเทวี และชุมชนใกล้เคียงบริเวณมักกะสัน กรุงเทพฯ เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว จากที่เคยมีเพียงบ้านพักการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่กี่หลัง ชาวบ้านที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด แผ้วถางที่รกร้างริมทางรถไฟ สร้างที่พักอาศัยทำมาหากิน ขายแรงงานสร้างเมือง ปัจจุบันบ้านของพวกเขากำลังถูกไล่รื้อ เพื่อใช้พื้นที่เป็นก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา)
“บ้าน” คือปัจจัย 4 ที่ใครหลายคนไม่อาจเข้าถึง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ข้อมูลไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 ว่าในประเทศไทยมีครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยมากถึง 3.57 ล้านครัวเรือน เฉพาะชุมชนที่มีโอกาสถูกขับไล่ออกจากพื้นที่จำนวนมากถึง 791,647 ครัวเรือน สาเหตุหลักคือบ้านของพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐต้องการ “พัฒนา” แต่น่าเสียดายและน่ากังขานิยามของคำว่า “พัฒนาเมือง” แบบของรัฐไทยไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ
จากข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2562 พบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยชั้นล่างที่สุด (Bottom 20th Percentile) มีค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็น 24% ของรายได้ ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนกลุ่มรายได้สูงสุด (Top 20th Percentile) ถึง 2 เท่า
หากสรุปให้เข้าใจได้อย่างง่าย ๆ ก็คือ คนจนจ่ายค่าที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าคนรวยถึง 2 เท่า ยังไม่นับถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะในชีวิตประจำวันที่คนจนต้องซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคต่อหน่วยแพงกว่าคนรวยด้วยเช่นกัน
ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและค่าจ้างแรงงาน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ผุดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่จากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (AREA) พบว่า ไม่มีที่ใดเปิดขายในจำนวนหน่วยที่ราคาต่ำกว่า 500,000 บาท ในขณะที่ผู้มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 24,500 บาทต่อเดือนในประเทศไทย สามารถรับภาระเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาเฉลี่ย 450,000–500,000 บาทเท่านั้น
“คนจนเมือง” จึงถูกบังคับให้ต้องขูดรีดตัวเองอย่างหนักหน่วง เพื่อความฝันที่จะมีบ้านสักหลัง มีห้องเช่าในฝันสักห้อง ซึ่งจำเป็นต้องตอบโจทย์ลักษณะการประกอบอาชีพที่ผูกติดอยู่กับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเข็นขายอาหาร พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ ในเมื่อไม่อาจหาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับรายได้ ก็ทำให้พวกเขาต้องยอมทนอยู่ในห้องเช่าแคบ ๆ ไม่กี่ตารางเมตร หรือเพิงที่สร้างขึ้นเองริมทางรถไฟรกร้าง แต่ใกล้ย่านธุรกิจซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของพวกเขา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด
“เราก็อยากอยู่อย่างถูกกฎหมายเหมือนกัน เราไม่อยากอยู่ย่างสลัมแบบนี้หรอก เราก็อยากอยู่อย่างเป็นบ้านเรือนที่สวยงาม อยากอยู่ตึกเหมือนกัน อยากทำบ้านที่มั่นคง ตอบโจทย์ชีวิตพวกเราได้” ‘เชาว์ เกิดอารีย์’ ประธานชุมชนบุญร่มไทร ริมทางรถไฟย่านราชเทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) กล่าวด้วยน้ำเสียงเจือความขมขื่น เมื่อต้องตกเป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
“เชาว์” นั่งอยู่ในบ้านที่สร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ เช่นเดียวกับบ้านหลังอื่น ๆ ในชุมชนบุญร่มไทร เคร่งเครียดกับการอ่านเอกสารคดีความ ที่ตัวเขาเองและชาวบ้านส่วนหนึ่งตกเป็นจำเลย คดีบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
“หมายศาลมาเพียบเลย แทบทุกหลังเลย 30 กว่าหมายแล้ว โจทก์คือการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเราก็มีการพูดคุยกับการรถไฟอยู่ตลอดนะ แต่ทำไมถึงมาฟ้องเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน สู้มาก็หลายปีแล้ว แต่สู้แบบหนัก ๆ ก็ราวปีกว่า ๆ แต่เขาก็ไม่ยอมลดลาราวาศอกสักที”
การเร่งรัดเวนคืนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำให้ชุมชนเต็มไปด้วยความระส่ำระส่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยซึ่งกำลังจะถูกไล่รื้อ เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งชาวชุมชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ดำเนินการสร้างกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อตระเตรียมวางแผนที่จะปรับปรุงคุณภาพที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง หากเจรจาขอเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ
บ้านคือพื้นที่สร้างชีวิตใหม่
เหตุผลสำคัญที่ “คนจนเมือง” ยอมเช่าที่อยู่คุณภาพต่ำในเมืองที่ราคาถูก ‘ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา’เคยวิเคราะห์ไว้เป็นเพราะว่า ที่ดินราคาสูงเป็นปัญหาต้นทุนสำคัญที่ทำให้จำนวนโครงการที่อยู่ในชุมชนเมืองยังไม่เพียงพอกับความต้องการ การเคหะแห่งชาติเลือกซื้อที่ดินนอกเมืองซึ่งราคาถูกกว่า แต่ห่างไกลสาธารณูปโภคพื้นฐาน การคมนาคมเข้าถึงยาก จึงไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของแรงงานรายได้น้อยในเมือง
“ผมนั่งรอตั้งแต่ตี 5 เพิ่งจะได้คิวแรกเมื่อกี้นี้เองก็ 40 บาท ไม่รู้ว่าจะจะได้อีกทีเมื่อไหร่ เพราะวินมีกันหลายคน ช่วงโควิดไม่มีลูกค้า ก็ต้องนั่งรอไปเรื่อย ๆ สถานการณ์แบบนี้บางคนทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้ลูกค้าลดน้อยลง วันหนึ่งได้ 100 บาทก็ดีมากแล้ว” เชาว์ ในเสื้อกั๊กวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กล่าวถึงสภาวะทางการเงินที่น่าเป็นห่วงของตัวเอง
2 ปีมาแล้ว ที่ชุมชนบุญร่มไทรร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ พวกเขาฝากเงิน เดือนละ 300 ถึง 400 บาท เพื่อพิสูจน์ว่า แม้จะเป็นคนจน ก็มีวินัยในการเก็บออม การฝากเงินประจำทุกเดือนช่วยสร้างเครดิตให้กู้ยืมเงินในโครงการบ้านมั่นคงของรัฐบาลได้ แต่โรคระบาดก็กระทบกับเงินออมของพวกเขา
และต่อให้พวกเขามีเงินเก็บออมมากพอ ก็ยังไม่อาจเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อยู่ดี เพราะหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทจัดสรรที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางยังดำเนินการได้น้อยเกินไป ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่า ในปี 2562 – 2563 มีความต้องการเช่าซื้อที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศสูงถึงปีละเกือบ 200,000 หน่วยต่อปี แต่จำนวนหน่วยก่อสร้างใหม่ที่แล้วเสร็จเฉลี่ยเพียง 4,000 หน่วยต่อปีเท่านั้น
“บ้านคือความมั่นคง เราเรียกร้องที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับที่ทำมาหากิน เราอยากเช่าเหมือนกัน ทำไมให้แต่นายทุนเช่า” ประธานชุมชนบุญร่มไทรตั้งคำถามเป็นเชิงตัดพ้อ
การปล่อยให้สิทธิที่จะเข้าถึงที่อยู่อาศัย เป็นไปตามกลไกราคาตลาด จึงไม่มีทางจะนำไปสู่เป้าหมายของเมืองที่ยั่งยืนได้ แต่ก็ใช่ว่าความพยายามทำให้ “คนจนเมือง” อยู่ในเมืองได้อย่างยั่งยืนไม่เคยเกิดขึ้น เพราะตลอด 18 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2546 ที่เกิด “โครงการบ้านมั่นคง” โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นหน่วยงานดําเนินงาน จนถึงปี 2564 มีการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว 967 โครงการ ใน 357 พื้นที่ มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 98,061 ครัวเรือน กระจายทุกจังหวัดทั้งในเมืองใหญ่และพื้นที่ชนบท
ในแง่จำนวน อาจจะยังไม่มากพอช่วยให้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง แต่ในเชิงคุณภาพ รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนเมืองแบบบ้านมั่นคง ได้เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนอย่างน่าพึงพอใจ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอกย้ำความสำคัญของการจัดสรรที่อยู่อาศัยในราคาที่รับภาระได้ (affordable housing) ทั้งประเภทให้เช่า (social housing) และประเภทให้ความเป็นเจ้าของ (owner-occupied housing) ไม่เพียงช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย แต่ยังเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนจากการนำไปลงทุนสร้างโอกาสอื่นแทนอีกด้วย
เช่นเดียวกับผลสรุปจากรายงานการประเมินมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากโครงการบ้านมั่นคง ปี 2557 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า “บ้านมั่นคง” เป็นการสร้างและฟื้นฟูการจัดการตนเองของชุมชนให้เข้มแข็ง จัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ส่งผลโดยตรงให้ครัวเรือนมีรายจ่ายลดลง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เพราะไม่ต้องพ่วงจากมิเตอร์บ้านอื่น การจัดการที่ดีขึ้นส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจเพราะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย มลพิษลดลง ทําให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนดีขึ้นตามไปด้วย เป็นคุณค่าที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ย้ำความหมายของคำว่า “บ้าน” ที่มากกว่าอิฐหินปูนทรายอย่างแน่นอน
บ้านคือความหวังที่เป็นรูปธรรม
บนพื้นที่รอบบึงบางซื่อ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เดิมเป็นชุมชนแออัดที่รู้จักกันในชื่อ ‘ชุมชนบ่อฝรั่ง’ หรือ ‘ชุมชนบึงบางซื่อ’ ซึ่งอดีตพนักงานของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นที่อยู่อาศัยมากว่า 40 ปีแล้ว เวลาผ่านไปผู้พำนักเปลี่ยนหน้าตาไปหลายรุ่น บ้านเรือนทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและการใช้สอย ไม่ต่างจากชุมชนแออัดอีกหลายชุมชนในเมืองใหญ่ ทางเดินคือเศษไม้เรียงต่อกัน ผุพังซ่อมแซมกันไปตามกาลเวลา ฉะนั้น เวลาเดินทั้งยามกลางวันและค่ำคืนต้องระวังอย่าให้ร่วงหล่นตกลงในร่องน้ำคลำ เด็ก ๆ จะไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ให้ลงมาเดินบนสะพานแบบนี้ ไม่ให้ออกมาเล่นนอกบ้าน มีคนที่ใช้เส้นทางนี้ประจำบอกว่า บางทีเดิน ไม้ผุ หักลงไปเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บทางเดินที่ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง ก็เช่นเดียวกับบ้านที่ไม่มั่นคงของพวกเขา
แต่ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้กำลังแปลงโฉมตนเองใหม่ให้เป็นสัดส่วน จำนวน 197 ยูนิต แบ่งเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ 60 ยูนิต อาคารชุดพักอาศัย 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ยูนิต และบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแลอีก 4 ยูนิต ดำเนินการโดยสหกรณ์เคหสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มก่อตั้งของชุมชนในพื้นที่ร่วมกับ พอช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี เพื่อก่อสร้างชุมชน ผู้เข้าร่วมโครงการได้ถือครองกรรมสิทธิ์ จ่ายค่าเช่าที่ดินในอัตราเดียวกับโครงการบ้านมั่นคงในที่ราชพัสดุให้แก่กรมธนารักษ์
‘ป้าดา’ – ‘จารุชา ปุยฤทธิ์’ วัย 65 ปี เป็นหนึ่งในสมาชิกชุมชนบ่อฝรั่งตั้งแต่รุ่นบุกเบิก เพิ่งมีโอกาสย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ในโครงการนี้ เธอเก็บหอมรอมริบรายได้จากการขายแกงถุง 8 เมนู เริ่มวันใหม่ตั้งแต่ตี 5 เร่งรีบออกจากบ้านผ่านสะพานไม้ผุพังดูน่าอันตราย เพื่อออกไปซื้อวัตถุดิบทำอาหารที่ตลาดบางซ่อนด้วยตัวเอง มี ‘ยายแปลง อบมา’ วัย 94 ปี เป็นลูกมือช่วยตระเตรียมด้วยค่าจ้างหลักสิบ ช่วยกันเข็นรถใส่กับข้าวออกไปขายจนค่ำมืด บางวันได้คืนทุน บางวันได้กำไร วนเวียนแบบนี้มาเป็นเวลากว่ากว่า 40 ปี เพื่อหาเลี้ยงชีพและหาเงินออมผ่อนส่งเงินกู้ เพื่อเช่าซื้อบ้านในราคา 240,000 บาท เติมเต็มความฝันของคนตัวเล็กในเมืองใหญ่ที่ละทิ้งบ้านเกิดมาทำมาหากินในเมืองใหญ่ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ผ่านคืนวันอันยากลำบากอย่างอดทนด้วยหวังว่าจะมีที่พักพิงอันมั่นคงยั่งยืนในบั้นปลายชีวิต
“ชีวิตนี้ไม่เคยว่าจะได้มีบ้านในกรุงเทพฯ” ยายแปลงยิ้มด้วยความสุขเมื่อมองห้องชั้นล่างติดบันไดที่กำลังจะย้ายเข้าไปอยู่อาศัย
นี่คือตัวอย่างของการนำแนวคิดที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม (Social Housing) มาใช้ดำเนินการตามแนวทางการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น เน้นการซื้อที่ดิน หรือการเช่าที่ดินในระยะยาว กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เน้นสิทธิร่วมกันของชุมชนในการอยู่อาศัย รวมไปถึงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันของปัญหาที่อยู่อาศัยในเมือง โดย …
เปลี่ยนบทบาทคนในชุมชน จาก “ผู้ร้องขอความช่วยเหลือ” เป็น “เจ้าของโครงการ” เปิดโอกาสให้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นผู้บริหารโครงการมีส่วนร่วมในการดําเนินโครงการตั้งแต่การสํารวจข้อมูล การเลือกชุมชนนําร่อง การเลือกวิธีปรับปรุงชุมชน การจัดหาที่ดิน การออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย การออกแบบบ้าน การออกแบบชุมชน การก่อสร้าง จนเสร็จสิ้นโครงการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นและชุมชนร่วมมือกันต่อไป
เปลี่ยนบทบาทของรัฐให้เพียงอุดหนุนงบประมาณพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ช่วยสนับสนุน องค์ความรู้ กระบวนการสร้างบ้านมั่นคง แต่ละขั้นตอน จะค่อย ๆ พัฒนาวิธีคิด และความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนด้วยกัน และส่งต่อความหวังให้แก่ชุมชนอื่นในสังคมไปพร้อมกันด้วย
“เราไปดูบ้านที่ชุมชนบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนามีทั้งแนวราบ แนวสูง เป็นสิ่งที่เราต้องการ อยากทำแบบเดียวกันด้วย เรานี่แหละจะเป็นแรงงานขับเคลื่อนเมืองไปพร้อมกับทุกคน” เชาว์ กล่าวอย่างมีความหวัง เช่นเดียวกับชาติที่ยังคงสะสมไม้ฝา วงกบหน้าต่างจากบ้านเก่าที่ถูกรื้อทิ้งไว้ ด้วยความหวังว่าจะต่อเติมบ้านให้ลูกทั้งสามคนได้อยู่อาศัย มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่ตัวเขาได้ประสบพบเจอมาตลอดชีวิต
แม้เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) จะยังไม่อาจมั่นใจในอนาคตข้างหน้า แต่มีตัวอย่างที่ทำให้เห็นแล้วว่า ความฝันของ “คนจนเมือง” ที่จะมีบ้านที่มั่นคงแข็งแรง ใกล้กับแหล่งงานสามารถเกิดขึ้นได้จริง ขอเพียงเราช่วยกันย้ำ ช่วยกันผลักดันให้สังคมเชื่อในสิ่งเดียวกันนี้ว่า สิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยคือสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน
อ้างอิง
- กสศ.อุ้มเด็กกลุ่มเสี่ยงหวั่นหลุดระบบศึกษา เผยออนไลน์ส่งผลการเรียนรู้ถดถอย. ไทยรัฐออนไลน์. วันที่ 7 กันยายน 2564.
- การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย. 2561
- ชลิดา แท่งเพ็ชร. Affordable Housing: บ้านซื้อหรือเช่า เราควรรับภาระได้. ดินแดง. ธนาคารแห่งประเทศไทย. วันที่ 20 พฤษภาคม 2564.
- เดินหน้า ‘พัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ’ ดันสู่ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง. กรุงเทพธุรกิจ. วันที่ 23สิงหาคม 2561.
- บุญเลิศ วิเศษปรีชา. ผ่ายุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี: ฝันใหญ่ แต่ไม่สรุปบทเรียน. นิตยสาร WAY. 7 ตุลาคม 2562.
- บุญเลิศ วิเศษปรีชา. แบ่งปันที่ดินรถไฟเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน. นิตยสาร WAY. วันที่ 13 มกราคม 2564.
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). ข้อมูลโครงการบ้านมั่นคง. 2552.
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). บ้านมั่นคงเมืองและชนบท. วันที่ 21 มีนาคม 2562.
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). “โครงการบ้านมั่นคง” การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยองค์กรชุมชนและท้องถิ่น. 2558.
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. การประเมินมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากโครงการบ้านมั่นคง. ในรายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 102 เดือนมกราคม 2557.
- อธิษฐาน จันทร์กลม. ฤาโครงการมา ถึงคราต้องไป ชุมชน‘ริมทางรถไฟ’ ในวันที่เมืองห่างเหิน ‘ความเป็นธรรม’?. ในหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน. 2563.
- อินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล. นักเรียน 40,000 คน ไม่ได้เรียนต่อ เด็กยากจนเพิ่มแตะ 2 ล้านคน เพราะโควิด-19. เวิร์คพอยท์ทูเดย์. วันที่ 7 กันยายน 2564.
- เอสดีจี มูฟ ทีม. Goal 11: Sustainable Cities and Communities. โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. วันที่ 7 ตุลาคม 2559.