ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีเยี่ยมอย่างฟินแลนด์ เราอาจเคยได้ยินโครงการที่สนับสนุนการมีลูกและความมุ่งมั่นของรัฐที่ให้ทารกทุกคนได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นชีวิต เช่น การแจก “เบบี้บ็อกซ์” หรือข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็กแรกเกิดเพื่อช่วยลดภาระให้ครอบครัว แม้จะเป็นนโยบายที่ราบเรียบ แต่กลับช่วยแก้ปัญหาความยากจนและนำไปสู่การสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับเด็กที่กำลังจะเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต
หันกลับมามองที่บ้านเรา ตอนนี้หากครอบครัวใดมีลูก สวัสดิการเดียวที่จะได้รับคือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่กลับไม่ใช่ทุกบ้านจะได้รับเพราะต้องเป็นครอบครัวที่ถูกชี้ว่าอยู่ในฐานะคนยากจน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เงินอุดหนุนที่ได้นี้กลับไม่สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ซ้ำร้ายยังมีเด็กเล็กจากครอบครัวยากจนและกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่ตกสำรวจและไม่เคยได้รับสิทธิใด ๆ
แม้ปัจจุบัน รัฐจะปรับอัตราเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กจาก 400 บาท/ปี ขึ้นมาเป็น 600 บาท/ปีแล้ว แต่ยังคงเป็นสิทธิที่ได้รับเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มเส้นความยากจนคือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปีเท่านั้น แถมยังมีเด็กตกหล่นและไม่ได้รับสิทธิถึง 30% เนื่องจากตกสำรวจและรัฐเองก็ไม่ได้มีชุดข้อมูลเหล่านี้อย่างชัดเจนด้วย
การลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนกับ “คน”
จากการศึกษากลุ่มเด็กยากจนในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่า “การลงทุนกับคนยิ่งทำเร็วยิ่งคุ้มค่า” และสามารถให้ผลตอบแทนกลับคืนสังคมได้สูงถึง 7-13% ต่อปี นั่นหมายความว่าหากลงทุนกับเด็ก 1 บาท สังคมจะได้รับผลตอบแทนกลับมา 7-9 บาท
แนวคิดการลงทุนกับคนกำลังถูกผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ไอซ์แลนด์ ฝรั่งเศส หรือสวีเดนที่ทุ่มงบประมาณในการลงทุนกับเด็กมากกว่า 1% ของจีดีพีในประเทศตามคำแนะนำของยูนิเซฟ และกำลังผลักดันให้สูงขึ้นไปอีกถึง 2% ในอนาคต ในขณะที่ประเทศฝั่งเอเชียอย่างเกาหลีและประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างเวียดนามก็กำลังเขยิบการลงทุนขึ้นสู่ 1% แต่ในประเทศไทยเรากลับมีการลงทุนกับเด็กอยู่แค่ 0.25% ของจีดีพีในประเทศเท่านั้น
ทุกวันนี้ ประเทศไทยใช้งบประมาณในการเป็นเงินอุดหนุนให้เด็กแรกเกิดคิดเป็น 15 -16 ล้านล้านบาท/ปี และแจกจ่ายให้ประชาชนครอบครัวละ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการสำรวจของ TDRI พบว่าในความเป็นจริง แล้ว การอุดหนุนของรัฐเพียงเท่านี้นั้นไม่เพียงพอ เพราะสำหรับครอบครัวที่ยากจน การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งต้องใช้เงินอย่างน้อย 2,500 บาท/เดือน และในจำนวนเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน 433,245 คน ยังมีกลุ่มเด็กที่ยังตกหล่นและเข้าไม่ถึงเงินอุดหนุนดังกล่าวถึง 30%
มีการศึกษาที่ทำในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าการที่รัฐใช้เงินลงทุนกับเด็กเพียงแค่ 2% ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินอุดหนุนหรือการสร้างศูนย์เด็กเล็กอย่างทั่วถึง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานดีขึ้น เนื่องจากผู้เป็นแม่จะมีความมั่นคงทั้งทางใจและทางการเงิน และการมีรายได้ที่มั่นคง (ไม่ต้องลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูลูก) จะนำไปสู่การซื้อของจับจ่ายและเสียภาษี
นอกจากช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยให้ผู้เป็นแม่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีด้วย รวมถึงในหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่มีนโยบายดูแลความเป็นแม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น รวมถึงการมีศูนย์เด็กเล็กหรือห้องให้นมบุตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของพนักงานและทำให้องค์กรสร้างผลกำไรได้มากขึ้นด้วย
ถึงเวลาที่รัฐต้องลงทุนกับอนาคตของชาติอย่างจริงจัง !
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร คนรุ่นใหม่นิยมเป็นโสดหรือไม่มีลูก จึงไม่น่าแปลกใจที่ในบ้านเรามีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียงแค่ 5 แสนคน/ปี เท่านั้น รวมถึงลักษณะของครอบครัวที่เปลี่ยนไป ครอบครัวขนาดเล็กที่บางทีมีเพียงแค่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวกลายเป็นภาพชินตา ในขณะที่ครอบครัวขยายที่มีทั้งลูกหลานปู่ย่าตายายกำลังกลายเป็นอดีตซึ่งล้วนมีส่วนทำให้แต่ละครอบครัวมีศักยภาพในการดูแลเด็กลดลง
จำนวนเด็กที่เกิดขึ้นลดลงในวันนี้กำลังสวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ไทยเรากลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ เด็กเหล่านี้กำลังจะเติบโตและกลายเป็นหนุ่มสาววัยแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศที่พวกมาด้วยการแบกรับภาระอันหนักอึ้งในการดูแลสมาชิกในสังคมสูงวัย
หากรัฐยังไม่รีบแก้ไขปัญหาหรือยื่นมือเข้าโอบอุ้มประชาชนตั้งแต่วันนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงไม่เพียงแต่ในระดับครัวเรือน แต่หมายรวมถึงในระดับประเทศด้วย เพราะนี่ไม่ใช่แค่การดูแลเด็กเล็ก แต่มันคือการลงทุนกับการสร้างประเทศชาติในอนาคต และการจัดสรรงบประมาณให้ทุกครอบครัวเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้าไม่เพียงเฉพาะคนยากจนแต่ควรเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ