กตัญญูคืออะไร? เมื่อเงื่อนไขสังคมเปลี่ยน

ตรรกะเด็กรุ่นใหม่ หรือแค่คาดหวังรัฐสวัสดิการ

วาทกรรม “พ่อแม่ไม่มีบุญคุณกับลูก” “ลูกไม่ได้ขอมาเกิด” “ลูกที่ดีต้องกตัญญู” ที่ กระแสโซเชียลถกกันอย่างร้อนแรง ทีมลูกที่ดีต้องตอบแทนคุณพ่อแม่ ปะทะ ทีมพ่อแม่หยุดทวงบุญคุณลูก

นี่เป็นเพียงหนึ่งในประเด็นร้อนในสังคม ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง บ้างก็ถูกโยงไปถึงความขัดแย้งทางการเมือง หรือแม้แต่ช่องว่างระหว่างวัย ที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กก้าวร้าว เมื่อเด็กเริ่มถกกันเรื่องแนวคิดพ่อแม่ไม่มีบุญคุณต่อลูก ประเทศชาติและสถาบันอื่น ๆ ในสังคมไม่มีบุญคุณกับประชาชน แม้ว่าหลายคนมองว่านี่เป็นแนวคิดที่อันตราย ทำลายรากเหง้าของสังคมไทย แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นผลมาจากความเปราะบางของสายสัมพันธ์ในครอบครัว และความกังวลว่าวัฒนธรรมที่ดีงามกำลังถูกท้าทาย

การสื่อสาร ทำความเข้าใจของคนต่างวัย กับค่านิยม “ความกตัญญู” จริง ๆ ความขัดแย้งในระยะหลัง อาจไม่ใช่เรื่องช่องว่างระหว่างวัยของคนอาวุโสกับคนรุ่นใหม่ แต่เป็นวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่มีผลประโยชน์กับชนชั้นที่ถูกกดทับ เป็นโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ที่คนรุ่นเก่าคุ้นชิน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงต้องลุกขึ้นมาหาเครื่องมือบางอย่างเพื่อปกป้อง?

แต่หากพูดถึง “ความกตัญญู” ในบริบทของประเทศเกาหลีใต้ อธิบายได้ด้วย “แนวคิดขงจื๊อ” ที่เรามักเห็นการสอดแทรกเข้าไปในงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ วรรณกรรม หรือแม้แต่ภาพยนตร์และซีรีส์ทางโทรทัศน์

The Active ชวนทำความเข้าใจ “ความกตัญญู” แบบขงจื๊อกับพุทธศาสนา กับ ผศ.ภาคภูมิ แสงกนกกุล สมาชิก Confucius Book club และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กตัญญู
ผศ.ภาคภูมิ แสงกนกกุล สมาชิก Confucius Bookclub
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มอง “ความกตัญญู” แบบขงจื๊อ VS พุทธศาสนา

หากจะพูดถึงหลักปรัชญาของ ขงจื๊อ นักคิดและนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของจีน ต้องเข้าใจบริบทช่วงที่ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ด้วย ที่มีสงคราม ความวุ่นวาย ในสมัยที่ยังไม่มีโรงเรียนของรัฐ การสั่งสอนด้านคุณธรรมจะมาจากครอบครัว ครอบครัวจึงเป็นสถาบันส่งต่อความรู้ คุณธรรมจากรุ่นสู่รุ่น การที่ ขงจื๊อ เป็นลูกเลี้ยงเดี่ยว บิดาจากไปก่อนวัยอันควร จึงเติบโตมากับมารดาที่เปรียบดั่งวีรสตรี มีความคิดว่ามนุษย์ทุกคนจะมีเมล็ดคุณธรรมอยู่ในตัว เพียงแต่ว่าเมล็ดคุณธรรมจะงอกเงย งดงามในระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าทุกวันพรวนดิน ฝึกฝนให้คุณธรรมในตัวเจริญงอกงามขึ้นอย่างไรบ้าง จุดประสงค์และความฝันของ ขงจื๊อ คือ อยากเห็นสันติสุขชั่วนิรันดร์ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล เริ่มจากครอบครัวก่อน เมื่อสายสัมพันธ์จากครอบครัวดี จะขยายไประดับหมู่บ้าน สังคม ประเทศ ให้มีความสมานฉันท์

“ความกตัญญูเป็นคุณธรรมสูงสุดที่จะสร้างความรักของมวลมนุษยชาติ เหนือกว่าความรักอื่นใด ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์”

ขงจื๊อ

แต่การเกิดขึ้นของปรัชญาขงจื๊อไม่ใช่ประกาศิต ไม่ใช่ว่าพูดอะไรทุกอย่างต้องเป็นแบบนั้น แต่การงอกเงยความรู้เกิดจากการถกเถียงเพื่อตกผลึกเป็นคำตอบของคุณธรรม มองความกตัญญูต้องเกิดขึ้นจากความรู้สึก ความสมัครใจ เกิดจากจิตใจที่อยากจะทำจริง ๆ แล้วต้องแสดงมันออกมา

กตัญญูแบบขงจื๊อกับพุทธศาสนา ต่างกันเล็กน้อย พุทธศาสนามีเรื่องการกลับชาติมาเกิด แต่ไม่สามารถระบุว่ามีจริงหรือไม่ ขงจื๊อไม่ได้พูดถึงเรื่องของชาติที่แล้ว ขงจื๊อมองความกตัญญูในเรื่องความสัมพันธ์ของชาตินี้ ไม่ใช่ บุตรกตัญญูต่อบิดามารดาเพราะสถานะ แต่กตัญญูเพราะความสัมพันธ์ทั้ง 2 ฝ่าย ลักษณะต่างตอบแทนกัน ถ้าบิดามารดาปฏิบัติถูกทำนองคลองธรรมให้บุตรได้เห็น บุตรก็จะปฏิบัติตาม จนเกิดการส่งต่อคุณธรรมจากรุ่นสู่รุ่น

ความกตัญญูตามแนวคิดขงจื๊อได้รับการวิจารณ์ว่าเอื้อให้เกิดระบบอุปภัมถ์หรือไม่ เพราะจะมองแต่ครอบครัวตัวเอง ถ้าเป็นคนอื่นจะไม่ประพฤติดีด้วยหรือ? ไม่กตัญญูกับคนอื่นหรือ? นักวิชาการก็ได้วิเคราะห์กันใหม่ มีกรณีศึกษา มีกษัตริย์องค์หนึ่งกล่าวว่า “ผู้ทรงธรรมของแคว้นข้าฟ้องร้องพ่อตัวเอง เนื่องจากพ่อไปขโมยแพะผู้อื่นมา” ขงจื๊อ ได้ตอบว่า “สำหรับข้าพเจ้าแล้วผู้ทรงธรรม คือ ผู้ที่บิดามารดาจะปกปิดการกระทำของลูก และลูกจะปกปิดการกระทำผิดของพ่อแม่ แล้วหาหนทางที่หาทางออกร่วมกัน” หากฟังดูอาจจะเหมือน ขงจื๊อ สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ แต่อันที่จริงแล้ว มองว่าความกตัญญูเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวควรเป็นพื้นฐานก่อนที่จะขยับไปที่สถาบันอื่น ๆ ก่อนจะไปสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่น ต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในบ้านก่อน

“กตัญญูกับคนอื่นแต่ไม่กตัญญูกับบุพการี กตัญญูต่อชาติบ้านเมืองแต่ไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ อันนี้ไม่ใช่”

จากกรณีนี้มีนักวิชาการวิเคราะห์ทางออก ที่บอกว่า ปกปิดการขโมยแพะของพ่อ ไม่ได้หมายความว่าพ่อไม่ผิด ยังผิดอยู่ แต่ว่าการไกล่เกลี่ยควรจะทำในที่ลับ ไม่ใช่ที่แจ้ง ไม่ใช่การไปฟ้อง ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรามลง ทางออกคือ การเอาแพะไปคืนเจ้าของ จ่ายค่าปรับ โดยที่ไม่นำไปฟ้อง นี่อาจเป็นทางออกร่วมกันที่ดีกว่าหรือเปล่า?

“ความกตัญญู” เชิงโครงสร้างที่ถูกตราในมิติทางการเงิน

หากมองความกตัญญูในแบบขงจื๊อ ไม่ใช่เรื่องของเงิน เป็นเรื่องของคุณค่าความสัมพันธ์ ขงจื๊อมองความกตัญญูเป็นการส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กัน เช่น หากพ่อแม่ทำตัวไม่ดี ลูกก็จะรู้สึกอึดอัดใจ ลูกจะไม่ปฏิบัติตาม จะหาชุดคุณธรรมใหม่ เพื่อมาเปลี่ยนแปลงพ่อแม่คอยส่งต่อไปยังลูกหลาน แต่ว่าในปัจจุบันที่เราอยู่ในโลกทุนนิยม

“ปัญหาคือคุณค่าของการกระทำมักจะถูกตีด้วยมูลค่าของตลาด มูลค่าของเงินมากกว่า ก็เลยทำให้คุณค่าของความกตัญญูแปลความหมายในรูปของสิ่งของขึ้นมาแทน แต่ถ้าคุณยึดกับความกตัญญู คุณไม่มีเงิน คุณสามารถทำอย่างอื่นได้”

เมื่อรัฐทำหน้าที่ฟื้นความสัมพันธ์ครอบครัว ผ่านเครื่องมือ “รัฐสวัสดิการ”

ถ้าให้รัฐสวัสดิการเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่ของสถาบันครอบครัว ต้องย้อนไปจุดเริ่มต้นของ รัฐสวัสดิการแบบตะวันตก รัฐสวัสดิการเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างมากในศตวรรษที่ 19 ของยุโรป ช่วงนั้นระบบทุนนิยมทำลายทุกอย่าง ทำลายความสัมพันธ์ สถาบันครอบครัวพังทลายลงไป เพราะพ่อแม่สามารถส่งเด็ก 5 ขวบไปทำงานในเหมืองหรือโรงงานได้ ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นค่านิยม สังคมตอนนั้น ให้ใช้แรงงานเด็กแล้วเอาเงินมาให้พ่อแม่ ซึ่งนายจ้างชอบที่จะใช้แรงงานเด็ก เพราะไม่หือ ไม่อือ กินข้าวน้อยกว่า ค่าแรงน้อยกว่า ความสัมพันธ์ในสังคมแย่ เพราะมีสงครามระหว่างชนชั้น เกิดความขัดแย้ง ขูดรีดแรงงาน

นักวิชาการ นักปรัชญา จึงมีความคิดที่ว่า เราต้องสร้างสังคมแบบใหม่ ให้คนอยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง สร้างความสัมพันธ์โดยใช้ตัวรัฐเข้ามาแบบ Top Down เพราะสร้างจากล่างขึ้นบนแบบขงจื๊อไม่ได้แล้ว เพราะสถาบันครอบครัวพังไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คงมีแต่รัฐที่จะกำหนดให้สร้างสถาบันครอบครัวขึ้นมาใหม่ แล้วชุดความคิดไหนบ้างเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดิการ

แนวคิดที่ 1 ในศตวรรษที่ 19 มีนักปรัชญาเด่น ๆ อย่างอิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) ที่เน้นเรื่องเหตุผลเป็นหลัก ไม่ให้อารมณ์มากระทบความคิด ตัวอย่างถ้าคุณเชื่อในเรื่องเหตุผลทางด้านศีลธรรม ถ้ามีคนตกน้ำอยู่ 2 คน คนหนึ่งคือแม่ อีกคนคือคนแปลกหน้า ถ้าคุณเชื่อใน Kant คุณต้องทำให้ 2 คนนี้มีสถานะเท่ากัน ไม่สามารถเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาตัดสิน ถ้าแนวความคิดนี้รวมกับแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม ถ้าคนที่ 2 อยู่ในวัยแรงงาน เขาสามารถสร้างประโยชน์ได้งอกเงย คุณก็เลือกช่วยคนที่ 2 คิดเป็นเหตุผลมากจนปราศจากความรู้สึก

แนวคิดที่ 2 เป็นช่วงที่ Marxism หรือสังคมนิยมขึ้นมาสูง กลุ่มนี้เชื่อว่าโลกของวัตถุนิยมที่เราสามารถสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะเป็นตัวกำหนดโลกของจิตวิญญาณ

แนวคิดที่ 3 คือแนวคิดของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) ทฤษฎี Evolution มองสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการ ถ้าเป็นสายทุนนิยมก็จะตีความไปว่าแข็งแรงกว่าก็จะอยู่รอดได้ ถ้าเป็นสายสังคมนิยมจะมองว่า ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งคนอายุเยอะ

ทั้ง 3 แนวคิดคือการเกิดรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกขึ้นมา

“ความกตัญญู” ไม่ได้หายไป แต่เงื่อนไขสังคมต่างหากที่เปลี่ยนแปลง

(อ้างอิง ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่มีนโยบายเรื่องการมีลูกคนเดียว ตัวนโยบายมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ในครอบครัวแต่ละครอบครัวมีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย 6 คน แล้วทั้ง 6 คนอายุยืนหมดเลย เพราะระบบสุขภาพดี แต่ลูกมีคนเดียว เมื่อก่อนอาจจะมีลูกหลายคนช่วยกันทำงาน แต่ถ้าพูดถึงความกตัญญูในยุคนี้ที่สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ครอบครัวมี 6 คน ให้ลูก 1 คนแบกภาระคนเดียวไหวหรือไม่? ความกตัญญูจึงไม่ได้ลดลงเพราะเขาไม่กตัญญู แต่ลดลงเพราะสภาพสังคมหรือไม่? เพราะฉะนั้นความกตัญญูมันเป็นเงื่อนไขทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ และหายไปได้ ความกตัญญูไม่ใช่ของที่แค่สอนกันในทางศาสนา จะทำอย่างไรให้ความกตัญญูรู้คุณอยู่ได้ในสังคม )

เห็นด้วยกับ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่องความกตัญญูควรเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่ว่าเงื่อนไข หรือสภาพแวดล้อมอาจจะทำให้การแสดงความกตัญญูมันยากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำไม่ว่าคุณจะอยู่ในระบบไหน มันสามารถทำลายความสัมพันธ์ของคนได้ทั้งนั้น ทำลายสถาบันครอบครัว ได้ทั้งนั้น ปัจจุบันที่เราเป็นอยู่ในระบบทุนนิยมที่เพิ่มขึ้น การแสดงความกตัญญูออกมาในชีวิตมันยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความรู้สึกที่อยากจะสร้างสายสัมพันธ์อยากจะยังให้คงอยู่ แต่ข้อบีบคั้นไม่ให้เราทำได้ก็ต้องมาดูทีละอย่างว่าจะทำอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันออกแบบขงจื๊อ หรือสังคมตะวันตกแบบยุโรป ต่างก็พบข้อจำกัดเช่นกันในลักษณะต่างกันที่ทำให้ทุกวันนี้ความกตัญญูทำได้ยากขึ้น อย่างข้อจำกัดของขงจื๊อคือ หากไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย เป็นข้อบังคับทางศีลธรรม การที่จะแสดงความกตัญญูต้องสมัครใจ ถ้าไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ ก็ไม่ผิดกฎหมายข้อไหน ไม่มีบทลงโทษบุตรที่ไม่กตัญญู อย่างมากสุดคุณก็โดนประณามจากสังคมรอบข้าง ข้อจำกัดอีกประการคือไม่มีเครื่องมือที่มาช่วยกระจายรายได้จากครอบครัวมั่งคั่งไปที่ครอบครัวยากจนได้ ถ้าจนก็ช่วยเหลือครอบครัวได้เท่านี้ เอาเงินคนรวยมาช่วยไม่ได้ เพราะไม่ใช่ภาษี ถ้าเป็นภาษีจากรัฐยังสามารถใช้เครื่องมือมากระจายความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัวเยอะมาก เป็นสิ่งส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเกิดมาจน เป็นโอกาสยากมากที่จะหลุดพ้นความจนได้ เมื่อถูกบีบคั้นว่าขาดทุนทรัพย์ ขาดเวลาที่จะมาช่วยเหลือพ่อแม่ ลูกอาจจะรู้สึกว่า เราต้องเอาตัวรอดก่อน ยกหน้าที่นี้ให้คนอื่นเข้ามาแทน

ฝั่งตะวันตก ที่วิธีการสร้างความกตัญญูจากบนลงล่าง มีปัญหาคือ การที่รัฐบังคับให้ทุกคนมีความกตัญญูไม่สำเร็จ เพราะไม่สามารถสร้างความรู้สึกได้ ทุกคนรู้สึกว่าเหมือนถูกบังคับ ตัวอย่างกฎหมายสิทธิเด็ก ที่บังคับว่าพ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูก ต้องให้การศึกษา ถ้าไม่ทำก็ผิดกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันเราไม่มีสิทธิพ่อแม่ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าลูกต้องช่วยเหลือพ่อแม่ กลายเป็นลักษณะการให้ฝ่ายเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความกตัญญูจะลดน้อยลงไป ซึ่งรัฐสวัสดิการพยายามกลับมาสร้างความสัมพันธ์ครอบครัวใหม่อีกครั้ง โดยที่รัฐมาเป็นตัวช่วย ลักษณะปัญหาทุนนิยม การสร้างความรู้สึกกตัญญู พ่อ-แม่-ลูก คล้ายว่าถูกบังคับตามกฎหมาย การตอบแทนความกตัญญูที่ลูกได้รับ ก็ไม่ใช่ลักษณะที่พ่อแม่ได้รับ เป็นลักษณะที่เอาเงินมาช่วยเหลือพ่อแม่โดยตรง แต่ต้องช่วยเหลือพ่อแม่ทุกคนในประเทศด้วยการจ่ายภาษี

“ลูกได้รับสิ่งที่ดี ๆ จากพ่อแม่ จากรัฐ แล้วโตขึ้นไปทำงาน หน้าที่ของลูกคือทำงานจ่ายภาษีให้รัฐ รัฐจะเอาเงินไปจัดการสวัสดิการสังคม แจกจ่ายให้คนอื่น ๆ พ่อแม่ทุกคนในประเทศ จึงไม่ได้หมายความว่าการเกิดรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกจะไปทำลายความกตัญญู แต่ความกตัญญูถูกขยายขอบเขตไปยังคนอื่น ที่ไม่ใช่แค่คนในครอบครัวเรา”

รัฐสวัสดิการ ไม่สามารถแทนที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวได้?

การที่เรามีรัฐสวัสดิการที่ดี แน่นอนว่าสามารถช่วยลดภาวะพึ่งพิงได้ เหมือนมี safety net แต่รัฐสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้หรือ? แต่ถ้าได้ รัฐควรจะทำไหม? หรือความรัก ความกตัญญูควรเป็นเรื่องปัจเจก?

หรือความสัมพันธ์จะต้องเป็นครอบครัวสร้างกันเอง โดยรัฐไม่เข้ามาบังคับ ตัวอย่าง The Truman Show ที่ทุก ๆ อย่างคือการจัดฉาก เปรียบผู้กำกับเหมือนรัฐที่บังคับให้คนมีความรู้สึกต่อกันจริง ๆ ได้หรือ หรือสิ่งที่สร้างมาคือการหลอกลวง สิ่งนี้คือข้อระวัง เมื่อบอกว่าจะให้รัฐเข้ามาจัดการพื้นที่ส่วนตัวของความสัมพันธ์ นี่คือปัญหาที่หากรัฐสวัสดิการสามารถช่วยได้ ส่วนตัวมองว่ารัฐสวัสดิการช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่การสร้างความสัมพันธ์กับใครคุณต้องรู้สึกจริง ๆ ความกตัญญูต้องรู้สึกจริง

“การที่คุณโอนเงินไปให้พ่อแม่ แต่ไม่ได้มีโอกาสไปเจอ ต้องถามว่ารู้สึกผูกพันจริงหรือ? กตัญญูจริงหรือ?”

ข้อด้อยของระบบทุนนิยม ที่เชื่อว่าแรงงานสามารถทดแทนกันได้ ถ้าทำงานได้เงินเยอะ ก็หาเงินแล้วมาจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแลแทน จ้างพยาบาลมาดูแล ส่งพ่อแม่ไปบ้านพักคนชรา ซึ่งระบบทุนนิยมมองเรื่องนี้ไม่ต่างกัน แต่ในเรื่องความรู้สึกแทนกันได้ไหม?

หากมองรัฐสวัสดิการในลักษณะของนโยบาย การลงมือปฏิบัติจริงอาจก่อให้เกิดผลที่ไม่คาดคิดตามมาได้ เช่น การเอาสิทธิประโยชน์ไปผูกติดกับผู้ชาย ให้สิทธิประโยชน์แก่ ภรรยา-บุตร อาจสร้างปรากฏการณ์ความรุนแรงในครอบครัว (อาจอ้างว่าถ้าไม่ได้พ่อทำงาน ก็ไม่มีเงิน ไม่มีสิทธิ แล้วนำไปสู่ความรุนแรง กดขี่) ดังนั้น นโยบาย หรือรัฐสวัสดิการต้องติดตามผลและนำไปปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ณ ตอนนั้นด้วย

ส่องซีรีส์ สะท้อนแนวคิด “ขงจื๊อ” ฝังรากลึกในสังคมเกาหลีใต้

แก่นสำคัญของแนวคิดขงจื๊อคือความเชื่อที่ว่า “สังคมคือตัวแปรสำคัญของทุกสิ่ง สังคมจะดำรงได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในทุกหน่วยของสังคมรู้จักหน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติตามหน้าที่ที่มีอย่างเคร่งครัด” โดยขงจื๊อได้จัดความสัมพันธ์และกำหนดหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกันดังนี้

  1. ผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง โดยผู้ปกครองต้องปกครองผู้ใต้ปกครองอย่างเป็นธรรมและให้เกียรติ ในขณะที่ผู้ใต้ปกครองต้องจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง
  2. บิดามารดากับบุตรและธิดา โดยบิดามารดาต้องให้ความเมตตากรุณา ส่วนบุตรธิดาต้องเชื่อฟัง และมีความกตัญญูกตเวที
  3. สามีกับภรรยา โดยสามีต้องมีคุณธรรม ขณะที่ภรรยาก็ต้องเชื่อฟังสามี
  4. พี่กับน้อง โดยพี่ต้องประพฤติตัวให้สมกับความเป็นพี่ ส่วนน้องก็ต้องเคารพเชื่อฟังพี่
  5. เพื่อนกับเพื่อน โดยเพื่อนต้องสร้างความไว้วางใจให้แก่กันและต้องสร้างความเชื่อใจกันได้

เมื่อมองเรื่องนี้ผ่านฉากกินข้าวในซีรีส์หลาย ๆ เรื่อง ฉากนี้สามารถอธิบายความหมายของสถาบันครอบครัวได้หมด แม้ว่าจะทะเลาะกับคนในครอบครัว แต่อย่างไรก็ต้องมานั่งกินข้าวด้วยกัน ต้องมาไกล่เกลี่ยความรู้สึกกันบนโต๊ะอาหาร สุดท้ายแล้วเรื่องครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด

อย่าง The Good Bad Mother แม่ดี แม่ร้าย ซีรีส์ที่พยายามสื่อ ‘ปัญหาในสังคมครอบครัว’ ที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของสถาบันครอบครัวผ่านสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกออกมาได้ค่อนข้างลึกซึ้ง

Train to Busan กับแนวคิดขงจื๊อเรื่องการทำหน้าที่ ย้ำเตือนในภาวะที่สังคมเผชิญวิกฤต ต้องรู้จักหน้าที่ตนเอง ตระหนักต่อบทบาทของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อที่ต้องปกป้องลูกสาว สามีที่ต้องปกป้องภรรยา

“ขอปิดด้วยข้อความจาก เรื่อง Reply 1988 “บางครั้งครอบครัวอาจจะสร้างบาดแผลให้เรา แต่ครอบครัวก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะมาเยียวยาเรา ตอนที่เราไม่เหลือใครก็ยังจะมีครอบครัว“

เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดค่านิยม ปลูกฝังความเชื่อ สร้างเสริมทัศนคติ เปรียบเสมือนจักรกลชั้นแรกที่ทำหน้าที่หล่อหลอม แม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่ครอบครัวจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย…ที่พร้อมจะเปิดต้อนรับเสมอ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์