“หากปล่อยให้การใช้ทรัพยากรควบคุมไม่ได้ เขาก็เพิกถอน หลายพื้นที่ทั่วโลกก็ถูกถอน ถือเป็นเรื่องขายหน้า ถ้าเราไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาได้”
เป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาที่ ‘อนรรฆ พัฒนวิบูลย์’ อนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ ตอบในประเด็นที่ The Active ตั้งคำถามว่า กังวลหรือไม่ถ้าสักวัน ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะถูกถอดถอนจากมรดกโลกทางธรรมชาติ ?
คำว่า “ปล่อยให้ใช้ทรัพยากรแบบควบคุมไม่ได้” คือ หลักใหญ่ใจความที่อนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ ต้องการสื่อ เพราะเชื่อว่า นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตกอยู่บนความเสี่ยง
ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี 2548 ที่ช่วงหลายปีต่อมาคณะกรรมการมรดกโลก ก็เริ่มมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งการลักลอบตัดไม้พะยูง การขยายตัวของรีสอร์ท การขยายถนน การล่าสัตว์ รวมถึงปัญหาใหญ่ที่อยู่ในลิสต์การพูดคุยมาตลอด คือ โครงการสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่
อนุกรรมการมรดกโลกฯ อธิบายต่อว่า ทุกเรื่องที่ถูกท้วงติง รัฐบาลไทยก็เร่งแก้ปัญหาให้หมด อย่างเรื่องไม้พะยูง ก็จะมีระบบลาดตระเวนอย่างเข้มแข็ง เพื่อป้องกันการลักลอบตัด ซึ่งก็แก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง การลักลอบตัดน้อยลง
เรื่องขยายถนนสาย 304 รัฐบาลก็ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ทำอุโมงค์ทางเชื่อมป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-อุทยานแห่งชาติทับลาน ให้สัตว์เดินข้าม จนเป็นที่ยอมรับว่าจริงจังกับการแก้ปัญหา จนมาถึงเรื่องการรุกของรีสอร์ท ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งก็จัดการ รื้อถอนอย่างเข้มข้น
พอมาถึงเรื่องเขื่อน ที่พบว่ามีโครงการทั้งเก่า และใหม่ผุดขึ้นมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 จุด ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จนที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน เมื่อปี 2564 มีมติแจ้งเตือนให้ไทย ยกเลิกการโครงการพัฒนาในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทั้งหมด แล้วอาศัยกลไกการวิเคราะห์ทั้งระบบ หรือที่เรียกว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มาเป็นคำตอบ ว่า ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จำเป็นต้องมีเขื่อนหรือไม่ แต่จนแล้วจนรอด กระบวนการ SEA ยังไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้าม หลายโครงการเขื่อน ก็ยังไม่หยุดเดินหน้า
“ยังไงก็ต้องทำ SEA ถ้าไม่ทำจะเป็นประเด็นขัดแย้งสูงมาก และอาจเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนมรดกโลกทางธรรมชาติ ถ้าเราไม่อยากเสียภาพพจน์ในระดับนานาชาติ เรื่องนี้ไม่ควรให้เกิดขึ้น”
อนรรฆ พัฒนวิบูลย์
เขื่อนคลองมะเดื่อ ไปต่อไม่รอ SEA ?
SEA ยังไม่ทันเป็นคำตอบ แต่ผู้คนที่บ้านคลองมะเดื่อ ต.สาริกา จ.นครนายก พวกเขากำลังเกิดความกังวลต่อเขื่อนที่กำลังจะเข้ามา
ภูเขาสองลูกวางตัวแนวยาวคู่ขนานกัน มีพื้นที่ราบตามแนวหุบเขา ชายขอบป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีลำน้ำจากคลองมะเดื่อไหลผ่าน นี่เป็นลักษณะทางกายภาพ ที่กรมชลประทาน ศึกษาแล้วประเมินว่า เหมาะสมกับการเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนี้เป็น “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครนายก” มูลค่าก่อสร้างไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ตามคำเรียกของโครงการ หรือ เขื่อนคลองมะเดื่อ ที่ชาวบ้านเรียกขาน แนวสันเขื่อนยาว 705 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 80 เมตร เมื่อปิดกั้นคลองมะเดื่อ จะทำให้มีความจุกักเก็บน้ำ อยู่ที่ 85.17 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำกักเก็บสูงสุด กินพื้นที่ 1,595 ไร่
กรมชลประทาน คาดการณ์ ว่า อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จะสร้างประโยชน์ทางตรงให้กับพื้นที่ชลประทานใหม่ กว่า 23,000 ไร่ เพิ่มทางเลือกการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง พื้นที่กว่า 37,000 ไร่ แถมยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค, บรรเทาอุทกภัย, ช่วยรักษาระบบนิเวศ, แก้ปัญหาดินเปรี้ยว ในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายก
ส่วนประโยชน์ทางอ้อม คือเพิ่มแหล่งน้ำให้สัตว์ป่า เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่า สร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ และป้องกันการเข้าถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ด้วย
ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวน แก้ไข เพิ่มเติม รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อส่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารอบที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะทำเสร็จภายในปลายปีนี้ รวมทั้งเดินหน้ากระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เช่น การขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 1,116 ไร่ การเดินหน้าจ่ายค่าชดเชย และหากไม่มีอะไรผิดพลาด กรมชลประทาน ตั้งเป้าดำเนินการก่อสร้างให้ได้ ภายในปี 2569-2573
เขื่อนคลองมะเดื่อ : ความคุ้มค่า กับสิ่งที่ต้องแลก ?
ประโยชน์ของเขื่อนคลองมะเดื่อ กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนัก ว่าคุ้มหรือไม่ถ้าต้องแลกกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรที่จะสูญเสียไปจากการสร้างเขื่อน แล้วเขื่อนสอดคล้องกับความจำเป็นใช้น้ำในพื้นที่แค่ไหน? มีเขื่อนขุนด่านปราการชลอยู่แล้วจะสร้างเขื่อนอีกทำไม?
คำถามที่เกิดขึ้น สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ชี้แจงว่า โครงการเขื่อนคลองมะเดื่อ เป็นคนละพื้นที่ลุ่มย่อยกับเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งที่ผ่านมาศักยภาพของเขื่อนขุนด่านฯ ก็รับผิดชอบพื้นที่ตัวเองหนักเพียงพอแล้ว ดังนั้นจำเป็นที่ต้องมีกำลังมาเสริม เพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้น้ำให้มากขึ้น นั่นคือโครงการที่คลองมะเดื่อ ที่จะเพิ่มการดูแลพื้นที่ทั้งในและนอกเขตชลประทานได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่
“ลองคิดง่าย ๆ ถ้ามองตามน้ำไหล เขื่อนขุนด่านฯ อยู่ทางซ้าย คลองมะเดื่ออยู่ขวา ตอนนี้ ทางซ้ายสมบูรณ์แล้ว แต่ทางขวายังไม่สมบูรณ์ วันนี้เราเลยพิจารณาที่คลองมะเดื่อ”
สุรชาติ มาลาศรี
ส่วนที่กังวลเรื่องกระทบพื้นที่ป่ามรดกโลกทางธรรมชาติดงพญาเย็นเขาใหญ่นั้น ผู้แทนจากกรมชลประทาน ยืนยันว่า การพิจารณาพื้นที่แม้อยู่ในเขตป่าก็จริง แต่ไม่ได้อยู่กลางป่า บริเวณที่จะสร้างอยู่ชายขอบของป่าเขาใหญ่ กินพื้นที่แค่ 0.03% จากพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ถือว่าน้อยมาก
เขื่อน : สิ้นคุณค่าคลองมะเดื่อ
กรมชลประทาน ชี้แจง ระบุเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ แต่ก็คงปฏิเสธได้ยากว่า การพัฒนาโครงการระดับนี้ ย่อมเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับเสียงคัดค้าน เพราะถ้าพิจารณาเฉพาะศักยภาพเชิงพื้นที่ ต้องยอมรับว่า คลองมะเดื่อ คือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีมานี้ แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวบางส่วนไม่ต้องการเห็นเขื่อนเกิดขึ้นที่คลองมะเดื่อ
เพราะจากสภาพพื้นที่ที่ยังเป็นธรรมชาติค่อนข้างสูง จึงท้าทายสำหรับนักท่องเที่ยวสายลุย สายแคมป์ อย่างไม่ต้องสงสัย
พิษณุ แก้วสกุณี พร้อมกับเพื่อน ๆ มาจาก จ.นนทบุรี ถือเป็นนักท่องเที่ยวขาประจำที่หลงเสน่ห์ของคลองมะเดื่อ พวกเขาที่นี่กันไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งแล้ว เขาติดใจธรรมชาติ ความเงียบสงบ ยอมรับว่า เสียดาย หากอนาคตจะมีเขื่อนเกิดขึ้น
“เราหาธรรมชาติใกล้กรุเทพฯ แบบนี้ไม่ได้ที่ไหนอีกแล้ว มาที่นี่เหมือนได้ชาร์ตพลัง เหมือนปิดสวิตช์ตัวเอง เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ได้ตัดขาดโลกภายนอกไปในตัว ทำให้ได้อยู่กับธรรมชาติอย่างเต็มที่ ถ้าอนาคตที่นี่เปลี่ยนไป มีเขื่อนเข้ามาก็เสียดายนะ ถ้าเป็นไปได้จริง ๆ เก็บธรรมชาติแบบนี้เอาไว้เถอะ ไม่จำเป็นก็อย่าสร้างเขื่อนเลยครับ”
พิษณุ แก้วสกุณี
พื้นที่ริมคลองมะเดื่อ สร้างอาชีพ สร้างธุรกิจท่องเที่ยวต่าง ๆ ตลอดทางเข้าคลองมะเดื่อ ยังมีร้านค้าชุมชน ที่วางขายสินค้า ผลผลิตจากในพื้นที่ทั้งที่ปลูกเอง และชาวบ้านเก็บหาจากในป่า สะท้อนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่ช่วยเกื้อกูลให้ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัย สร้างรายได้จากต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่
เขื่อน : จุดเริ่มต้นขัดแย้งคนกับช้าง
ถ้าเขื่อนคลองมะเดื่อเกิดขึ้น แน่นอนไม่ได้กระทบแค่คน แต่สัตว์ป่า เองก็หนีไม่พ้นเช่นกัน อย่างช้างป่า ถ้าลองอ้างอิงข้อมูลผลศึกษาเรื่อง “ช้างป่ากับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แหล่งอาศัยจากอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ” ยิ่งทำให้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับช้างป่า ถ้ามีเขื่อนคลองมะเดื่อ
จากข้อมูลระบุว่า ช้างป่าที่หากินอยู่บริเวณคลองมะเดื่อ มีอยู่ประมาณ 40 ตัว พวกมันหากินตามแนวชายป่าเขาใหญ่ อยู่ทั้งในเขต และนอกเขตป่าอนุรักษ์
จากภาพ จุดที่ขยายให้เห็นในวงกลม คือ แผนที่คลองมะเดื่อ จุดแดงเข้ม ๆ คือ จุดที่งานวิจัยชี้ ว่า มีช้างหากินอยู่ประจำ จะสังเกตว่า ไม่ใช่แค่ที่คลองมะเดื่อ แต่พวกมันยังหากินไปตามแนวชายป่าในอีกหลายจุดด้วย
แต่ถ้าเป็นภาพด้านขวา คือกรณีสร้างเขื่อน จะเห็นว่า จุดแดง ๆ ตามแนวขอบที่เคยบ่งบอกว่าช้างหากินอยู่นั้นหายไป เพราะต้องเปลี่ยนเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วม ทำให้ช้างไม่สามารถหากินในจุดเดิมได้อีกต่อไป พวกมันต้องเปลี่ยนจุดหากินใหม่ ๆ อาจลงมาถึงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ช้างอาจต้องย้ายที่พักนอน พวกมันต้องเดินหากินไกลขึ้น และแน่นอน อาจทำให้ช้างเข้าไปหากินในพื้นที่เกษตรในชุมชน นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง คนกับช้าง
อะไรหายไปใน EIA คลองมะเดื่อ
ผลกระทบที่เกิดกับช้างที่คลองมะเดื่อ ไม่ใช่แค่สิ่งที่พบในงานวิจัย แต่ยังเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ข้อสังเกต ที่ทำให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือ คชก. มีมติให้ กรมชลประทาน ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลใน EIA โครงการฯ ตัวอย่างเช่น
การขอให้เพิ่มเติมการศึกษา เปรียบเทียบการเลือกที่ตั้งโครงการอีกครั้ง เพื่อลดผลกระทบต่อคน และป่าไม้ ให้น้อยที่สุด
ด้านทรัพยากรดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และเกษตรกรรม เช่น ให้ปรับแผนที่แสดงขอบเขตการใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แสดงเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวเท่านั้น
ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มเติมการศึกษาผลกระทบต่อรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยว
ด้านเศรษฐกิจสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีบางประเด็นที่ขอให้ทบทวน และจัดทำ Focus Group ใหม่อีกครั้ง
ด้านสุขภาพอนามัยและการบริการสาธารณสุข ก็ขอให้ตรวจสอบ ทบทวนการประเมินผลกระทบเรื่องฝุ่น เสียง ความสั่นสะเทือน
ย้ำว่า นี่แค่รายละเอียดบางส่วนที่หยิบยกมานำเสนอเท่านั้น กระบวนการ EIA ที่เต็มไปด้วยข้อสังเกตแบบนี้ ทางฝั่งภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้าน เชื่อว่า เป็นผลจากการจัดทำรายงาน ที่ไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลจริงในพื้นที่อย่างรอบด้านมากพอ ที่สำคัญยิ่งทำให้รายงาน EIA ขาดความเชื่อมั่น
เขื่อน : ปัจจัยเสี่ยงถูกถอนมรดกโลก ?
คลองมะเดื่อ เป็นเพียงจุดเดียวเท่านั้น ที่ทำให้เห็นความพยายามผลักดันของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยังมีอีกหลายจุด หากอ้างอิงข้อมูลจากรายงานของกรมชลประทาน พบว่า มีโครงการเขื่อน-อ่างเก็บน้ำ ผุดขึ้นไม่น้อยกว่า 7 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จ.นครนายก, อ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา จ.สระบุรี, อ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว , ลำพระยาธาร , ใสน้อย-ใสใหญ่ , คลองวังมืด จ.ปราจีนบุรี รวมถึง อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว
สอดคล้องกับข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ยังมีอีก 3 โครงการที่เพิ่มเข้ามา คือ อ่างเก็บน้ำห้วยชัน, ทับลาน และยางหมู่ รวมแล้ว ก็มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไม่น้อยกว่า 10 แห่งเลยทีเดียว
ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ตามเกณฑ์พื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แน่นอนว่า กว่าจะเป็นป่ามรดกโลกไม่ง่าย การมีโครงการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ประเภทนี้ จึงถือเป็นภัยคุกคาม ที่อาจทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยง กับการถูกตั้งคำถามจากนานาชาติ และที่เลวร้ายสุด ๆ อาจถึงขั้นถูกเพิกถอนมรดกโลกได้เช่นกัน
SEA ความหวังหยุดเขื่อนในป่ามรดกโลก ?
ถ้าย้อนกลับไปตอนต้น จะเห็นว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการมรดกโลก เคยเตือนไทยมาแล้วครั้งหนึ่งให้หยุดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งหมดในป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แล้วให้เริ่มกระบวนการศึกษา SEA ให้ได้คำตอบก่อนว่า เขื่อนจำเป็นต้องสร้างจริง ๆ หรือไม่ แต่ในเมื่อกลไก SEA ยังนิ่งอยู่ และโครงการต่าง ๆ ก็ไม่หยุดเดินหน้าตามที่คณะกรรมการมรดกโลกเตือน
ดาราพร ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติและพื้นที่สงวนชีวมณฑล กองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงเป็นห่วงในประเด็นนี้ เพราะเป็นประเด็นที่คณะกรรมการมรดกโลก ติดตามใกล้ชิด ชัดเจนที่สุดจากในเอกสารร่างมติคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมาแล้ว ซึ่งเตรียมประชุมกันที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย 10-25 กันยายนนี้ โดยเฉพาะในวาระที่ 7B.19 ข้อที่ 6 ระบุไว้ชัดเจนว่า การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในแหล่งมรดกโลกนั้น ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสถานะมรดกโลก จึงขอให้รัฐภาคี ในที่นี้ คือ ประเทศไทย พิจารณาดังนี้
1. ขอข้อมูลทางวิชาการในเบื้องต้นจาก “องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ” หรือ IUCN ต่อการประเมิน SEA
2. ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในขอบเขตของแหล่งมรดกโลก โดยเป็นเอกเทศจากผลการประเมิน SEA
3. ขอให้สร้างความเชื่อมั่นว่า การชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อน จะยังคงมีผลบังคับใช้ จนกว่าผลการประเมิน SEA จะเสร็จสมบูรณ์ และได้รับการทบทวนเอกสารดังกล่าว เพื่อประเมินผลกระทบต่อ คุณค่าความเป็นสากลที่โดดเด่น หรือ OUV โดย IUCN
จากร่างมติคณะกรรมการมรดกโลก ดังกล่าว ถือเป็นการสื่อสารอย่างชัดเจนให้ไทยต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะกลไก SEA ก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่มรดกโลก เพราะไม่เช่นนั้นอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเพ่งเล็ง ไปจนถึงกรณีเลวร้ายที่สุด คือ อาจถูกถอดถอนจากมรดกโลกก็ได้ ถ้าไทยยังปล่อยปละละเลย และยังผลักดันโครงการกันต่อไป
แน่นอนว่าเจ้าของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างกรมชลประทาน ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น โดยอ้างเหตุผลเรื่องการจัดหา และบริหารจัดการน้ำ กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ จึงถูกมองว่า เอื้อให้กับโครงการเสียเป็นส่วนใหญ่
ทางฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่อยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน ก็พยายามปกป้องพื้นที่ และมีข้อคิดเห็นที่โต้แย้งในกระบวนการศึกษา EIA เพื่อต้องการให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด รอบด้านให้มากที่สุด
ดังนั้นการเดินหน้ากลไก SEA ที่จำเป็นต้องศึกษาลงลึกให้ถึงมิติภาพรวมเชิงพื้นที่ ลุ่มน้ำ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ตามที่คณะกรรมการมรดกโลกแนะนำ
คมกริช เศรษบุบผา ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ เชื่อว่า กลไกนี้จะช่วยให้ทุกฝ่ายไม่ตั้งข้อสังเกตถึงการศึกษาข้อมูลของกันและกัน เพราะต้องร่วมกันทำ ได้แชร์ข้อมูลการศึกษา งานวิชาการร่วมกัน เพื่อให้การพิจารณาความจำเป็นของโครงการทำได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด
“การจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในป่า หน่วยงานที่รับผิดชอบ จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นเอกชน มาจัดทำรายงานผลกระทบ ที่บางครั้งผลการศึกษาออกมา เราก็มองว่าข้อมูลความน่าเชื่อถือมันขัดกัน เพราะบริษัทที่ปรึกษาเน้นข้อมูลพุ่งเป้าไปที่การสร้างอย่างเดียว จึงเป็นสิ่งที่ครางแครงใจ ดังนั้น SEA ที่ต้องทำกันทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานพัฒนาโครงการ หรือ หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ ก็จะต้องทำร่วมกัน ตั้งนักวิชาการของแต่ละหน่วยงานมาจับเรื่องนี้จริง ๆ กรมอุทยานฯ ยอมรับได้ถ้าผล SEA ออกมาแล้วว่าจำเป็นต้องสร้าง แต่การที่จะสร้างก็ต้องให้คณะกรรมการมรดกโลก และ IUCN รับได้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าพื้นที่สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ จะใช้แค่พันไร่ แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าพื้นที่แค่นั้นจะไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่มีสปีชีส์สำคัญอาศัยอยู่ เพราะป่ากว้างใหญ่ เราเองก็ยังศึกษาไม่ครบเลย ใครจะไปรู้ว่าความเปราะบางของระบบนิเวศจะอยู่ตรงไหน SEA จึงเป็นทางออกสำคัญ เพื่อให้มีนักวิชาการจากหลายหน่วยงาน ทั้งด้านการพัฒนา และการอนุรักษ์ มาทำงานด้วยกัน”
คมกริช เศรษบุบผา
ในวันที่ไทยตั้งเป้าต้องเพิ่มป่า พื้นที่สีเขียวให้ได้ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจเป็นเป้าหมายที่วางไว้สูงเกินไปหรือไม่ เพราะหากเทียบกับความพยายามรุกพื้นที่ป่าด้วยโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ กลายเป็นการขับเคลื่อนที่ดูย้อนแย้งกับสิ่งที่คาดหวังเอาไว้
ถ้าทุกโครงการถูกอนุมัติ คำถามคือพื้นที่ป่าจะหายไปอีกเท่าไร ทั้งที่สถานการณ์ต่าง ๆ บีบบังคับให้เราต้องหันกลับมามองว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถคงสภาพพื้นที่สีเขียวไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ท่ามกลางภัยคุกคามด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สภาวะโลกเดือด เรายังจำเป็นต้องผลักดันโครงการพัฒนาในเขตป่าอีกหรือไม่ แล้วจะคุ้มไหม ? หากสักวันการพัฒนาที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะผลักให้ไทยต้องสูญเสียผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไปตลอดกาล