บทเรียนชีวิตอร่อยปากลำบากไต สู่ แผนลดโซเดียมแห่งชาติ

สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค. ของทุกปีเป็น “วันไตโลก“
รู้ รักษา “ไต” ก่อนสายเกินแก้

“ไม่มีวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ในปฏิทินชีวิตพี่หายไปเลย มอบให้การฟอกไต มาถึงวันนี้ฟอกไตมาแล้ว 10 ปีแล้ว เขียนพินัยกรรมก่อนตายห้ามยื้อชีวิตอีกแล้ว เพราะฟอกไตคือการยื้อชีวิต แต่เราไม่คิดว่ามันจะยื้อมาได้เป็นปีเป็นชาติ นึกว่าเป็นไม่หายเดี๋ยวก็ตาย“ 

คำพูดตัดพ้อชีวิตของ ศิริพร เจริญโภคราช อายุ 56 ปี ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ต้องเดินทางไปฟอกไต ที่ศูนย์ฟอกไตเทียม มูลนิธิร่มไทร 3 วันต่อสัปดาห์แม้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะใช้สิทธิประกันสังคม แต่ต้องเสียค่าเดินทางด้วยรถแท็กซีไปกลับเดือนละเกือบ 3,000 บาท 

ศิริพร เจริญโภคราช ขณะกำลังฟอกไต

การฟอกไตแต่ละครั้ง กินเวลา 4 ชั่วโมง และทุกครั้งหลังฟอกไตเสร็จเธอจะมีอ่อนเพลียจนเดินแทบไม่ไหว การปรับตัวช่วงแรกหลังต้องกลายเป็นผู้ป่วยไตวายทำให้ ศิริพรเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ในเมื่อยังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็ต้องดิ้นรน และเมื่อป่วยก็ต้องลาออกจากงาน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น จึงต้องลดขนาดชีวิตลงเรื่อยๆ ด้วยการขายสินทรัพย์บางอย่าง และมาอยู่ห้องเช่าเล็กๆ ในเคหะร่มเกล้า พร้อมจ้างผู้ดูแล 

“ซ้อมนอนโลงไว้แล้ว ทุกครั้งที่ไปหาหมอตามนัดเพื่อเจาะเลือด  หมอบอกว่าค่าเลือดดีมากเลย คุมอาหารได้เก่งมาก ที่คุมอาหารไม่ใช่ว่าอยากคุม แต่ถ้ากินตามใจปาก จะเกิดอาการทันที มันทรมานมาก อาการเหมือนคนจมน้ำ” ศิริพร บอกกับ The Active พลางบ่นว่าอยากกินส้มตำรสเด็ด แต่ก็กินไม่ได้เหมือนก่อน หากจะกินต้องตำเองไม่ใส่ชูรส ใส่น้ำปลาได้นิดเดียว

ก่อนป่วย ศิริพร เคยเป็นผู้จัดการสายงานธุรกิจโลจิสติกส์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ งานที่หนักและต้องออนไทม์ตลอดเวลา ทำให้เธอไม่สามารถเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ บ่อยครั้งเธอตามใจตัวเองด้วยการกินอาหารอร่อยที่รสจัด มีผงชูรสสูง เหมือนให้รางวัลกับชีวิตหลังจากทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย ใช้ชีวิตแบบนี้มาทุกๆ วัน กระทั่งเริ่มป่วยเป็นความดันโลหิตสูง ตามด้วยหลอดเลือดหัวใจตีบ พร้อมกับโรคเบาหวานในวัย 46 ปี จนในที่สุดน้ำท่วมปอด เกิดภาวะไตวาย จนต้องฟอกไตตลอดชีวิต

ศิริพร อยากให้เรื่องราวชีวิตของตัวเองเป็นบทเรียนให้ใครหลายคนได้ระมัดระวังอาหารการกินในชีวิตประจำวัน เพราะความเสี่ยงเล็กน้อยอย่างการกินตามใจปาก อาจนำมาสู่การเจ็บป่วยที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนไปตลอดชีวิต 

วิถีคนกรุง โซเดียมรอบตัว

การเป็นผู้ป่วยโรคไตใช้ชีวิตไม่ง่าย แม้จะดีกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ป่วยที่ร่วมต่อสู่เพื่อการเข้าถึงสิทธิฟอกไตฟรีจาก 3 กองทุนสุขภาพไม่ปฏิเสธว่าทำให้ค่าใช้จ่ายการรักษาโรคไตในภาพรวมเพิ่มขึ้น และมองว่าการป้องกันโรคนี้ยังเป็นโจทย์ท้าทาย 

ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย

โรคไตวายเป็นภัยเงียบ ปัญหาที่สำคัญคือเป็นโรคที่เกิดจากการกินซ้ำ ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว อาหารเค็มเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนคืออาหารในร้านสะดวกซื้อมีโซเดียมสูง ก่อนเลือกซื้อแนะนำอ่านฉลากสักนิดว่า มีโซเดียมเท่าไหร่! 

ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562–2563 พบว่า ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยของการบริโภคโซเดียม เท่ากับ 3,496 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกือบ 2 เท่าของคำแนะนำองค์การอนามัยโลก 

และจากข้อมูลผลการสำรวจโซเดียมในอาหารผ่านระบบ Thai Salt Survey ของกรมควบคุมโรค ปี 2566 พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในอาหารในเขตพื้นที่กรุงเทพฯอยู่ในระดับเค็มมาก หรือ 390 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 มิลลิลิตร 

การบริโภคโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และเป็นปัจจัยของโรคแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน เทียบเท่าเกลือ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา

นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ยังมองไม่ออกว่า หากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันยังเอื้อให้คนกินโซเดียมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กจนโต จำนวนผู้ป่วยโรคไตจะลดลงได้อย่างไร ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของสังคมไทย กลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเผชิญ

ป่วยไตวายพุ่งล้านคน ค่าฟอกไตจ่อทะลุหมื่นล้าน

แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคไตขยับขึ้นจากหลักแสนคนในปี 2558 เป็นหลักล้านคนในปี 2560 แม้ช่วงปี 2563-2565 จำนวนผู้ป่วยโรคไตลดลงเล็กน้อยสาเหตุมาจากการเข้าไม่ถึงโรงพยาบาล ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยโรคไตกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งอยู่ที่ 1,062,854 คน

ที่มา กระทรวงสาธารณสุข

5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด ปี 2566

  1. อุบลราชธานี
  2. เชียงราย
  3. นครราชสีมา
  4. ขอนแก่น
  5. อุดรธานี

*ไม่รวมเขตสุขภาพ 13 กรุงเทพมหานคร ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่ งบประมาณที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเพื่อบำบัดทดแทนไต หรือฟอกไต ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

ปีงบประมาณงบประมาณที่ สปสช.จ่ายเพื่อบำบัดทดแทนไต
25603,857.8900 (ล้านบาท)
25618,165.8100 (ล้านบาท)
25628,281.7900 (ล้านบาท)
25639,405.6100 (ล้านบาท)
25649,720.2800 (ล้านบาท)
ที่มา: สปสช.

แผนลดโซเดียมวาระชาติ

จากแนวโน้มผู้ป่วยไตวายที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสังคมตามมาเป็นลูกโซ่ เพราะการเจ็บป่วยด้วยโรคซับซ้อนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ประเทศเสียทรัพยากรแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันค่าใช้ด้านสาธารณสุขเพื่อดูแลสวัสดิการของผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะกองทุนบัตรทองเกือบทะลุหมื่นล้านบาทแล้ว สะเทือนความมั่นคงในระบบสาธารณสุข จนรัฐบาลต้องมีนโยบายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลง 

ประเทศไทยมียุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม พ.ศ. 2559 – 2568 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย “ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง 30% ภายในปี 2568” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ (SALTS) ได้แก่ 

  • S (Stakeholder network) พัฒนาและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ 
  • A (Awareness) เพิ่มความรู้ความตระหนักและเสริมทักษะให้ประชาชน
  • L (Legislationand environmental reform) ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ 
  • T (Technology and innovation) พัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ
  • S (Surveillance, monitoring, and evaluation) การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตาม ประเมินผลตลอดกระบวนการ

เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเท่านั้นก็จะถึงกำหนดที่ตั้งเป้าไว้ว่าประชาชนจะลดการบริโภคโซเดียมลง 30% นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค หนึ่งในภาคีเครือข่ายฯ ที่ร่วมในยุทธศาสตร์ฯ ยอมรับว่าไม่ง่าย จึงเริ่มปฏิบัติการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมอย่างจริงจังใน กทม. ก่อน เนื่องจากวิถีชีวิตของคนกรุง มักรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก อาหารปรุงสุกเป็นแหล่งของโซเดียมและไม่มีฉลากโภชนาการ จึงดำเนินการดังนี้

  1. โครงการตลาดพรีเมียมโซเดียมต่ำ กรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนสูตรอาหารและให้ความรู้ผู้บริโภคในการลดโซเดียม คือลดปริมาณโซเดียมตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหาร 
  2. ให้มีการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหารตามตลาดจะเป็นประโยชน์สำหรับการวัดผลการดำเนินงานและให้ความรู้แก่สาธารณชน จะวัดผลว่าทุกๆ การสื่อสารและความตระหนักรู้นั้นจะนำไปสู่การลดโซเดียมในอาหารที่ขายในตลาดกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร บอกว่า นำร่องโครงการตลาดพรีเมียมโซเดียมต่ำแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ 

  • ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต  
  • ตลาดเสนีย์ฟู้ด  
  • ตลาดสามย่าน  
  • ตลาดเสรีมาร์เก็ต 
  • ตลาดฟู้ดวิลล่า 
  • ตลาดยิ่งเจริญ  
  • ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี  
  • ตลาดถนอมมิตร  

เชื่อว่าจะทำให้เกิดเมนูอาหารมากมายที่เป็นทางเลือกสุขภาพให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น ขั้นถัดไป ในปี 2567 คือขยายการดำเนินงานไปในโรงอาหารในโรงเรียน สถานที่ราชการ รวมถึงตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีความพร้อม เพื่อหวังลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและไตวาย 

การแก้ปัญหาการบริโภคโซเดียมที่มากเกินไป ภาครัฐบอกว่า จะพยายามกระตุ้นพฤติกรรมการกินของประชาชนไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน ที่ต้องนึกถึงสุขภาพของตัวเองด้วย !

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS