จากปากคำ เด็กทะลุแก๊ส

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ทะลุแก๊ส” หรืออาจถูกผู้อื่นเรียกขาน เพราะรูปแบบการชุมนุมที่ "ดินแดง" จริง ๆ แล้วพวกเขาคือใคร มาจากไหน ? . เพราะนี่กลายเป็นนิยามที่ถูกส่งต่อและสังคมเข้าใจเมื่อกล่าวถึงพวกเขา . The Active พูดคุยกับพวกเขารายบุคคล พร้อมร่วมสังเกตการณ์ผ่านกระบวนการสนทนาแบบปิด และค่อย ๆ ถอดบทเรียน เพื่อทำความเข้าใจ เพียงหวังว่าจะได้เห็นเรื่องราวเบื้องหลังในชีวิต และนี่อาจเป็นโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจ เปิดมุมมอง เปิดใจรับฟัง ไม่ตัดสิน แต่ร่วมหาทางออกให้สังคมคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งร่วมกัน
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ทะลุแก๊ส” หรืออาจถูกผู้อื่นเรียกขาน เพราะรูปแบบการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง จริง ๆ แล้วพวกเขาคือใคร มาจากไหน ?  เพราะนี่กลายเป็นนิยามที่ถูกส่งต่อและสังคมเข้าใจเมื่อกล่าวถึงพวกเขา  The Active พูดคุยกับพวกเขารายบุคคล พร้อมร่วมสังเกตการณ์ผ่านกระบวนการสนทนาแบบปิด และค่อย ๆ ถอดบทเรียน เพื่อทำความเข้าใจ เพียงหวังว่าจะได้เห็นเรื่องราวเบื้องหลังในชีวิต และนี่อาจเป็นโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจ เปิดมุมมอง เปิดใจรับฟัง ไม่ตัดสิน แต่ร่วมหาทางออกให้สังคมคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งร่วมกัน
“ทะลุแก๊ส” ไม่มีแกนนำตายตัว มาจากหลากหลายพื้นที่ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากย่านคลองเตย รังสิต ลาดพร้าว พระราม 2 ฝั่งธนฯ ฯลฯ
.
หนึ่งในกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับ “ทะลุแก๊ส” นิยามว่า กลุ่มของพวกเขา “เป็นม็อบรากหญ้าอย่างแท้จริง” คนส่วนใหญ่ที่มาเข้าร่วม แม้จะเป็นเยาวชนแต่ก็เป็นคนทำงาน เป็นแรงงาน เป็นเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แทบไม่มีชนชั้นกลาง พวกเขาเป็นแค่คนที่ลำบากและไม่สามารถที่จะทนได้กับการกดขี่ของรัฐบาล หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งมันเป็นผลกระทบต่อพวกเขา ทั้ง ครอบครัว การเรียน เศรษฐกิจ บางคนเสียชีวิตจากวัคซีนที่ไร้คุณภาพ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เขาต้องออกมาต่อสู้
หากนับเฉพาะเยาวชนที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย ที่จัดโดยความร่วมมือกันของภาคประชาสังคมหลายองค์กร “ทะลุแก๊ส” คือ กลุ่มคนอายุระหว่าง 14-25 ปี ครอบครัวได้รับผลกระทบ ถูกเลิกจ้างและตกงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นเยาวชนที่หลุดออกระบบการศึกษา เข้าไม่ถึงการรักษาในช่วงที่มีการระบาดของโรค เข้าไม่ถึงสวัสดิการ 
.
หลายคน มีคดีติดตัวจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 พวกเขาตัดสินใจออกมาใช้สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองและครอบครัว ต่อผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
“ผมไม่อยากให้ลูกผมต้องเกิดมาบนสังคมแบบนี้ ผมเลยต้องออกมา ”
.
ทุกคนที่มาร่วมกระบวนการ ล้วนเคยเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องอย่างสันติวิธีมาแล้วตั้งแต่ปี 2563  และเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม และเคยถูกใช้ความรุนแรง พวกเขาจึงมารวมตัวกันที่ดินแดง เพื่อแสดงให้เห็นว่า “พวกเขาไม่ยอมให้รัฐใช้ความรุนแรงเพียงฝ่ายเดียว”
ร่องรอยของแผลเป็นที่อยู่บนตัวเขา บอกเล่าความหลังของชีวิตและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดตั้งแต่เกิด แผลลึกเกินกว่าร่างกายจะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ และยังคอยย้ำเตือนความหลังให้ภาพความทรงจำชัดเจนจนถึงปัจจุบัน 
.
ตี๋ อายุ 21 ปี เคยเรียนอาชีวะ เคยถูกดำเนินคดีในข้อหายาเสพติด แต่เขาบอกว่าถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาอยู่ในเรือนจำเกือบปี ระหว่างนั้น เขาได้พบนักโทษทางการเมืองทำให้ได้รู้ถึงโครงสร้างและระบบการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ ที่มันชัดเจนขึ้น
.
หลังออกจากเรือนจำ จึงตัดสินใจสมัครงาน แต่ไม่นานก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อรัฐบาลแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ทำให้เขานึกย้อนกลับไปถึงเรื่องที่เคยได้ยินในเรือนจำ เลยทำให้เขาตัดสินใจออกมาเรียกร้อง โดยเริ่มจากการเข้าร่วมแบบสันติวิธี แต่นานไปกลับไม่ได้รับการแก้ปัญหา อีกทั้งยังโดนสลายการชุมนุมแบบใช้ความรุนแรง 
.
เขาเคยถูกจับในระหว่างการชุมนุม และถูกใช้ความรุนแรง ทั้งการกระทำและคำพูด ทำให้เขารู้สึกว่า คงจะใช้วิธีการสันติไม่ได้แล้ว เลยเลือกที่จะออกมาที่ดินแดง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนไม่ยอมแพ้ต่อการกระทำที่รุนแรงของรัฐ 
.
ความคาดหวังของเขาคือต้องการให้ปรับโครงสร้างในระบบการศึกษา เพราะเขาคือเหยื่อของระบบที่เงินเป็นใหญ่ แต่ตนฐานะทางครอบครัวไม่ดีเลยทำให้ไม่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ อีกทั้งมองว่ารัฐบาลชุดนี้บริหารงานล้มเหลวในหลายเรื่อง กระทบกับชีวิต ครอบครัว และงานของเขามาก 
.
“หากมีลูก ไม่อยากให้ลูกต้องมาเจอความล้มเหลวในการบริหารแบบนี้” คือสิ่งที่เขาบอก ทั้งเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ และที่สำคัญคือเรื่องของระบบการศึกษา นี่คือเหตุผลที่เขาต้องการความเปลี่ยนแปลง
“Klongtoey” เด็กสลัม เป็นรอยสักที่บ่งบอกตัวตน คำนิยามที่ผลิตซ้ำ ทำร้ายเขา เขาตั้งใจฝังมันลงไปในร่างกาย เพื่อที่จะพามันไปทุกที่ จากจุดด้อยที่ถูกกดทับและตีตราของสังคม สู่การยอมรับที่เริ่มจากตัวเขา 
.
เขาเล่าว่าการเกิดและเติบโตในสลัมคลองเตย ทำให้ได้เห็นถึงปัญหาของชนชั้นล่าง พวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลและไม่เคยได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม การเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเป็นหนทางหนึ่งตามสิทธิที่เขาเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ 
.
เขาออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มอื่น ๆ ที่หลายคนนิยามว่าเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี แต่เขาโดนจับดำเนินคดีและมีภาระค่าใช่จ่าย เป็นผลพวงซ้ำเติมชีวิตให้ลำบากลงไปกว่าเดิม การออกมาเคลื่อนไหวเพียงแค่แสดงความคิดเห็น แต่ถูกดำเนินคดี เป็นการตอบโต้ของรัฐบาลที่เขาเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม แต่ที่แย่กว่านั้น คือการที่รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงข้อเรียกร้องใด ๆ จากผู้ชุมนุมเลย 
.
และที่ตัดสินใจมาที่ม็อบดินแดง ก็คือความความรู้สึกอัดอั้น โกรธ ที่รัฐบาลเลือกใช้ข้อหากับผู้ชุมนุม และใช้ความรุนแรงที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ดินแดง จึงเป็นผลพวงที่เกิดจากฝั่งรัฐบาลเลือกวิธีการเหล่านี้ก่อน 
.
“ผมไม่เห็นด้วยบอกผ่านตรงนี้ ถ้าใครมาแค่คิดสนุก ตรงนี้ไม่ใช่สนามเด็กเล่น ที่คุณคิดจะมาใช้ความคึกคะนองได้ แต่ว่าเป็นพื้นที่ต่อสู้เพื่อให้สังคมดีขึ้น”
พวกเขามาร่วมถอดบทเรียนในกระบวนการแบบปิด ความเห็นและที่มาหลากหลายมุมมอง ไม่ใช่ทั้งหมดของ “ทะลุแก๊ส” แต่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียกร้องแบบทะลุแก๊ส
.
กลุ่มเยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราในวันนั้น ล้วนอยู่ในสมรภูมิความขัดแย้งที่ดินแดง  หลายคน หลายที่มา หลายเหตุผล แต่เขาทั้งหมด ล้วนมีสาเหตุเดียวกัน คือ ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล และเขามองว่าเขาควรได้รับการปฏิบัติแบบเท่าเทียมอย่างคนทั่วไป
ข้อเสนอของพวกเขา คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงออก รับฟังข้อเรียกร้องของพวกเขา มีตัวแทนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ร่วมเจรจา คลี่คลายความรุนแรง 
.
ที่สำคัญพวกเขายังส่งสารถึงสังคมว่า ไม่อยากให้ลดทอนการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเพียงแค่การก่อกวน ปั่นปวน แต่เป็นปฏิบัติการทางการเมืองที่มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นชีวิตของตัวเอง และสังคมดีขึ้น ไม่ต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมอื่น ๆ และหากจะยุติความรุนแรง พวกเขาเชื่อว่าหากรัฐบาลเป็นฝ่ายเริ่ม แนวทางอื่น ๆ ที่หลากหลายอาจตามมา
ตลอดทั้งวันของกระบวนการ ถูกถ่ายทอดผ่านข้อความเหล่านี้ ที่ได้จากการสื่อสารในกระบวนการแบบปิด โดยเริ่มต้นทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ บนกติกาเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย กับตัวแทนกลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่ม Child in Mob และอาสาสมัคร รวมแล้วเกือบ 20 คน เมื่อกระบวนการไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้น ความรู้สึกต่าง ๆ รวมถึงเรื่องราวหลากหลายแง่มุม ทั้งผลกระทบในชีวิต ข้อกังวล ความต้องการ และเป้าหมายชีวิต ค่อย ๆ เผยออกมา 
.
นี่เป็นหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่แยกดินแดง ที่หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เห็นว่าควร “สร้างพื้นที่ปลอดภัย” เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สื่อสารเพื่อหาจุดร่วม จุดต่าง เดินหน้าคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรง 
.
ทว่า กระบวนการครั้งนี้ กลับไร้หน่วยงานที่จะเชื่อมโยงและนำข้อเรียกร้องต่าง ๆ ส่งไปยังรัฐบาล

Author

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วาสนา ไซประเสริฐ

ฝึกฝนการเป็นนักเดินทาง ทั้งการเดินทางภายในและภายนอก... ออกไปเห็นโลกที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเห็นตัวเองเล็กลง