“หัวตะเข้” เมืองเก่าที่กำลังจะเปลี่ยนไป

หัวตะเข้ ชุมชนเก่าแก่ชานเมืองกรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งกำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มคืบคลานเข้ามา ผ่านการขยายตัวของเมือง และนิคมอุตสหกรรม จนทำให้สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ค่อย ๆ ถูกกลืนกินไปทีละน้อย

ชาวบ้านจึงได้ลุกขึ้นมาสร้างเครื่องมือสำหรับเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเก็บข้อมูลชุมชน และจัดศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาขึ้น เพื่อที่จะบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่ง หัวตะเข้ เคยมีสิ่งดี ๆ โดยมีคนแก่ในชุมชนที่พยายามส่งต่อสิ่งนี้ไปให้กับคนรุ่นหลัง และคนทั่วไปที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนได้เรียนรู้
เราเริ่มต้นเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง) ในเวลา 08.00 น. ด้วยราคาตั๋ว 7 บาท เวลาตามตั๋วบอกว่าจะใช้เวลาในเวลาการเดินทาง ประมาณ 1 ชั่วโมง หากจะต้องเดินทางด้วยรถไฟเพื่อไปยังสถานีหัวตะเข้สามารถขึ้นสายตะวันออกได้ ซึ่งรถไฟสายตะวันออกเริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 ขึ้นจากกรุงเทพฯ และจะมีจุดสิ้นสุดฝั่งตะวันออกที่สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึกอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และ ตะวันตกที่สถานีรถไฟบ้านตาหลวงอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
หัวตะเข้ ตั้งอยู่ในเขตลาดกระบัง เป็นชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงเทพฯ มากนัก พื้นที่นี้ตั้งอยู่ท่ามกลางเส้นทางการเดินทางที่หลากหลาย ด้านหน้าเป็นถนน ช่วงกลางเป็นคลอง ด้านหลังเป็นรถไฟ ส่งผลให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นทั้งคนไทย ไทยรามัญ ผสมผสานกับคนไทยเชื้อสายจีน สิ่งนี้จึงทำให้หัวตะเข้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
แม้ว่าการพัฒนาจะค่อย ๆ ขยายเข้าไปสู่ชุมชน แต่ชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้ใต้ถุนบ้าน เป็นที่เลี้ยงไก่เพื่อกินกันในครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นวิถีชุมชนแบบบดั้งเดิมของคนที่นี่
หลังคาบ้านถูกมุงด้วยสังกะสี เก่า ๆ คือลักษณะของโครงบ้านเก่าแก่ในชุมชน 'หัวตะเข้' ที่ยังพอปรากฎให้เห็นบ้างในปัจจุบัน
แม้การขยายตัวของเมืองจะส่งผลกับชุมชนไม่น้อย แต่เรายังคงไม่เห็นร้านสะดวกซื้อในชุมชน ระหว่างทางเดินเราจะเห็นอุโมงค์ร้านขายของชำเล็ก ๆ ที่หลังคาพาดผ่านทางเดิน ถือเป็นตู้กับข้าวอีกที่หนึ่งของชุมชน และเป็นร้านขนมของเด็ก ๆ
จุดเด่นของที่นี่คือเส้นทางคู่ขนาน ระหว่างคลองและทางเท้าที่ตีคู่กันไปตลอดทาง โดยที่นี่มี 3 คลอง พาดผ่าน คือ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองลำปะทิว คลองหัวตะเข้ และ 1 คลองย่อยขนาดใหญ่ คือ คลองแขก 'คลอง' นับเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน เป็นทั้งเส้นทางสัญจรหลักในอดีต เป็นหน้าบ้าน ที่เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับคนต่างพื้นที่ และเป็นที่มาของความเชื่อ ประวัติศาสตร์ชุมชน
จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน แม้ในทางกายภาพอาจจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงหลังมีนิคมอุตสาหกรรม ปี 2527 คือ วิถคีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการหากินเริ่มยากขึ้น ปลาบางชนิดในลำคลองเริ่มหายไป ต้นไม้บางชนิดหายไป ชาวบ้านจึงพยายามลุกขึ้นมาทำข้อมูลชุมชน งานวิจัยชุมชน
ชาวบ้านค้นพบว่าในพื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์ โดยวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับคลองอย่างยาวนาน กลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถส่งต่อให้กับเด็ก และเยาวชน ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ทักษะชุมชน ผ่านฐานการเรียนรู้หลากหลาย เช่น เรือบด ว่าว ขนมท้องถิ่น ระหัดวิดน้ำ รวมถึงการวาดภาพจากดินที่ได้จากในชุมชน โดยลักษณะของดินจะมีความหลากหลายตามการพัดพาของน้ำ ทำให้ชาวบ้านก็ได้เล็งเห็นคุณค่าและนำมาทำเป็นงานศิลปะ
ภาพวาดจระเข้ จากสีดิน คือฝีมือของเยาวชนในชุมชนที่สะท้อนภาพจำในอดีตออกมาผ่านงานศิลปะ ด้วยการตั้งโจทย์ที่ว่า ภาพหัวตะเข้ในความทรงจำ ซึ่งก็มีภาพวาดของ จระเข้ เรือ และต้นไม้ ซึ่งปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ปรากฎในชุมชนน้อยมาก
การทำโมเดลเรือบดขนาดเล็ก คือหนึ่งในความพยายามที่ชุมชนพยายามสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมให้กับคนในชุมชนและผู้มาเยี่ยมเยือนได้รู้ว่า เมื่อครั้งอดีต ชาวบ้านที่นี่เป็นช่างฝีมือทำเรือขาย เป็นภูมิปัญญาตั้งแต่ในอดีตที่เกิดขึ้นตามลักษณะกายภาพของพื้นที่ ที่ติดกับลำคลอง
ภาพหัวตะเข้ปรากฏอยู่ตามสื่อต่าง ๆ มากมาย ในรูปแบบสถานที่ท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า แต่ขณะเดียวกัน ชุมชนหัวตะเข้ ก็มีโจทย์ท้าทายอีกหลายเรื่องจากการขยายตัวของเมือง ซึ่งชาวบ้านต้องคิดค้นหาแนวทางเพื่อที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น และรักษารากเหง้าชุมชนเก่า อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน การสร้างสำนึกและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดย 'หัวตะเข้' เป็นเพียงหนึ่งใน หลายชุมชนที่กำลังอยู่บนความท้าทายของการพัฒนา และได้ลุกขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้เห็นว่าชุมชนมีคุณค่า