คนละสายน้ำเดียวกัน

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เติบโตต่อเนื่องมากกว่า 200 ปี โดยไม่ได้หยุดพัก โดยมี ‘เจ้าพระยา’ เป็นแม่น้ำสายหลักยังคงอยู่คู่คนกรุง ทว่าความรู้สึกผูกพันกับสายน้ำกลับเหือดแห้งลง ท่ามกลางตึกระฟ้าที่ผุดขึ้นริมสองฝั่งแม่น้ำ

พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่งจากสะพานกรุงธน (ซังฮี้) จนถึงสะพานกรุงเทพ มีพื้นที่สาธารณะประมาณ 15 % ขณะที่พื้นที่กึ่งสาธารณะอย่างวัด ท่าเรือ มีอยู่ราว 10 % ส่วนสถานที่ราชการจะปิดให้บริการในช่วงวันหยุด ซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ ร้านค้าและย่านพาณิชย์จึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่คนกรุงต้องจ่ายหากต้องการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ

แต่เดิม พื้นที่ริมน้ำเป็นที่ตั้งของชุมชนในอดีต เมืองที่ขยายตัวค่อย ๆ บดบังคูคลองในนครเวนิสตะวันออก ‘เจ้าพระยา’ ถูกลดความสำคัญลง กลายเป็นที่รองรับขยะจากคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ทั้ง 23 สาย ปัญหาคลองตื้นเขินจากขยะยังเป็นอุปสรรคในการสัญจรทางน้ำ ทำให้คนกรุง ไม่อาจดึงศักยภาพของคลองและแม่น้ำได้อย่างเต็มที่

แม้เป็นสายน้ำเดียวกัน แต่เข้าถึงได้ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้การสัญจรทางเรือเป็นการเดินทางที่สะดวกและราคาถูก แต่ผู้พิการทางการมองเห็นและการเคลื่อนไหวยากที่จะสามารถใช้งานได้ เพราะการออกแบบโป๊ะเรือที่ยังไม่เอื้อต่อการสัญจรของผู้พิการ

The Active ชวนผู้อ่านร่วมสำรวจสายน้ำและสายสัมพันธ์ของชาวกรุง คลองและคนอยู่ที่ไหนในเมืองใหญ่ และใครกันที่เป็นเจ้าของ ‘เจ้าพระยา’
"เจ้าพระยา" เป็นแม่น้ำสายหลักของกรุงเทพฯ และยังเป็นที่รองรับขยะของเมืองด้วยเช่นกัน ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยายังคงถูกใช้อุปโภคเพื่อการขัดล้างท่าเรือ มันยังพัดพาขยะพลาสติกกว่า 4 พันตันจากครัวเรือนไหลลงปากอ่าวไทยทุกปี
แม่น้ำเจ้าพระยาถูกใช้งานอย่างคึกคัก แต่มีคลองในกรุงเทพฯ แค่ 18 % ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเส้นทางสัญจร
ปัญหาคลองตื้นเขินจากขยะยังเป็นอุปสรรคในการสัญจรทางน้ำ ทำให้คนกรุงฯ ไม่อาจดึงศักยภาพของคลองและแม่น้ำได้อย่างเต็มที่
พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่สะพานกรุงเทพจนถึงสะพานกรุงธนฯ มีความยาวรวม 24 กม. แต่มีพื้นสาธารณะประมาณ 15 % เท่านั้น ที่เหลือเป็นพื้นที่ของเอกชน ย่านพาณิชย์ และตึกสูงระฟ้า
คนริมน้ำในย่านสะพานปลา บอกว่า มีเพียงวัดและโป๊ะท่าเรือบางแห่งเท่านั้นที่ตนสามารถเข้าไปใช้งานได้ ส่วนสถานที่ราชการจะถูกปิดกั้นเมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์
ในอดีต ชุมชนริมน้ำมีลักษณะยืดหยุ่น ทุกคนรู้จักกันหมด ทำให้แม้ไม่ใช่บ้านตัวเองก็สามารถเดินเข้าไปใช้งานได้ เมื่อเมืองเติบโต ก็เริ่มเกิดรอยต่อมากขึ้น รั้วที่มีไม่ได้กั้นแค่ความสัมพันธ์ แต่ปิดกั้นการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำด้วย
ชุมชนตลาดน้อยมีอาคารเก่าถูกทิ้งร้างหลายสิบหลัง หลายหลังตั้งอยู่ริมน้ำ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ บางส่วนก็ถูกสร้างใหม่เป็นอาคารพาณิชย์ ธุรกิจร้านอาหารแทน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จำกัดการเข้าถึงแทบทั้งสิ้น
แม้สายน้ำเดียวกัน แต่เข้าถึงได้ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้การสัญจรทางเรือเป็นการเดินทางที่สะดวกและราคาถูก แต่ผู้พิการทางการมองเห็นและการเคลื่อนไหว ยากที่จะใช้งานได้
ไม่ว่าเมืองนี้จะก้าวหน้าไปไกลแค่ไหน แต่เมื่อเราหยุดพัก เราจึงพบว่าแม่น้ำสายใหญ่ยังคงอยู่ ณ ใจกลางมหานครเหมือนอย่างเคย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง