ลำห้วยน้ำพุ มรดก ‘สารพิษ’

จากลำน้ำสาธารณะที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำกินน้ำใช้ของคนใน ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ที่ต้องกลายเป็นลำน้ำเปื้อนพิษ ส่งกลิ่นเน่าเหม็น เพราะสารพิษที่รั่วไหลจากโรงงานรีไซเคิลฯ มานานนับ 20 ปี แม้ชาวบ้านจะรวมตัวฟ้องศาลแพ่ง จนชนะคดี แต่จนถึงตอนนี้ยังไร้การแก้ไข

The Active และ 'ธนู งามยิ่งยวด' หนึ่งในชาวบ้านที่ทำอาชีพเกษตรกรรมและได้รับผลกระทบเรื่องนี้จน “หมดตัว” จะพาทุกคนไปดูเศษซากสารพิษในน้ำ ในดิน ที่ชาวบ้านพยายามหาสารพัดวิธีเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำ ไปพร้อมกับการบอกเล่าเรื่องราวสู่ลูกหลาน หรือ เรียกได้ว่าเป็น “ประวัติศาสตร์ของพื้นที่” เพื่อหวังว่าในสักวัน ทุกคนจะช่วยทำให้ที่นี่กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ลำห้วยน้ำพุ ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ที่เคยเป็น “อู่น้ำธรรมชาติ” ของเกษตรกรชาวสวนลำไย กว่า 33 รายในพื้นที่  ตกอยู่ในสภาพไม่สามารถใช้ดื่ม ใช้กิน หรือแม้แต่จะทำการเกษตรได้อีกต่อไป เพราะน้ำเต็มไปด้วยคราบดำจาก “สารเคมี” และส่งกลิ่นรุนแรง มานานกว่า 20 ปี
‘ธนู งามยิ่งยวด’ เกษตรกรชาวสวนลำไย หรือ ที่คนในพื้นที่รู้จักกันในนาม “ล้งลำไย” พ่อค้าส่งออกลำไยรายใหญ่ของราชบุรี
พาเราเดินเลียบคลองเข้าพื้นที่สวนลำไยที่ไร้ผลผลิต เขาเล่าว่า ต้นลำไยในสวนนี้ปลูกมาตั้งแต่รุ่นพ่อ อายุต้นราว ๆ 60 ปี เป็นสวนแรกของจังหวัด ขยายพันธุ์ไปสวนอื่น ๆ สร้างรายได้ให้คนที่นี่มายาวนาน
นับตั้งแต่ปี 2544 ที่โรงงานกำจัดขยะ “แวกซ์ กาเบ็จ” เข้ามาในพื้นที่ และสารพิษจากการกำจัดขยะผิดวิธีของโรงงาน ทำให้สารพิษรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม  ธุรกิจสวนลำไย “พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ” เพราะต้นน้ำห้วยน้ำพุคือข้างโรงงาน และระยะทางจากโรงงานมาสวนห่างกันเพียง 400 เมตรเท่านั้น  แม้จะขุดบ่อบาดาล แต่น้ำที่ขุดได้ ก็ยังปนเปื้อนอยู่ดี
สิ่งที่จะพอหาประโยชน์ได้บ้างจากที่ดินผืนนี้ คือ ปลูกโกโก้ โดยลากสายยางนำน้ำจากบ่อบาดาลที่ไม่ปนเปื้อนมาใช้ และแน่นอนว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้โกโก้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์
ปี 2560 ธนู และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ รวมตัวฟ้องร้องโรงงาน และในปี 2563 ศาลมีคำตัดสินให้ชนะคดีในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ศาลสั่งให้โรงงานดำเนินการแก้ไขและชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้าน แต่จนถึงเวลานี้ ปี 2567 ทั้งแหล่งน้ำ และชาวบ้าน ยังไม่เคยได้รับการเยียวยา
การพยายามฟื้นฟูห้วยน้ำพุ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการให้ความช่วยเหลือจากองค์กรภาคประชาสังคม อย่าง มูลนิธิบูรณะนิเวศ สสส. กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ  มีทั้งการทดลองปลูกพืชอายุสั้นดูดซับสารพิษ เตยหอมช่วยลดกลิ่น บัว ผักบุ้ง บอน ฯลฯ ที่เน้นให้คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เข้ามาร่วมเรียนรู้  “เพราะสารพิษเหล่านี้ ไม่รู้จะหมดไปเวลาไหน ลูกหลานของเราจำเป็นต้องรู้ว่าพื้นที่ของเขามีอะไร”
“หมดตัว” คำสั้น ๆ ที่อธิบายชีวิตของธนู  สภาพโกดังอบลำไย และจุดรวมการรับซื้อ ส่งออกลำไย รกร้าง เริ่มผุพัง เขาบอกว่า ความตั้งใจคือ อยากให้ลูกได้สานต่อกิจการ แต่เวลานี้ทำได้เพียงให้ลูกทำสวนลำไยในเนื้อที่ข้าง ๆ ห่างจาก ลำน้ำพุ โดยอาศัยน้ำจากบ่อบาดาลที่ขุดแล้วตรวจไม่พบสารพิษตกค้าง
แต่เมื่อถามว่า สารพิษจะหมดไปเมื่อไหร่?
เราเดินทางไปดูโรงงานต้นเรื่อง ซึ่งปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดการกากอุตสาหกรรม ในเฟส 1 ซึ่งจะสิ้นสุดใน 29 มีนาคม นี้ ขณะที่ปริมาณขยะยังคงเหลืออยู่ไม่น้อย และคาดว่ารัฐคงต้องจัดสรรงบประมาณอีกไม่น้อย เพื่อกำจัดมลพิษนี้ให้หมดไป
แม้แหล่งน้ำจะเต็มไปด้วยสารพิษ แต่ความพยายามฟื้นฟูของ ธนู และชาวบ้าน ยังคงเดินหน้าเท่าที่จะมีแรงไหว  ธนู บอกว่า หากมีเงิน เขามีแผนอยากปรับพื้นที่สวนลำไยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต เพื่อให้ลูก ๆ ได้มีอาชีพอยู่ในที่ดินของพ่อที่สร้างไว้ อาจจะเป็นร้านขายของ แหล่งศึกษาเรียนรู้ชุมชน  แต่ปัญหาสำคัญคือต้องกำจัดกลิ่นรบกวน และมลพิษให้หมดไป