นักวิจัย เสนอนำภาษีล้อเลื่อน 10% ของ อบจ. เพื่อยกระดับขนส่งสาธารณะทุกจังหวัด หลายฝ่ายมองปัญหาไม่ได้อยู่ที่การใช้งบประมาณ แต่ อบจ. ไร้อำนาจบริหารจัดการขนส่งในพื้นที่ตนเอง ระบบขนส่งจึงไม่ตอบโจทย์ประชาชน
ปัญหาขนส่งสาธารณะของไทย ปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น บางเส้นทางที่ยังไม่มีรถโดยสารวิ่งผ่าน ค่าโดยสารราคาแพง ระบบไม่เชื่อมโยงกัน รอรถนาน ไม่มีจุดรอรถ สถานีขนส่งไม่สะดวกสบาย หรือรถโดยสารมีสภาพเก่าจนทำให้ประชาชนไม่ได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง เป็นต้น
ใน รายการ นโยบาย By ประชาชน ของไทยพีบีเอส (Thai PBS) อดิศักดิ์ สายประเสริฐ นักวิจัยอิสระ และอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เสนอให้ใช้ภาษีล้อเลื่อน 10% จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำไปพัฒนาขนส่งสาธารณะในพื้นที่ของตนเอง โดยปัจจุบันภาษีล้อเลื่อน เป็นภาษีที่จัดเก็บจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล นำไปจัดสรรให้ อบจ. สัดส่วน 80% และเทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สัดส่วน 20%
อดิศักดิ์ เสนอให้แบ่งภาษีล้อเลื่อนของ อบจ. สัดส่วน 10% ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละจังหวัดได้ เช่น 1. ปรับปรุงสถานีขนส่งให้มีแอร์ติดในอาคาร 2. ศึกษาความต้องการเดินทางของประชาชน 3. ขอเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 4. สร้างจุดจอดรถและศาลาพักคอย 5. อุดหนุนค่าโดยสารให้มีราคาถูกลง

“ที่ผ่านมาจะพบว่า อบจ. มีบทบาทในการพัฒนาขนส่งสาธารณะน้อย แต่ถ้าหากมีการแบ่งภาษีล้อเลื่อน 10% มาพัฒนาขนส่งธารณะได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดฝุ่น PM 2.5 ได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ภาษีดังกล่าวปัจจุบันส่วนใหญ่ อบจ. จะนำไปซ่อมและก่อสร้างถนน ซึ่งก็ถือเป็นการพัฒนาขนส่งสาธารณะในรูปแบบหนึ่ง ถ้าหากเห็นว่าประชาชนนิยมใช้รถส่วนบุคคล ก็อาจจะเรียกร้องให้มีการซ่อมถนนให้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ อบจ. จะต้องมองไปในภายภาคหน้า คือ ปัญหาของการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด อุบัติเหตุ และก่อมลพิษ จึงเป็นสิ่งที่ อบจ. ต้องคิดในระยะต่อไปว่าจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร

ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ คณะกรรมาธิการการคมนาคมสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน อธิบายว่า ภาษีล้อเลื่อนมาจากการจดทะเบียนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ส่วนตัวของประชาชนทุกคนในแต่ละปี หรือที่เรียกกันว่าการต่อภาษีรถ โดยภาษีล้อเลื่อนจะถูกจัดสรรให้กับท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด เช่น อบจ. ดังนั้น หากป้ายทะเบียนรถอยู่จังหวัดไหน เงินภาษีก็จะถูกจัดสรรให้กับท้องถิ่นจังหวัดนั้น
เรื่องนี้ก็เคยส่วนหนึ่งที่ใน ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (พ.ร.บ.ขนส่งฯ) ที่พรรคประชาชนเพิ่งเสนอให้แก้ไขกฎหมาย ใจความคือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ตัวเองได้ เพราะปัจจุบันการขอเพิ่ม หรือปรับเปลี่ยนการเดินรถสาธารณะจะต้องยื่นขออนุญาตคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด ที่ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ยึดโยงกับประชาชน จากนั้นเรื่องก็ส่งต่อไปที่ส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนกลางก็ไม่อาจทราบได้ว่าจังหวัดไหนมีความต้องการและความเร่งรีบที่ต้องทำเส้นทางเดินรถ ทำให้กระบวนการอาจใช้เวลานาน จนสุดท้ายไม่สามารถทำได้จริง หรือไม่สามารถให้สัมปทานเดินรถซ้ำซ้อนได้ เพราะบางเส้นทางมีเอกชนได้สัมปทานไปแล้ว แต่คนขึ้นน้อยจึงไม่คุ้มค่ากับการเดินรถ
ทั้งนี้ เห็นด้วยกับข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่เสนอให้นำภาษีล้อเลื่อนไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัด แต่ภาษีล้อเลื่อนเพียง 10% อาจไม่พอที่เปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะในแต่ละพื้นที่ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งควรต้องใช้ภาษีประมาณ 20-30% ของ อบจ. ถึงจะทำให้ระบบขนส่งในแต่ละจังหวัดดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ขนส่งสาธารณะถือเป็นกิจการที่ขาดทุนอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐจำนวนมาก โดยควรให้อำนาจท้องถิ่นสามารถนำเงินภาษีล้อเลื่อนไปอุดหนุนผู้ประกอบการ เพื่อสามารถเดินรถได้และมีมาตรฐานคุณภาพ ทั้งนี้ไม่ถือเป็นการเอื้อเอกชน เพราะเป็นบริการที่ประชาชนได้ประโยชน์ แต่หน่วยงานรัฐต้องมีกำกับดูแล การกำหนดเงื่อนไข และมาตรฐานที่ชัดเจน ว่าต้องเป็นการอำนวยความสะดวกประชาชนที่แท้จริง และมีมาตรฐานปลอดภัยที่แน่นอน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ขนส่งฯ ของพรรคประชาชน ที่ต้องการให้ถ่ายโอนอำนาจการบริหารจัดการขนส่งให้กับท้องถิ่นดูแล ได้ถูกที่ประชุมสภาโหวตไม่รับหลักการเมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา หากจะยื่นเข้าสภาใหม่ก็คงต้องหลังจากการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะคงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของฝ่ายรัฐบาลได้แล้ว แต่ยืนยันว่าหลังเลือกตั้งรอบใหม่พรรคประชาชนจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขนส่งฯ ฉบับใหม่อย่างเต็มที่
ประสิทธิ์ โยธารักษ์ ผู้อำนวยการกองกิจการขนส่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า การนำเงินภาษีล้อเลื่อนของ อบจ. ไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะนั้น มีการทำกันมานานหลายปีแล้ว โดย อบจ. ภูเก็ต ได้มีการนำรถบัสไฟฟ้าออกวิ่งให้บริการประชาชนในเมืองราคาต่ำ (อยู่ในช่วงทดลองให้ขึ้นฟรี 1 ปี ตั้งแต่ ธ.ค. 67) จำนวน 24 คัน ใน 3 เส้นทาง พร้อมแอปพลิเคชันและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยใช้งบประมาณ 121 ล้านบาท จากภาษีที่จัดเก็บได้ทุกประเภทราว 1,600 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาใช้รถสาธารณะกันมากขึ้น เพราะปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตกำลังประสบปัญหารถติดอย่างหนักในเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้พอสมควร ดังนั้น ท้องถิ่นเมืองหลัก ๆ ในประเทศไทยก็ควรที่จะนำเงินภาษีที่ได้ไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ของตัวเองให้ดีขึ้น
ส่วนการที่จะทำให้รถขนส่งสาธารณะมีราคาถูกนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด เพราะเป็นผู้มีอำนาจกำหนดราคาค่าโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมในพื้นที่ ซึ่งเอกชนก็ต้องประเมินเองว่าเส้นทางที่เปิดให้ขออนุญาตเดินรถมีความคุ้มค่ากับต้นทุนหรือไม่ หากไม่คุ้มค่าก็จะไม่รับสัมปทานเดินรถในเส้นทางนั้น
แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือ หลายเส้นทางที่เอกชนเดินรถ ไม่ตอบโจทย์ประชาชน โดยจะวิ่งแค่บางช่วงเวลา เช่น วิ่งแค่ช่วงเช้ากับช่วงเย็น แม้ในใบอนุญาตจะมีการกำหนดไว้ว่าต้องเดินรถเวลาไหนบ้าง และวิ่งวันละกี่เที่ยว แต่ในความเป็นจริงเอกชนกลับไม่ปฏิบัติตาม ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้ อบจ. ไปเดินรถแทน ซึ่งก็ทำได้ไม่ง่าย เพราะต้องถอนใบอนุญาตการเดินรถเอกชนก่อน หรือรอใบอนุญาตให้หมดอายุ 7 ปี ทาง อบจ. จึงไม่สามารถเข้าไปเดินรถแทนได้ในทันที และในการเข้าเดินรถก็ต้องมีประกาศจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด ว่าเส้นทางไหนว่างไม่มีใครรับสัมปทาน อีกทั้งกระบวนการขออนุญาตยังใช้เวลาดำเนินการราว 1-2 ปี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง