‘รมว.สธ.’ รอพิจารณามติแพทยสภา ฟันแพทย์ 3 ราย เผย ยังไม่ได้รับผลสอบทางการ ชี้ มีเวลาพิจารณา 15 วัน ย้ำ ต้องยึดมั่นในกระบวนการกฎหมาย เตือน นักการเมือง อย่าพยายามเชื่อมโยง จนสังคมสับสน ด้าน ‘เสรีพิศุทธ์’ แนะผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลจริง เพราะ 100 “ทักษิณ” ก็ช่วยไม่ได้
วันนี้ (9 พ.ค. 2568) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 ราย และเตรียมส่งให้สภานายกพิเศษ พิจารณาว่า ขณะนี้ ผลการพิจารณาของแพทยสภา ยังไม่ได้ส่งเรื่องมาถึงตน จึงยังไม่ทราบในรายละเอียดของการพิจารณา ซึ่งตามกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีระยะเวลาพิจารณา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับมติของแพทยสภาที่ส่งมา ดังนั้น เวลานี้ ต้องรอหนังสือที่ได้มีการลงมติส่งมาถึงก่อน จึงจะเดินหน้าพิจารณาได้
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่หลายฝ่ายพยายามกดดัน หรือ ชี้นำสังคมว่าตนจะยับยั้งมติแพทยสภานั้น ก็ขอให้เข้าใจกรอบข้อกฎหมายด้วย ซึ่งตนมีกรอบพิจารณา 15 วัน และยังไม่ได้เริ่มพิจารณา ดังนั้น ก็ขออย่าชี้นำสังคม เพราะตนก็ยังไม่เห็นผลการสอบสวน หรือแม้แต่รายชื่อ บุคคลทั้ง 3 ว่าเป็นใคร แต่หากเอกสารมาถึง ตนจะพิจารณาตามข้อกฎหมายอย่างเต็มที่
“ผมเข้าใจดีว่า เรื่องผลสอบแพทยสภา จะถูกนำไปเชื่อมโยงทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า นักการเมืองหลายคน ก็พยายามเชื่อมโยงจนสังคมสับสน โดยผมเข้าใจบทบาทนักการเมืองที่ทำมาแบบดั้งเดิม แต่ก็ขอว่า อย่าให้ข้อมูลแบบซ้ายที ขวาที เพราะจะทำให้สังคมเข้าใจผิด ทั้งที่ผมยังไม่ได้เริ่มพิจารณาแม้แต่น้อย ซึ่งเราต้องยึดมั่นในกระบวนการ ระเบียบ และกฎหมาย ต้องให้เวลาผมศึกษาข้อมูลด้วย เพราะเท่าที่ผมอ่านข่าวแพทยสภา ก็ไม่มีการลงรายละเอียดเชิงลึก ดังนั้น ก็ต้องรอรายละเอียดที่จะส่งตามมาจากนี้ จึงขอสังคม อย่าเพิ่งคาดเดา หรือ ชี้นำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะทำแบบนั้น จะถือว่า ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
รมว.สาธารณสุข กล่าว

“เสรีพิศุทธ์” ชี้ “ทักษิณ” หมดทางเลี่ยงแล้ว แนะ ผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลจริง
ด้าน พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีที่แพทยสภามีมติดังกล่าวว่า เป็นอย่างที่ตนเคยพูดว่าเคยไปพบนายทักษิณ ไม่ได้ใส่ชุดผู้ป่วย นั่งพูดคุยกันเป็นชั่วโมง โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกายใดใดทั้งสิ้น
ซึ่งขั้นตอนจากนี้ แพทยสภา ต้องส่งให้นายสมศักดิ์ ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา เห็นชอบ ซึ่งกรณีนี้ นายสมศักดิ์ ไม่สามารถโต้แย้งเรื่องความจริงหรือความผิดได้ โต้ได้แค่บทลงโทษว่า จะถูกพักใบอนุญาตนานเท่าไหร่ แต่ส่วนตัวมองว่ากรณีนี้เป็นการผิดวินัยร้ายแรงต้องไล่ออกไม่ใช่แค่การตักเตือนและพักใบอนุญาตเท่านั้น
และเมื่อมติแพทยสภาออกมาแล้ว อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ต้องรายงานต่อศาลฎีกา ภายใน 30 พฤษภาคม ตามคำสั่งศาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ด้วย พร้อมมองว่า ศาลอาจจะตั้งประเด็นการส่งตัวนายทักษิณ ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 มีการขออนุญาตศาลหรือไม่ด้วย หากไม่มีการขออนุญาต แสดงว่าขัดต่อมาตรา 246 กรณีการทุเลาบังคับคดีและชะลอการลงโทษไว้ก่อน ก็ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล หากยังไม่ได้ติดคุก ก็สามารถออกหมายแดงขังได้เลย ซึ่งกรณีนายทักษิณ ต้องนับวันว่าขังไว้แล้วหนึ่งวัน นับจำนวนที่เหลือและฝากขังได้เลย
ส่วน ที่ ป.ป.ช. พยายามจะขอเวชระเบียนที่เป็นบันทึกการรักษาตัวของนายทักษิณ ตั้งแต่วันแรก แต่วันนี้เวชระเบียนไม่สำคัญแล้ว เพราะแพทยสภา เรียกเอกสารมาหมดแล้ว จึงสามารถสรุปความผิดได้ เพราะฉะนั้น ป.ป.ช. สามารถเรียกแพทยสภา เอาเอกสารหลักฐานมาตรวจสอบได้เลย
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า อยากจะเตือนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ว่าวันนี้ความจริงปรากฏชัดเจนแล้วว่านายทักษิณไม่ได้ป่วย ตอนนี้ไม่มีใครช่วยคุณได้แล้ว ให้ 10 ทักษิณหรือ 100 ทักษิณ ก็ช่วยไม่ได้ มีทางเดียว คือ ให้ความจริงกับศาล หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้กระบวนการดำเนินคดีต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งหากร่วมมือกับศาล ก็จะมีการลดโทษให้ หรือถ้าให้เป็นพยานตั้งแต่ในชั้น ป.ป.ช. เขาก็อาจจะกันออกมาเป็นพยานได้
นอกจากนี้ยังมองว่า กรณีนี้กระทบกับรัฐบาลแน่นอน หากมีคนยื่นร้องจริยธรรม กรณีที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เคยระบุว่า พ่อมีอาการป่วยและผ่าตัด โดยตนมองว่าเรื่องนี้ผิดจริยธรรม แนะให้นายกฯ ประกาศยุบสภาและลาออกก่อนศาลมีคำวินิจฉัย