วิจัยระดับโลก พบเป็นสาเหตุการตายประชากรโลก แซงหน้าการสูบบุหรี่ ชี้เด็กต่ำกว่า 5 ปี น่าห่วง ขณะที่ ฝุ่น PM2.5 เชื่อมโยงการตาย 90% ย้ำฝุ่นจิ๋ว คุกคามสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังปกคลุมประเทศไทย อีกครั้งในช่วงต้นปี 2568 รายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 หรือ State of Global Air (SoGA) โดยสถาบัน Health Effects Institute (HEI) องค์กรวิจัยอิสระจากสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลโดยพบว่า มลพิษทางอากาศได้แซงหน้าการสูบบุหรี่และพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตประชากรโลก กระทบสุขภาพมนุษย์รุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม
ชีวิตที่ต้องเสียไป เพราะมลพิษในอากาศ
ข้อมูลล่าสุดในปี 2564 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศสูงถึง 8.1 ล้านคนทั่วโลก โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งพบว่าเสียชีวิตถึง 700,000 คน และที่น่าตกใจคือ เด็ก 500,000 คนในจำนวนนี้ เสียชีวิตจากการสูดดมควันพิษภายในครัวเรือน จากการประกอบอาหาร โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย
เอเลนา คราฟต์ ประธานองค์กร HEI เผยความหวังว่า รายงานนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
“มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมหาศาล เรารู้ดีว่าการปรับปรุงคุณภาพอากาศและการสาธารณสุขทั่วโลกเป็นสิ่งที่ต้องทำและสามารถทำให้สำเร็จได้”
เอเลนา คราฟต์
การศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทั่วโลกในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ปัจจุบัน มลพิษทางอากาศก้าวขึ้นมาเป็นปัจจัยอันดับ 2 ที่คุกคามชีวิต แซงหน้าปัจจัยอย่างการขาดแคลนน้ำ และอุณหภูมิที่ต่ำหรือสูงไป สำหรับผู้ใหญ่ ความดันโลหิตสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิต ขณะที่ มลพิษทางอากาศตามมาเป็นอันดับ 2 ตามด้วยบุหรี่ การกินไม่ดี และระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ขณะที่ ฝุ่น PM2.5 เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต เป็นอัตราส่วน 90% ของการเสียชีวิตทั้งหมดจากมลพิษทางอากาศ หรือประมาณ 7.8 ล้านคนในปี 2564 โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดโรคร้ายแรง ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
‘ฝุ่นพิษจิ๋ว’ ภัยคุกคามสุขภาพเด็กเล็ก
นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเด็กเล็ก โดยชี้ให้เห็นว่า โรคหอบหืดในเด็ก เป็นผลพวงมาจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ส่วนใหญ่มาจากไอเสียรถยนต์ เด็กจึงเป็นหอบหืดกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น
สุขภาพของเด็กถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากมลพิษทางอากาศ ตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็ก เนื่องจากร่างกายของเด็กยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ ปอดที่ยังไม่แข็งแรงของเด็กเล็ก รวมทั้งการดูดซับสารมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ มีความเชื่อมโยงกับโรคปอดบวม โรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
คิตตี้ ฟาน เดอร์ ไฮเดน รองผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ เผยว่า เด็กเล็กในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียใต้เผชิญมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสูงกว่าเด็กในประเทศร่ำรวยถึง 100 เท่า ทำให้เด็กจำนวนมากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีเด็กเล็กเกือบ 2,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทุกวัน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมและความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหานี้
“การเพิกเฉยของเรากำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนรุ่นต่อไป ส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ตลอดชีวิตของพวกเขา นี่คือความเร่งด่วนของโลกที่เราไม่อาจปฏิเสธได้”
“รัฐบาลและภาคธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงข้อมูลที่มีอยู่ในประเทศ และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและปกป้องสุขภาพของเด็ก ๆ”
คิตตี้ ฟาน เดอร์ ไฮเดน
ปัลวี พันท์ หัวหน้าฝ่ายสุขภาพทั่วโลกของ HEI ย้ำทิ้งท้ายถึงรายงานฉบับนี้ว่า “เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง มักจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง” โดยมองว่า รายงานนี้เป็นเครื่องตอกย้ำว่า มลพิษทางอากาศกระทบสุขภาพมนุษย์อย่างร้ายแรง
“ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศและเมืองใหญ่คำนึงถึงคุณภาพอากาศและมลพิษทางอากาศ และพิจารณาประเด็นเหล่านี้ในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ”
ปัลวี พันท์
อ้างอิงข้อมูล :
รายงานสภาวะอากาศโลก State of Global Air 2024 ฉบับเต็ม
ข้อมูลเพิ่มเติมในรายงาน State of Global Air