มองเป็นเพียงปฏิกิริยาหลังกระแส มาตรการนำร่อง 3 จังหวัดเป็นแพ็กเกจในฝัน แต่ยังไม่มั่นใจ เผย ปัญหาแพทย์ไทยอยู่ที่การกระจายตัว ไม่ใช่จำนวนรวม เสนอวางแผน สั้น-กลาง-ยาว และสร้างระบบให้แพทย์เอกชน-รัฐทำงานร่วมกัน
วันนี้ (19 เม.ย. 68) พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม หรือ หมอเบียร์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก ซึ่งได้ยื่นใบลาออกมาก่อนหน้านี้และจะมีผลวันที่ 1 มิ.ย. 2568 ให้สัมภาษณ์ The Active ต่อกรณีกระทรวงสาธารณสุข เสนอ 7 มาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนในพื้นที่ชายแดน โดยระบุว่า ต้องขอบคุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เร่งแก้ปัญหา หลายมาตรการถือว่ามีแนวโน้มที่ดี แต่ยังขาดความชัดเจนในเชิงปฏิบัติ และต้องการแผนระยะสั้น กลาง และยาวที่เป็นรูปธรรม

“มาตรการที่รัฐเสนอมา บางอย่างก็ดี แต่บางอย่างยังไม่เหมาะสม หรือยังไม่ชัดเจนพอ โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่นอกระบบสาธารณสุข ฟังแล้วจะไม่เห็นภาพ เราควรแยกให้ชัดว่าอะไรคือมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้เห็นผลได้จริง”
หนึ่งในมาตรการที่เห็นว่าเดินมาถูกทาง คือการนำร่องพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และตาก เพื่อจูงใจให้แพทย์ไปปฏิบัติงาน โดยใช้แนวทางแบบเดียวกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น
• การใช้ทุนเพียง 1 ปี และสามารถย้ายไปทำงานที่อื่นได้ในปีถัดไป
• ได้สิทธิบรรจุเป็นข้าราชการเร็วขึ้น
• นับปีราชการแบบคูณสองหรือคูณสาม
• เพิ่มค่า OT เป็น 1.5 – 2 เท่า
• ผ่อนปรนเงื่อนไขการทำผลงานวิชาการ
“ถ้าทำได้จริง ถือว่าเป็นแพ็กเกจในฝัน เด็กจบใหม่ได้ยิน ก็ต้องสนใจแน่นอน หรือแม้แต่คนที่จบจากต่างประเทศอย่างจีน ไม่มีงานทำ พอมีตำแหน่งพร้อมบรรจุในพื้นที่เหล่านี้ก็จะตัดสินใจง่ายขึ้น”
อย่างไรก็ตาม พญ.ณัฐกานต์ แสดงความกังวลต่อถ้อยคำบางส่วนในมาตรการที่อาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น เช่น คำว่า “โดยอาจจะเพิ่ม” หรือ “พิจารณาเพิ่ม” โดยเฉพาะกรณีการเพิ่ม OT ซึ่งผูกกับเงินบำรุงโรงพยาบาลที่หลายแห่งมีปัญหาขาดทุน โดยเฉพาะ รพ.ชุมชน
“แค่คำว่า ‘อาจจะ’ หรือ ‘พิจารณา’ ก็ทำให้ไม่มั่นใจแล้ว เพราะถ้าต้องใช้เงินบำรุงที่โรงพยาบาลขาดทุนอยู่แล้ว มันก็เป็นไปไม่ได้”
ในส่วนของการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากจังหวัดใกล้เคียง เธอมองว่ายังไม่ชัดเจนในรายละเอียด
“ต้องบอกให้ชัดว่าจะสนับสนุนยังไง เช่น จะมีค่าตอบแทนเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าย้ายหมอจากตากมาแม่สอด 2 เดือน จะจัดการอย่างไร ถ้าไม่ลงรายละเอียดให้ดี จะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้แพทย์อีก”
ส่วนมาตรการสนับสนุนระบบบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Telemedicine) นั้น พญ.ณัฐกานต์ มองว่าไม่ตอบโจทย์ แม้จะมีความพยายามใช้เทคโนโลยีมาช่วยบรรเทาปัญหาหมอขาดแคลนในพื้นที่ชายแดน แต่มองว่า วิธีนี้กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหามากกว่า เพราะหมอที่ต้องตรวจผู้ป่วยต่อหน้าอยู่แล้วก็ยังไม่พอ แต่กลับต้องสละเวลาหมอ 1 คน มานั่งเฝ้าหน้าจอแทน
“ข้อเสนอการใช้แพทย์เสมือนไม่ได้ช่วยลดภาระของหมอในระบบจริง กลับเป็นการเพิ่มภาระด้วยซ้ำ ถ้าเอาไปให้หมอเกษียณช่วยดู อาจลดภาระได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถรับรองคุณภาพได้ เช่น คนไข้บางคนอาจมีอาการมะเร็งระยะเริ่มต้น แต่หมอเสมือนวินิจฉัยช้า สุดท้ายเจอก้อนโตผ่านไปหลายเดือน แบบนี้คนไข้ก็เสียโอกาสในการรักษา ทั้งยังต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น”
พญ.ณัฐกานต์ ยังเสนอให้พิจารณาการเรียกเก็บค่าบริการบางส่วนในบางกรณี แทนที่จะให้บริการฟรีทั้งหมด โดยระบบ สปสช. ให้บริการฟรีจนคนไข้บางกลุ่มไม่เห็นคุณค่า คิดว่าไปหาหมอแล้วขอยาเพิ่มเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีความรับผิดชอบต่อการใช้บริการ หากเปลี่ยนเป็น co-payment บางกรณี เช่น เมาสุรา อุบัติเหตุจากไม่สวมหมวกนิรภัย จะช่วยให้คนไข้มีวินัยมากขึ้น
7 มาตรการรัฐ “เกาไม่ถูกที่คัน” แนะควรออกแบบระยะสั้น กลาง ยาวให้ชัด
เมื่อมองภาพรวม 7 มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข พญ.ณัฐกานต์มองว่า มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยข้อที่พอจะเป็นไปได้ คือ ข้อ 1, 5, 6 และ 7 ส่วนข้อ 2-3 เป็นเพียงแนวทางปกติที่ทำอยู่แล้ว ขณะที่บางข้อยังขาดรายละเอียด เช่น การดึงบุคลากรจากพื้นที่อื่น ต้องอธิบายให้ชัดว่าจะดึงอย่างไร ใช้หลักเกณฑ์อะไร
หมอยกตัวอย่างจาก รพ.แม่สอด ที่มีหมอกระดูกถึง 8 คน ในขณะที่ รพ.ชุมชน รอบข้างไม่มีเลย จึงส่งหมอไปออกตรวจช่วย แต่เพราะเป็นงานในเวลาราชการ กลับเบิกค่าเดินทางหรือเบี้ยเพิ่มพิเศษไม่ได้ หมอต้องควักเนื้อ ขับรถไปเองด้วยจิตอาสา สะท้อนถึงความไม่ยั่งยืนของระบบที่อิงกับความเสียสละของบุคลากร มากกว่าจะมีระบบสนับสนุนที่ชัดเจน
“ดูเหมือนรัฐแค่พยายาม ‘มีแอคชั่น’ หลังมีกระแส แต่ยังไม่แก้ปัญหาให้ตรงจุด บางมาตรการที่เคยพูดก็ยังไม่เริ่มเลย เช่น OT 2 เท่าก็พูดกันมานาน บาง รพ. มีเงินก็จ่ายให้ 2 เท่า บางที่ไม่มีเงิน ก็ให้ไม่ได้เลย ทั้งที่กระทรวงมีแต่จดหมายบอกให้เพิ่ม แต่ไม่ได้ส่งงบฯ ไปด้วย”
ปัญหาหลักคือ “การกระจายตัว” ไม่ใช่จำนวนแพทย์
พญ.ณัฐกานต์ ย้ำว่า เมื่อพิจารณาจากจำนวนแพทย์รวมทั้งประเทศพบว่าอาจจะยังไม่ขาดแคลนมาก ปัญหาอยู่ที่การกระจายตัวของแพทย์มากกว่า แพทย์จำนวนมากอยู่ในภาคเอกชนหรือพื้นที่เมือง ส่วนพื้นที่ชนบทยังขาดแคลนอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องวางแผนใหม่ทั้งระบบ ทั้งการผลิตแพทย์ การวางโควต้า และเปิดช่องให้หมอในพื้นที่ได้กลับไปทำงานบ้านเกิด
“ถ้ารัฐไม่สามารถดึงหมอเอกชนกลับมาเต็มตัวได้ ก็ควรเปิดช่องให้ทำงานร่วมกันแบบ part-time หรือให้ภาครัฐไปทำงานกับเอกชนบ้าง เราต้องมองระบบเป็น 3 ส่วน คือ หมอเอกชนล้วน หมอภาครัฐล้วน และหมอที่ทำงานร่วมกัน ถ้าออกแบบดี แพทย์ก็จะไม่ขาด แต่วันนี้กลับยังไม่มีใครพูดถึงตรงนี้เลย”
วิจารณ์รัฐแก้ปัญหาแบบ “วงแคบ” และไม่สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังชี้ว่า การแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ที่มีสื่อโซเชียลออกมาเรียกร้อง เป็นการมองปัญหาแบบแคบมาก เพราะประเทศไทยมีถึง 76 จังหวัด แต่กลับแก้เพียง 2-3 จังหวัดเท่านั้น
“เอาง่าย ๆ แม้แต่คนกรุงเทพฯ ยังเข้าถึงบริการไม่ได้ ส่งต่อกันไปมา รับใบรีเฟอร์กันจนป่วยหนักก็ยังไม่ได้เจอหมอ การมองปัญหาเฉพาะจังหวัดจึงไม่ใช่ทางออก ต้องมีแผนทั้งประเทศ”
ไม่คาดหวัง พ.ร.บ.บุคลากรฯ แต่เสนอให้เปิดช่องผู้เชี่ยวชาญมีส่วนร่วม
ในส่วนของ พ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข ที่รัฐเสนอว่ากำลังดำเนินการ หมอเห็นว่าไม่คาดหวัง เพราะถึงออกมาก็อาจไม่ได้ดีกว่าระบบ ก.พ. เดิมมากนัก แต่เสนอให้รัฐเปิดช่องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความเห็นกับ ก.พ. อย่างไม่จำกัด โดยเฉพาะในเรื่องการจัดสรรทุนเฉพาะทาง
“เช่น สมมุติว่าพื้นที่นี้ขาดหมอสมอง เราก็บอกให้ให้ทุนไปเลย 3-4 ทุน ไม่ใช่ให้แค่ 1 คนต่อปีโดยไม่ดูความต้องการของพื้นที่ ก.พ. อาจไม่ผิด เพราะเขาไม่มีข้อมูลในพื้นที่ แต่ควรเปิดช่องให้คนในวิชาชีพเข้าไปให้ข้อมูลด้วย”
นับคาร์บได้ 26 ล้านคน” แล้วลดผู้ป่วยได้จริงหรือ?
กรณีที่กระทรวงตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วย 30% ใน 2 ปี จากนโยบาย “นับคาร์บ” พญ.ณัฐกานต์ มองว่าเป็นเป้าหมายที่ดี แต่จะทำได้หรือไม่ ต้องดูบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประชากรไทย
“เรารู้อยู่แล้วว่ากินโปรตีน ออกกำลังกายจะช่วยสุขภาพดีขึ้น แต่มันไม่ใช่ทุกคนทำได้ เพราะประชากรไทยส่วนใหญ่กินข้าวเป็นหลัก ทำงานเกษตร มีรายได้จำกัด แล้วจะไปซื้อโปรตีนดี ๆ กินได้ยังไง ถ้าจะลดคนไข้ ก็ต้องศึกษาวิถีชีวิตคนไทยให้ดีก่อน”
พูดถึงเรื่องโปรตีน ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากสัตว์หรือพวกโปรตีนทางเลือกที่มาจากพืช ก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีทั้งนั้น แต่เอาจริง ๆ แล้วประชาชนส่วนใหญ่ยัง ‘เข้าไม่ถึง’ เพราะฉะนั้น นโยบายสุขภาพต้อง ‘แมตช์’ กับบริบทของคนไทยด้วย เช่น นโยบายลดไขมัน เพิ่มการออกกำลังกาย ก็ดี แต่เอาเข้าจริง บางคนยังนับคาร์บไม่เป็นเลย บางทีหมอเองยังนับไม่เป็นด้วยซ้ำ อันนี้พูดตรง ๆ
ที่กระทรวงฯ บอกว่านับคาร์บได้ 26 ล้านคน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่ เมื่อยังกินเหมือนเดิม ปลาร้าปลาเค็มก็ยังกินอยู่ นโยบายแบบนี้ไม่ได้ ‘เปลี่ยนพฤติกรรม’ จริง ๆ