พรรค-บารมีบ้านใหญ่-ผลงาน ปัจจัยชนะ เลือกตั้ง อบจ.

“สติธร” ชี้ อิทธิพลบ้านใหญ่ ประชาชนตื่นตัว ส่งผล “พรรคประชาชน” คว้าชัย จ.ลำพูน มอง “ทักษิณ” ยังทรงอิทธิพล แม้เกือบเสียท่าพ่าย จ.เชียงใหม่ บ้านเกิด ย้ำจัดเลือกตั้งวันเสาร์คนมาใช้สิทธิน้อยกว่าวันอาทิตย์ ฝาก กกต. แก้กฎหมาย เอื้อ ประชาชนใช้สิทธิเพิ่ม

วันที่ 2 ก.พ. 2568 ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 47 จังหวัด อย่างไม่เป็นทางการ จากการนับคะแนน 1 ก.พ. 2568 พบว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย กวาดที่นั่งไป 10 จังหวัด (จ.เชียงใหม่, จ.ลำปาง, จ.แพร่, จ.น่าน, จ.หนองคาย, จ.สกลนคร, จ.นครพนม, จ.มหาสารคาม, จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี) ขณะที่ พรรคประชาชน 1 จังหวัด (จ.ลำพูน) พรรคชาติไทยพัฒนา 1 จังหวัด (จ.สุพรรณบุรี) ส่วนอีก 35 จังหวัด เป็นผู้สมัครอิสระ/กลุ่มการเมือง

The Active ชวนวิเคราะห์หลังผลการเลือกตั้ง กับ สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ถึงผลการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้สะท้อนอะไร ? ทำไม จ.เชียงใหม่พรรคประชาชน เอาชนะเพื่อไทยไม่ได้ ? ทักษิณมีอิทธิพลแค่ไหน ? จ.ลำพูน ที่พรรคประชาชนชนะ แต่ก็มาจากทายาทบ้านใหญ่ ? สรุปแล้วเลือกตั้งวันเสาร์มีผลแค่ไหน ? กกต. ได้บทเรียนอะไรบ้าง ?

“ทักษิณ” ทรงอิทธิพล แต่โดน “น้ำเงิน” รวบหลายที่

จากผลการเลือกตั้ง อบจ. ในพื้นที่ 47 จังหวัด สติธร วิเคราะห์ว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ที่รับบทผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยยังทรงอิทธิพลอยู่ เพราะอย่างน้อยยังสามารถรักษาชัยชนะส่วนใหญ่ไว้ได้ ตามที่คาดไว้คือ 70% ยังไม่นับรวมที่ไม่ได้ส่งในนามพรรค ที่ให้การสนับสนุนผู้สมัครบ้านใหญ่ที่ไม่ได้ส่งในนามพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่จากการออกตัวแรงของทักษิณก็ยังทำให้ในบางพื้นที่ยังไม่สามารถเอาชนะได้

“จากการออกตัวแรงขนาดนี้ อาจจะดูเสียท่านิดหน่อย ในหลายพื้นที่ เพราะไปลงพื้นที่ ขึ้นเวที มีที่แพ้ไปชัด ๆ 3 จังหวัด ที่ก็เลยมีคนตั้งข้อสงสัยว่าทักษิณมีมนต์ขลังอะไรหรือเปล่า”
สติธร ธนานิธิโชติ

สติธร กล่าวว่า 3 จังหวัดนี้ไม่นับรวม จ.ลำพูน ที่พรรคประชาชนได้ชัยชนะไป เพราะทักษิณไม่ได้เอาจริงเอาจัง กับพื้นที่ จ.ลำพูน คือ อาจจะคาดไม่ถึงว่าพรรคประชาชนจะได้ แต่ที่ลุยหาเสียงอย่างหนัก คือที่ลงหนักคือ จ.เชียงราย ที่ลงไป 2 รอบ และ จ.ศรีสะเกษ ที่ไม่สามารถเอาชนะแชมป์เก่าได้ ถือว่าเสียรังวัดไปประมาณหนึ่ง ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ที่ได้ชนะมาแบบสูสี ถือว่า เสียเครดิตเช่นกัน เพราะเป็นจังหวัดบ้านเกิด เดิมพันสูง ลงพื้นที่ไปหลายรอบเช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะได้ชนะขาดลอยมากกว่านี้ 

นายก อบจ.ลำพูน พรรคประชาชน ทายาทบ้านใหญ่

ขณะที่ จ.ลำพูน วีระเดช ภู่พิสิฐ หรือ “โกเฮง” ผู้สมัครนายก อบจ. จากพรรคประชาชน ได้รับชัยชนะไปนั้น พบว่า วีระเดช เองก็เป็นทายาทของ “โกเก๊า” ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูน และอดีตประธานหอการค้า จ.ลำพูน 

สติธร กล่าวว่า การเป็นทายาทบ้านใหญ่ของ วีระเดช มีผล แต่ต้องให้เครดิต เพราะแม้ว่าพ่อจะเคยเป็นอดีต นายก อบจ.ลำพูน จริง แต่ถือว่าเนิ่นนานมาพอสมควร แต่เครือข่ายของพ่อในจังหวัดที่เคารพนับถือกันก็คงจะมีอยู่ กล่าวคือ ไม่ได้เป็นคนที่อยู่นอกวงการเมืองท้องถิ่น บวกกับผสมสีส้ม หรือ พรรคประชาชน ขณะที่ในตัวของ วีระเดช  ก็ทำงานการเมืองตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงเป็นพรรคประชาชน และเพิ่งกระโดดลงมาสมัครรอบนี้ ซึ่งถือว่านอกจากอาศัยเครือข่ายดั้งเดิมของพ่อ บวกกับกระแสพรรคแล้วชนะ ซึ่งมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นเสียทีเดียว

“เจ้าตัวก็ทำงานกับพรรค มาตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่ ถือว่าเป็นคนทำงานเชิงพื้นที่ใน จ.ลำพูน ต่อเนื่อง และด้วยความต่อเนื่องนี้ เลยกลายเป็นตัวเสริมและเป็นลักษณะพิเศษที่จังหวัดอื่นอาจจะมี แต่ไม่เข้มข้นเท่า เพราะเวลาพูดถึงการเมือง อย่าง อบจ. จำเป็นต้องคนที่ติดพื้นที่ ทำงานในพื้นที่ เสนอตัวขึ้นมาเป็นผู้สมัครระดับ นายก อบจ. ที่ชาวบ้านได้พอเห็นหน้าเห็นตา และเห็นเครือข่าย เห็นทีมงาน เห็นผลงานเห็นศักยภาพบางอย่างที่โอเค ซึ่งมันต้องไปหาแนวร่วมกับคนอื่นในจังหวัดด้วย ซึ่งจะทำให้มีโอกาสแบบนี้”
สติธร ธนานิธิโชติ

ผู้มาใช้สิทธิ จ.ลำพูน 73% สะท้อนประชาชนตื่นตัว ในท้องถิ่นที่ทำงานเชิงพัฒนา

จากการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิ 73.43% สวนทางกับพื้นที่ จ.อื่น ที่ประชาชนมาใช้สิทธิน้อย สติธร อธิบายว่า จ.ลำพูน มีศักดิ์ศรีพิเศษเฉพาะตัว จ.เชียงใหม่ ก็เช่นกัน ซึ่ง 2 จังหวัดนี้ จะแข่งขันกัน เนื่องจากคนลำพูน คนเชียงใหม่ ประชาชนจะตื่นตัวทางการเมือง เขาจะเป็นแชมป์ผลัดกันแพ้ชนะในจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ จ.ลำพูน จะชนะบ่อย ซึ่ง ในการเลือกตั้งระดับประเทศของ 2 จังหวัดนี้ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 83% มานานแล้ว นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ผู้มาใช้สิทธิสูงกว่า 80% มาโดยตลอด 

สติธร บอกอีกว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่น จ.ลำพูน ไม่หย่อนไปกว่าระดับประเทศ ต่างจากจังหวัดอื่น คือ จะสูงกว่า 70% มาตลอด ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ การเลือกตั้ง อบจ. 2563 ก็เกิน 70% คือ เป็น 2 จังหวัด ที่คนให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในระดับตัวท็อปของประเทศ

“จ.ลำพูน นี่คือติดอันดับ 1 พอเขาเป็นตัวท็อปแบบนี้ แปลว่า แม้ว่าท้องถิ่นอาจจะออกไปใช้สิทธิน้อยกว่าระดับชาติที่ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต แต่หายไปในระดับที่โอเค ประมาณ 10% เท่านั้น จะไม่เหมือนที่อื่น คือ หายไป 15% บ้าง 20% บ้าง บางจังหวัดอาจจะหายไป 25% เลย หมายความว่า สำหรับพรรคประชาชน คะแนนที่เขาใช้ในการคิด ที่วางไว้ว่าฐานเสียงมีเท่านี้ โดยเอาคะแนนเลือกตั้งระดับชาติ ปี 2566  คิด อาจจะพอใช้ได้ คือหายไปไม่เกิน 10% จากคะแนนที่มีอยู่ ซึ่งต้องดูในจังหวัดที่พอจะสร้างกระแสได้ จังหวัดที่คนมีโอกาสจะออกมาเลือกตั้งเยอะ แต่ในปริมาณที่คนออกมาเลือกตั้งเยอะแน่นอนว่าจะมีคนที่อยู่นอกเครือข่ายการเมืองทั่วไปอยู่พอสมควร”
สติธร ธนานิธิโชติ

การบริหารท้องถิ่นดี แรงจูงใจออกมาใช้สิทธิ 

เมื่อถามว่าการบบริหารของท้องถิ่น มีส่วนที่ทำให้ประชาชน จ.ลำพูน หรือ จ.เชียงใหม่ ออกมาใช้สิทธิด้วยหรือไม่ สติธร ตอบว่า รอบนี้การเลือกตั้ง อบจ. ก็จริง แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นแม้ว่าจะเลือกกันคนละวัน แต่สนามท้องถิ่นมีความเชื่อมโยงกันไปหมด เพราะหลังจากนี้จะมีการเลือกเทศบาล และ อบต. เวลาลงสนามหาเสียง อบจ. จะมีคนจากเทศบาล คนจาก อบต. มาช่วย คนจะมีความรู้สึกว่าเห็นเป็นทีม ที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน และลักษณะพิเศษของ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ ซึ่งจริง ๆ มีอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น จ.ลำปาง จ.เชียงราย มีลักษณะเป็นรูปแบบท้องถิ่นที่ทำงานเชิงพัฒนา ตอบโจทย์ประชาชน และหลายที่มีหัวก้าวหน้า มีโครงการที่ทันสมัยและได้ใจประชาชนอยู่พอสมควร คือ เขาใช้โอกาสในการเข้าไปทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการทำงานจริง ๆ ด้วย 

“และไม่ใช่การแก้ปัญหารายวันในช่วงวิกฤตเพียงอย่างเดียว จุดอ่อนของท้องถิ่นหลายที่ คือเข้าไปมีตำแหน่งแล้วชอบทำงานแค่รูทีน อ้างว่างบฯ ไม่เยอะ ทำได้ไม่มาก ก็จะไม่ค่อยได้ทำอะไร แต่ท้องถิ่นอย่าง ลำพูน เชียงใหม่ จะพบว่าหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่ อบจ. แต่เทศบาล อบต. ก็ค่อนข้างจะขยันขันแข็ง และ ตัว นายก อบจ. ก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เขาจะเรียนรู้และประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะไปแลกเปลี่ยน และแสดงให้คนอื่นเห็น เป็นพื้นที่ดูงาน ท้องถิ่นเหล่านี้มีความสำเร็จประมาณนี้ เลยทำให้คนรู้สึกว่าเลือกแล้วไม่ใช่ว่าเลือกใครก็ได้ คือเลือกแล้วไม่เสียของ คนก็เลยออกมาเลือก”
สติธร ธนานิธิโชติ

“กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” โจทย์หนัก วัด “ฝีมือผู้ชนะ”

หากมองย้อนกลับไปฟังนโยบายที่ “ผู้ช่วยหาเสียง” หยิบขึ้นมากล่าวในหลายเวที จะพบว่า ฝั่งพรรคเพื่อไทย จะมีจุดเด่นที่ อบจ. ทำงานเชื่อมโยงกับ รัฐบาลกลาง ขณะที่ ผู้ท้าชิงอย่าง พรรคประชาชน มีจุดขายเรื่อง “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาในรูปแบบเช่นนี้ ก็มีคำถาม ว่า กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะมีหน้าตาอย่างไรหลังจากนี้ ?

สติธร ชี้ว่า ถ้าเรามองการกระจายอำนาจในมิติที่ว่า เราต้องไปปฏิรูปโครงสร้างการกระจายอำนาจกันใหม่ โดยการไปแก้กฎหมาย อาจจะเพราะมีกระแส แต่ว่าตรงนี้ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะต้องยอมรับว่า คนที่ได้เปรียบบนการกระจายอำนาจในรูปแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ยังมีเยอะอยู่ คนที่ชนะก็ยังไม่อยากเปลี่ยน…

แต่ด้วยผลการเลือกตั้งที่ออกมา สติธร มองว่า เป็นความท้าทายผู้ชนะ นายก อบจ. โดยเฉพาะคนที่ถูกเรียกว่า “บ้านใหญ่” หรือ ผู้ชนะที่เขาบอกว่า “มีพรรคใหญ่สนับสนุน” หรือ ผู้ชนะที่บอกว่า “ต้องเชื่อมโยงกับส่วนกลางถึงจะดี” เพราะเขารู้สึกว่าการเชื่อมโยงกับส่วนกลางเป็นจุดแข็ง แต่กลับทิ้งเรื่องของการที่ท้องถิ่นต้องมีศักยภาพดูแลตัวเอง ตอบสนอง ความต้องการของ ประชาชนให้ได้เหมือนกัน 

“เพราะว่าคู่แข่งของเขาที่เสนอแนวนี้ เขาท้าทายกลับมาได้  ส่วนคนที่เป็นแชมป์เก่าคนที่ทำงานเชื่อมกับพรรคใหญ่หรือส่วนกลาง ก็จะเหนื่อยแสนสาหัส กับการได้รับชัยชนะรอบนี้ แปลว่าเขามีโอกาสได้เข้าไปทำงานอีก 4 ปี เขาก็ต้องคิดเรื่องนี้ด้วยว่ามันต้องทำ 2 ด้าน เชื่อมส่วนกลางลงมา เพื่อขับเคลื่อนต่อ ขณะเดียวกันด้วยศักยภาพที่มีของตัว อบจ. เอง มันควรจะทำอะไรให้ได้เป็นมรรค เป็นผล เป็นรูปธรรมและประชาชนพอใจ และจะต้องทำให้เห็นว่า อบจ. ที่แม้ว่าจะมีข้อจำกัดอะไรก็ตาม แต่ อบจ. สามารถทะลายข้อจำกัดนั้นได้ โดยการแสดงศักยภาพให้ประชาชนเห็น เรื่องแบบนี้จะถูกคิดมากขึ้น และถูกแสดงออกให้เห็นมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็จะรอครั้งหน้า ถ้าคนตื่นตัวออกมาเลือกตั้งมากกว่านี้เขาก็มีสิทธิแพ้ได้”
สติธร ธนานิธิโชติ

ฝากการบ้าน กกต. แก้กฎหมาย เอื้อ ประชาชนใช้สิทธิ

จากที่เห็นภาพเชิงประจักษ์และคะแนนที่ออกมาในแต่ละพื้นที่ แม้ว่า กกต.จะยังไม่ออกมาประกาศจำนวนผู้มาใช้สิทธิอย่างเป็นทางการพอจะบอกได้ว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิในสัดส่วนที่น้อยกว่าการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปี 2563 แน่นอน สติธร ระบุว่า นี่คือหลักฐานประจักษ์ชัดเจนว่าการจัดเลือกตั้งวันเสาร์คนมาใช้สิทธิน้อยกว่าวันอาทิตย์ และเมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์แบบนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องคิดหนักในเรื่องนี้ และต้องจัดเลือกตั้งวันอาทิตย์ให้ได้ 

“กกต. จะอ้างว่าเป็นเพราะประชาสัมพันธ์ไม่ดีพอ แต่ ไม่คิดว่าเป็นแบบนั้นเพราะ เมื่อกำหนดวันแล้ว ในความเป็นจริงประชาชนที่สนใจเลือกตั้ง จะตัดสินใจได้ตั้งแต่วันที่รู้แล้วว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันอะไร จะว่างหรือไม่ว่าง คือ กกต. ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสะดวกที่สุด”
สติธร ธนานิธิโชติ

สติธร ย้ำว่า กกต. ต้องเปิดใจกว้างเมื่อมีการเสนอทบทวนกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น ควรจะพิจารณาให้ครบทุกเรื่องที่ ที่ประชาชนพูดถึง ไม่ใช่แค่เรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง แต่ยังมีเรื่อง การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต หรือ การเอาวิธีการการเลือกตั้งแบบอื่นเข้ามาใช้ นอกเหนือจากการต้องให้กลับบ้านไปเข้าคูหาเท่านั้น และต้องเลือกให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของท้องถิ่น

“ท้องถิ่นคือการบริการคนในชีวิตประจำวันไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราได้รับบริการสาธารณะที่ไหน ได้รับบริการจากท้องถิ่นไหนเราก็ควรเลือกที่นั่น ทำไมต้องไปผูกกับทะเบียนบ้าน ที่เราอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ ดังนั้นการแก้กฎหมายจะเป็นทางออก”
สติธร ธนานิธิโชติ

ในฐานะอนุกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ​​ สติธร ​ระบุว่า จากที่ได้เชิญกรมการปกครองมาหารือพบว่าไม่มีปัญหาทางเทคนิค​ รูปแบบจะคล้ายกับการเลือกตั้งที่เราต้องไปลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต เพียงแต่ว่านี่เป็นการให้สิทธิกับคนที่ทะเบียนบ้านไม่ได้อยู่ในพื้นที่ สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิในพื้นที่นั้นได้ โดยอาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้แสดงหลักฐาน เช่น อาศัยอยู่พื้นที่นี้มาแล้วกี่ปีถึงจะขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้ หรือจะมีหลักฐานอย่างไรที่ บอกว่าคุณใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active