การแก้ไข พ.ร.ก.การประมง ที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาสูง จะเป็นการชี้ชะตาทะเลไทย ว่า บรรดาสัตว์น้ำวัยอ่อนจะอยู่รอดต่อไปหรือไม่ ? และถ้ากฎหมายนี้ผ่านสภาฯ นี่จะเป็นการตอกย้ำปัญหาจำนวนปลาทูไทยที่ลดฮวบอย่างมากในช่วงปีให้หลัง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการใช้ อวนตาถี่ ดักจับสัตว์น้ำ ตัดตอนก่อนจะโตเต็มวัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรปลาทูไทยเหลือน้อยเต็มที
ผู้ร่วมปลุกปั้นมาสคอตประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ถอดแบบมาจาก ปลาทูแม่กลอง กล่าวถึง ‘ปาป้า-ทูทู่’ แม้หน้าจะงอ และคอหัก แต่ความรักที่มีให้เมืองแม่กลองนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และวันนี้ ปาป้า และ ทูทู่ อยากจะขอส่งเสียงแทนเพื่อนปลาทูไทย ที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายจากกฎหมายเอื้อ อวนตาถี่ หรือ อวนตามุ้ง ที่แม้แต่ปลายดินสอก็ทะลุออกไปไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับลูกปลาวัยอ่อน
เพราะ ปาป้า-ทูทู่ ไม่ใช่แค่พรีเซนเตอร์ขายของ หรือทูตการท่องเที่ยว แต่มันคืออีกหนึ่งชีวิตที่อาศัยร่วมกับคนแม่กลอง ร่วมหัว จมท้ายไปพร้อมกัน ดังนั้น การสื่อสารประเด็นทางสังคมผ่านมาสคอต จึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทใหม่ ๆ ที่เราไม่ค่อยเห็นผ่านมาสคอตในประเทศไทย
มีอะไรที่ภาครัฐยังไม่เข้าใจในบทบาทของมาสคอต The Active ชวนทำความเข้าใจผ่านคำอธิบายของ ‘เต – เตชสิทธิ์ ยศวิปาน’ หนึ่งในผู้สร้างสรรค์เนื้อหาของ ปาป้า-ทูทู่ (เพจ : Plaplatootoo) ผู้ปลุกชีวิตเมืองแม่กลอง ด้วยมุมมองของทุนทางวัฒนธรรมที่สดใหม่
ปาป้า-ทูทู่ : เอเลี่ยนหน้างอ คอหัก ลงมาสำรวจโลก แต่กลับหลงเสน่ห์เมืองแม่กลอง
ปาป้า-ทูทู่ หนึ่งในมาสคอตหน้าตายียวนที่ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจากปลาทูแม่กลอง แต่ถึงรูปลักษณ์ของมันจะหน้างอ และคอหัก แต่มันไม่ใช่ปลาทูอย่างที่เราเข้าใจ แท้จริงแล้ว ปาป้า คือเอเลี่ยนจาก ‘ดาวแม็กแม็กเคอเคอเรลเรล’ ที่กำลังออกสำรวจจักรวาล ก่อนพบว่า รูปร่างของจังหวัดสมุทรสงคราม มีความละม้ายคล้ายกับพ่อตัวเอง จึงได้พุ่งทะยานมาสำรวจที่จังหวัดแห่งนี้ พร้อมกับคู่หู ทูทู่ หุ่นยนต์เก็บข้อมูลรูปร่างคล้ายกลองสีเหลืองลอยน้ำ (ไม่ใช่ที่คาดผมแต่อย่างใด) ซึ่งเป็นตราประจำจังหวัดสมุทรสงคราม
จนมาวันนี้ ปาป้า-ทูทู่ อาศัยอยู่ในเมืองแม่กลองมา 4 ปีแล้ว ได้พบเห็นวันที่เมืองร้างผู้คน การท่องเที่ยวซบเซาจากการแพร่ระบาดโควิด จนมาถึงวันที่ฟื้นฟูอีกครั้ง กระทั่งเกิด การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ และกฎหมายประมงฉบับใหม่ ที่เอื้อการใช้ อวนตาถี่ หรือ อวนตามุ้ง ตอกย้ำวิกฤตปลาทะเลไทย และวิถีชาวประมง ด้วยความรักและหวงแหนเมืองนี้ มันจึงอยากเป็นอีกหนึ่งเสียง ช่วยพูดแทนปลาทูไทย และเพื่อนพี่น้องสัตว์ทะเลในเมืองแม่กลอง
อ่าน : เราจะอดกินปลาทูไทย! หาก พ.ร.ก.ประมง ปลดล็อก ‘อวนตามุ้ง’ ตัดตอนปลาวัยอ่อน
ด้วยเลือดเนื้อของคนแม่กลอง และเติบโตมากับปลาทูแม่กลอง เต-เตชสิทธิ์ ยศวิปาน หนึ่งในผู้สร้างสรรค์เนื้อหาของ ปาป้า-ทูทู่ (อีกคนคือ วิน-ภัทรพงศ์ ชูสุทธิสกุล ผู้ออกแบบมาสคอต) เปิดใจกับ The Active ว่า ปลาทูเป็นวิถีชีวิต และเป็นเศรษฐกิจของเมืองแม่กลอง แต่การประมงในปัจจุบันเข้าไปตัดตอนวงจรชีวิตปลาวัยอ่อน ทำให้ปลาทูดั้งเดิมของแม่กลองกำลังหายไป บนจานอาหารของคนไทย กำลังถูกแทนที่ด้วยปลาทูนำเข้า ทั้งตัวใหญ่กว่า และให้รสสัมผัสที่หยาบ แห้ง กระด้าง เนื้อไม่มัน ฉ่ำ เข้มข้นเหมือนปลาไทย
“พอไปอ่านมาตรา 69 ที่จะแก้ไขใน พ.ร.ก. ประมงฯ คือมันค่อนข้างน่ากลัว มันใช้อวนตาถี่ล้อมจับในเวลากลางคืน แล้วก็ใช้แสงไฟล่อ ยิ่งลูกปลาทูก็มีปฏิกิริยาต่อแสงไฟ จากนี้ปลาเด็ก ๆ จะถูกจับไปมากขึ้น แล้วมาสคอตของเราก็มาจากปลาทู เราก็เลยออยากส่งเสียงแทนปลาทูไทย ก่อนจะไม่เหลือปลาไทยให้คนไทยได้ทานอีก”
เต-เตชสิทธิ์ ยศวิปาน
ข้อกังวลสำคัญในกฎหมายประมงที่กำลังถูกแก้ไขใหม่ คือ การอนุญาตให้มีการใช้อวนขนาดตาถี่ 3 – 5 มิลลิเมตร เพื่อจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่ห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล แต่พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนกว่า 65 ชนิด ทั้งยังเปิดช่องให้ใช้แสงไฟล่อสัตว์น้ำในเวลากลางคืน และนั่นอาจหมายถึงจุดจบของทะเลไทย เพราะการจับปลากะตักในตอนกลางวัน มีอัตราการสูญเสียปลาพลอยจับ (By Catch) เพียง 7% ขณะที่การใช้ไฟล่อในตอนกลางคืนอาจทำให้สูญเสียถึง 30 – 40%
‘ปาป้า-ทูทู่’ มาสคอตน่ารัก แต่รัฐยังไม่เข้าใจ ?
แท้จริงแล้ว ปาป้า-ทูทู่ ไม่ใช่มาสคอตอย่างเป็นทางการของเมืองแม่กลอง แต่มาจากการประกวด ‘Change 2021: Visual Character Arts’ ของ CEA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์) ซึ่งเป็นโครงการที่ชวนนักออกแบบมาประกวด Local Character ประจำท้องถิ่น ซึ่ง เต และ วิน ก็หยิบเอาสมุทรสงครามมาเป็นแรงบันดาลใจ
ในช่วงตั้งไข่ เต และ วิน 2 ผู้สร้าง พยายามเสนอ ปาป้า-ทูทู่ ให้ อบจ.สมุทรสงคราม แต่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งทางภาครัฐเองก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องเอาไปใช้อย่างไร ทำให้สองผู้สร้างตัดสินใจเริ่มดัน ปาป้า-ทูทู่ ให้มีชื่อเสียงเสียก่อน ผ่านการเข้าร่วมโครงการ กิจกรรม เทศกาลในพื้นที่ เอาปาป้า-ทูทู่ ไปเดินในเมืองให้คนพบเห็นเยอะ ๆ จากนั้นมา ปาป้า-ทูทู่ ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น กลายเป็นเอเลี่ยนที่ได้รับความเอ็นดูจากคนในพื้นที่
“ล่าสุดมาสคอตก็ถูกฝ่ายภาครัฐติดต่อขอเอาไปใช้ ซึ่งเราก็ยินดี แต่เราก็จะเห็นว่าเขาเอามาสคอตเราไปแต่งเติมเพิ่ม ทาปากสีแดง กางเกงสีแดง ซึ่งเหมือนทางการไทยยังไม่รู้วิธีใช้ เหมือนคุณเอาโดราเอมอนมาเปลี่ยนสี ก็คงไม่ใช่”
เต-เตชสิทธิ์ ยศวิปาน
เต ยังอธิบายว่า การนำมาสคอตไปใช้แบบไม่เข้าใจตัวตนของมัน จะทำให้มาสคอตเสียภาพลักษณ์ หลุดจาก Cooperate Identity (CI) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมไทยยังไม่เข้าใจบทบาทของการมีมาสคอต จริง ๆ มันไม่ใช่แค่มันสวยงาม น่ารัก หรือเอาไว้โปรโมตการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถสื่อสารแทนคนในท้องถิ่น ทั้งเรื่องดี ๆ ที่อยากให้คนข้างนอกมองเห็น และเรื่องทุกข์ร้อนที่ต้องการความช่วยเหลือ
สร้างมาสคอตให้มีชีวิต มีสิทธิพูดเรื่องของสังคม และอยู่ร่วมกับผู้คน
เป้าหมายของมาสคอตที่ เต ได้เล่าไปแล้วคล้ายกับกรณีเมื่อปี 2559 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ จังหวัดคุมะโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจังหวัดของมาสคอตหมีดำชื่อดังอย่าง ‘คุมะมง’ เชื่อว่าหลายคนคุ้นหน้าค่าตาเป็นอย่างดี
ในตอนนั้น ทางรัฐบาลท้องถิ่นต้องการสื่อสารการขอความช่วยเหลือและสร้างขวัญกำลังใจให้คนในพื้นที่ จึงร่วมมือกันระหว่าง มานาบุ มิซุโนะ Art Director และคุนโดะ โคยามะ นักเขียนบทโทรทัศน์ผู้ให้กำเนิดมาสคอตคุมะมง เปิดตัวโลโก้ใหม่ที่มี คุมะมง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและความเข้มแข็ง ในการฟื้นฟูจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของจังหวัด
โลโก้ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้บนเว็บไซต์ของจังหวัด รวมถึงนามบัตรของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและกระตุ้นพลังในการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังเชิญชวนองค์กรและสถานศึกษาให้ร่วมใช้โลโก้นี้ร่วมกันอีกด้วย
ภายหลัง คุมะมง ยังมีการโพสต์รูปเพื่อติดตามการบูรณะเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังออกไปพบเจอประชาชนในพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ โดยในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Mainichi คุมะมงได้กล่าวว่า “ผมมีความสุขมาก ผมจะพยายามอย่างเต็มที่ไปพร้อมกับชาวคุมาโมโตะ” เช่นเดียวกันกับ คินุเอะ นาสุ แม่บ้านจากเขตฮิกาชิ จังหวัดคุมะโมโตะ ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของคุมะมง กล่าวว่า “ฉันลำบากมากตอนที่เพื่อนของฉันได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว แต่คุมะมงคอยให้กำลังใจฉันเสมอ”
เต ยังเสริมว่า ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในวัฒนธรรมมาสคอต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานวัฒนธรรมพวกเขาเติบโตมาจากการ์ตูนหรือมังงะด้วย ที่สำคัญคือ สังคมญี่ปุ่นมองเห็นมาสคอตเป็นมากกว่าทูตการท่องเที่ยว หรือคนโปรโมตสินค้า เขาสร้างมาสคอตให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากเกิดประเด็นหรือเรื่องราวอะไรที่กระทบต่อบ้านเกิด อย่างเช่นแผ่นดินไหว ภัยพิบัติ มาสคอตเองก็พร้อมพูดแทนหรือรู้สึกร่วมไปกับคนในท้องถิ่น ผู้คนก็ให้กำลังใจมาสคอต มาสคอตก็ให้กำลังใจผู้คน เป็นการสร้างสายใยที่แข็งแรงในชุมชน
อย่าง ปาป้า-ทูทู่ เองที่ออกมาส่งเสียงเรื่องกฎหมายประมง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราเองก็ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ แต่มาสคอตได้แรงบันดาลใจจากปลาทูแม่กลอง และถ้าวันหนึ่งปลาทูแม่กลองจะต้องหมดไป ถ้าคิดในมุมของ ปาป้า-ทูทู่ มันก็คงอยากออกมาพูดแทนพี่น้องปลาทู และนอกจากนี้ ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ก็กระทบต่อวิถีชีวิตในชุมชนโดยตรง ในบทบาทของมาสคอตจำเป็นต้องออกมาสื่อสารเรื่องนี้
“เราพบว่า เสียงของปาป้า-ทูทู่ มีเสียงดังกว่า หลังจากเราลงโพสต์เกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายประมงตัวใหม่ พบว่า คนเข้าถึงโพสต์เป็นล้าน คนรีไปหลายหมื่นทวิต ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่า มาสคอตมันช่วยทำให้สารที่จะนำเสนอมันเข้าไปนั่งในใจคนได้ง่ายกว่า มันทำงานกับความรู้สึกของคนที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างออกไป มันก็สะท้อนถึงบทบาทมาสคอตที่ร่วมรู้สึกไปกับคนในสังคมด้วย”
เต-เตชสิทธิ์ ยศวิปาน
บทส่งท้าย : ให้มาสคอตมีชีวิต ให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง
ปาป้า-ทูทู่ และมาสคอตประจำท้องถิ่นอื่น ๆ จึงไม่ได้เป็นเพียงตัวการ์ตูนเพื่อความบันเทิง หรือการโปรโมตการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ทรงพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นเสียงแทนปลาทูแม่กลองที่กำลังจะหมดไป และเป็นสื่อกลางในการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีคุณค่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะผู้สร้างอย่าง เต เชื่อว่า ปาป้า-ทูทู่ นั้นมีชีวิต และมีความคิดเป็นของตัวเอง
เมื่อถอยออกมามองในภาพกว้าง ประเทศไทยเราเต็มไปด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มหาศาล ซึ่งทางรัฐบาลเองก็เล็งเห็น และผลักดันภายใต้นโยบาย Soft Power เพื่อหวังผลักดันเศรษฐกิจในชุมชนไปพร้อมกัน แต่การจะผลักดันวัฒนธรรมท้องถิ่นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่แข็งแรงพอ การอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ประกอบกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนอยู่ได้ในชุมชน สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นได้เลย หากเรายังไม่เริ่มรับฟังเสียงของคนในพื้นที่และให้อำนาจพวกเขาในการคิดและตัดสินใจ
ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึง คำถามสำคัญคือ งบประมาณพัฒนาเมืองที่ถูกจัดสรรนั้น ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้เพียงพอหรือไม่ ? ผู้บริหารท้องถิ่นจะสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างคุ้มค่าและโปร่งใสหรือเปล่า ? และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของท้องถิ่นอย่างไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน?
The Active ชวนติดตามเนื้อหา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ “เลือกอนาคตท้องถิ่น บ้านเรา…เรากำหนดเอง”
ติดตามเนื้อหาทั้งหมด ที่นี่