เมื่อ ‘การุณยฆาต’ อาจไม่ใช่สวรรค์…มอง ‘สิทธิเลือกตาย’ ผ่านมุมคิด 2 ผู้สร้างซีรีส์

แม้ซีรีส์ ‘การุณยฆาต’ ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์นวนิยายในชื่อเดียวกันได้ลาจอไปแล้ว แต่เรื่องราวที่ผ่านสายตาผู้ชม กลับกลายเป็นประเด็นร้อนทำให้สังคมหันกลับมาถกเถียงกันอีกครั้ง ว่า การุณยฆาต เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นหรือไม่ ? ในสังคมไทย

เพื่อเข้าให้ถึงเบื้องลึกของซีรีส์เรื่องนี้ The Active ชวน 2 ผู้สร้างสรรค์ซีรีส์ การุณยฆาต ‘ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์’ ครีเอเตอร์ & สคริปต์ไรท์เตอร์ และ ‘วรวิทย์ ขัตติยโยธิน’ ผู้กำกับ สะท้อนถึงที่มาที่ไปและหลักคิดของซีรีส์ดัง พร้อมโยนคำถามสำคัญกลับสู่สังคมผ่านซีรีส์ ที่เปรียบเสมือน ยาแรง ว่า ท่ามกลางเจ็บป่วยและความตาย การุณยฆาต จะกลายเป็นทางออกให้สังคมได้ไหม ? หรือแท้จริงแล้ว รัฐไทยควรหันกลับมาให้ทำให้ระบบการดูแลสุขภาพของ ‘ผู้ป่วยระยะท้าย’ แข็งแรงเสียก่อน

ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ครีเอเตอร์ & สคริปต์ไรท์เตอร์ วรวิทย์ ขัตติยโยธิน ผู้กำกับ ซีรีส์ การุณยฆาต

ทำไม ? ‘ความตาย’ และ ‘การุณยฆาต’ จึงถูกหยิบมาเป็นซีรีส์ ?

ศิริลักษณ์: เราคิดว่าเรื่อง ความตาย เป็นของทุกคน ไม่ว่าคุณจะรวยจน อยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด จะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศทางเลือก ยังไงทุกคนก็ต้องเจอกับความเจ็บป่วย และความตาย มันเป็นเรื่องที่จับใจผู้คนเสมอ

ถ้าเราทำละครเกี่ยวกับเรื่องการแย่งมรดก แต่เราเป็นคนดูที่จน เราอาจไม่เข้าใจปัญหานี้ก็ได้ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังไงทุกคนก็ต้องผ่านมันในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของสังคม

เราได้ไอเดียนี้มาจากการอ่านหนังสือ ปกติเราเป็นคนชอบอ่านเรื่องสืบสวนสอบสวนอยู่แล้ว จนวันหนึ่งมาเจอนวนิยายเรื่อง การุณยฆาต (เขียนโดย Sammon) ในนั้นมีเนื้อหาครบรส และมีประเด็นบางอย่างที่น่าสนใจ เพราะหากย้อนกลับไปหลายปีก่อน ประเด็นในนวนิยายนี้ถือว่าแปลกใหม่มาก และยังเป็นสิ่งที่สังคมเริ่มให้ความสนใจมาสักพัก

วรวิทย์: ผมเชื่อว่า สำหรับทุกคนถึงจุดหนึ่งจะคิดเรื่อง ความตาย อยู่แล้ว แต่ความน่าสนใจคือ เราจะมีสิทธิในร่างกายตัวเองแค่ไหนต่างหาก สำหรับประเทศไทย การุณยฆาต ก็ไม่ได้แปลกใหม่ขนาดนั้น และเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมานานแล้ว แต่อาจจำกัดแค่ในวงเล็ก ๆ ทำให้เห็นว่า คนส่วนหนึ่งก็ยังไม่รู้จักเรื่องนี้มากนัก เราจึงอยากพยายามนำเสนอข้อมูลด้านต่าง ๆ ผ่านซีรีส์เรื่องนี้

อ่าน : อยู่ไม่ไหว แต่ตายไม่ได้ “สิทธิเลือกตาย” พร้อมไหม ถ้าไทยจะมี “การุณยฆาต” ?

ภาพ : www.one31.net

ความท้าทาย ในวันที่ต้องพูดเรื่อง ‘ความตาย’ ในสังคมไทย ?

วรวิทย์: เรามองว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมชาตินะ แต่ถ้าไม่ทำออกมาให้เห็นภาพ คนอาจจะไม่ทันได้ตระหนัก แน่นอนว่าเราไม่ได้อยากโหดร้าย หรือนำเสนอภาพไม่น่ามอง แต่เราอยากพยายามชี้ความจริงให้ได้มากที่สุด มันไม่มีความอุจาดสำหรับภาพความตายในเรื่องนี้ มันมีแต่ความไม่สบายกายและใจ ซึ่งอาจหลีกเลี่ยงได้ หากได้รับการดูแล

การพูดเรื่องความตายไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความท้าทายคือการพูดถึงเรื่องความตายอย่างไม่มีอคติ (bias) แน่นอนว่าเราทุกคนมีความเชื่ออย่างหนึ่งอยู่แล้ว การนำเสนอเรื่องนี้จึงต้องเผื่ออีกมุมไว้ด้วยเหมือนกัน เราไม่ได้อยากชี้นำว่าความตายต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น

ศิริลักษณ์: ความตายก็คือความตาย แต่ก่อนตาย แต่ละบ้านมันมีปัญหาหลากหลายแตกต่างกันมาก ในซีรีส์เรื่องนี้ เราไม่ได้ตั้งใจโฟกัสที่เรื่องการตาย แต่เราอยากโฟกัสเรื่องการใช้ชีวิตก่อนตายมากกว่า เพราะก่อนมนุษย์สักคนจะตาย มันมีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นเยอะมาก เราจะเห็นทั้งเคสที่ญาติดูแลคนป่วยต่อไม่ไหว หรือเห็นคนไข้ที่อยากตาย แต่ญาติอยากยื้อ เราได้เห็นความต้องการและปัญหาเยอะมากตามบริบทของแต่ละบ้าน

ต้องยอมรับว่าเรื่องความตายเป็นประเด็นหดหู่ เรามีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับหมอพาลิ (หมอพาลิทีฟ – Palliative หรือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต) ผู้ป่วยระยะท้าย และแนวคิดเรื่องการุณฆาต หากเราไม่ทำมันอย่างดีมันจะเต็มไปด้วยข้อมูลมากมายที่ทำให้ไม่สนุก ฉะนั้น ความท้าทาย คือ เราต้องผสมผสานระหว่างเรื่องข้อมูลสำคัญ (ความตาย-หมอพาลิ-การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย) การสืบสวนสอบสวน และดรามาความสัมพันธ์ เพื่อให้เป็นละครที่กลมกล่อมมากพอจนคนดูไม่หนีไปเสียก่อน แต่ยังต้องคงไว้ซึ่งสารสำคัญที่เราอยากจะสื่อและส่งเสียงให้ดังพอจนคนได้ยินโดยไม่กลบความสนุกของละคร

เมื่อได้เห็นการทำงานของหมอพาลิ, ผู้ป่วย และญาติ ในวาระท้าย
สายตาที่มอง ‘ความตาย’ เปลี่ยนไปไหม ?

ศิริลักษณ์: ไม่เปลี่ยน แต่เรากลับมองความตายแบบที่จริงจังมากขึ้น ตอนที่เราอายุน้อยกว่านี้ เราคิดว่าความเจ็บป่วยและความตายเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในวันนี้ เราอายุเพิ่มขึ้น เรารู้ว่ามันใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที 

“นี่ทำให้เราได้ใคร่ครวญ ไตร่รองกับมันมากขึ้นว่ามันอาจมาถึงเราเมื่อไรก็ได้ มันทำให้เราค่อย ๆ จริงจังกับวางแผนชีวิต เขียน living will และไตร่ตรองว่าเราได้วางแผนสำหรับตัวเองเพื่อให้มีชีวิตบั้นปลายที่ดีพอหรือยัง”

ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์
ภาพ : www.one31.net

วรวิทย์: สิ่งที่เราเล่าออกไปคือสิ่งที่เราเชื่อและเราคิดอยู่แล้ว สายตาที่มีต่อเรื่องเหล่านี้คงไม่ได้เปลี่ยนไป แต่มีบางสิ่งที่เราได้มองเห็นมันชัดเจนขึ้น นั่นคือ “อย่าตัดสินการตัดสินใจของคนอื่น” หากคุณดูตัวละครในซีรีส์ หรืออาจเป็นชีวิตของคนอื่นรอบตัวคุณก็ได้ เวลาเขาตัดสินใจจะทำ ไม่ทำอะไรในเรื่องความตาย คุณอาจเผลอไปตัดสินพวกเขา นั่นเพราะมันไม่ใช่เรื่องของคุณ คุณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเขา แต่ก่อนที่คุณจะคิดตัดสินคนอื่น ให้ลองคิดให้ดี ว่า ถ้าความตายนี้เป็นของพ่อแม่หรือญาติของคุณ คุณจะตัดสินใจเหมือนตอนที่คุณคิดแทนเรื่องของคนอื่นหรือเปล่า

จากบทบาทของหมอพาลิ จากการลงพื้นที่จริง
เห็นอะไรผ่านสายตาคนทำละคร ?

วรวิทย์: ภาพหมอพาลิที่เราได้เห็นจริงไม่ได้ต่างจากที่คิดนัก เพราะเราเคยเป็นญาติผู้ป่วยมาก่อน เราเข้าใจดีว่าการมีคนป่วยติดเตียงอยู่บ้านมันเป็นยังไง แต่นั่นเราเป็นความรู้สึกของเราที่ดูแลญาติแค่คนเดียว 

แต่หรับหมอพาลิ เราได้เห็นการทำงานของเขาจริง ๆ เราเห็นว่าเขาต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก รวมทั้งญาติด้วย คนไข้ด้วย เขาเห็นความป่วยไข้ เจ็บปวด และสูญเสียแทบทุกวัน วันละหลาย ๆ รอบ จิตใจเขาต้องแข็งแกร่งขนาดไหน นั่นคือสิ่งที่ทำให้ต้องยิ่งชื่นชม

ศิริลักษณ์: มันทำให้เราเข้าใจหมอพาลิมากขึ้น ทำให้เราเห็นว่าปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริง (ระบบการดูแลประคับประคอง ความทุกข์ทรมานของคนไข้) แต่ยังไม่เคยมีนโยบายหรือการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและทั่วถึง

มองเห็นปัญหาระดับนโยบาย ‘การดูแลแบบประคับประคอง’ ?

ศิริลักษณ์: เราได้เห็นภาพโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่มีคนไข้เยอะมากเมื่อเทียบกับจำนวนของหมอ เตียงก็มีไม่พอ สำหรับผู้ป่วยสักคน การไปโรงพยาบาลหรือต้องออกจากบ้านมารับยาบ่อย ๆ ก็เป็นเรื่องไม่สะดวกสบาย โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะท้าย การมาโรงพยาบาลไม่ได้เป็นการมาเพื่อรักษาให้หายแล้ว แต่เขาควรได้รับการดูแลแบบต่อเนื่องแทน

ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ครีเอเตอร์ & สคริปต์ไรท์เตอร์

หากคนไข้ได้กลับไปดูแลที่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย กำลังใจและความสุขมวลรวมของคนไข้น่าจะดีกว่ามานอนเหงาคนเดียวที่โรงพยาบาล เพราะแบบนี้การลงเยี่ยมบ้านของหมอพาลิจึงเป็นสิ่งที่เราเห็นด้วยอย่างมาก

วรวิทย์: แต่อย่าลืมว่า ไม่ใช่คนไข้ทุกคนที่อยากกลับไปจบชีวิตที่บ้านนะ บ้านบางคนไม่ได้พร้อม การให้กลับไปรักษาตัวและมีวาระสุดท้ายที่บ้านก็อาจสร้างความลำบากใจให้ครอบครัว แน่นอนว่าการมีหมอพาลิไปลงเยี่ยมบ้านมันดีอยู่แล้ว แต่มันเป็นเพราะคนไม่พร้อมไปโรงพยาบาลจริง ๆ หรือ ?

เราคิดว่าถ้ารัฐมีนโยบายที่เหมาะสม มีอาคารที่รองรับผู้ป่วยระยะท้ายกระจายตัวอย่างทั่วถึงในแต่ละอำเภอ แต่ละหมู่บ้าน รวมถึงมีจำนวนเตียง และหมอ-พยาบาลที่มากพอ มันอาจเป็น solution ที่ดีกว่าการให้หมอพาลิลงเยี่ยมบ้านด้วยซ้ำ เพราะหมอพาลิไม่ต้องเดินทาง บุคลากรงานไม่โหลด และจะไม่สร้างความลำบากให้แก่ญาติผู้ป่วย แต่ในความเป็นจริงตอนนี้ เราไม่ได้มีทรัพยากรมากขนาดนั้น

เมื่อระบบการดูแลแบบประคับประคองยังมีช่องว่าง
หรือ ‘การุณยฆาต’ จะเป็นทางออก ?

ศิริลักษณ์: เรามองว่า ถ้าระบบพาลิทีฟแคร์บ้านเราดี เราไม่จำเป็นต้องไปถึงการมีการุณยฆาตเลยก็ได้ ก่อนเราจะเขียนบทละครนี้ เราทำข้อมูล คุยกับหมอพาลิหลายท่าน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าโรงพยาบาลมีศักยภาพที่จะรองรับผู้ป่วยระยะท้ายมากพอ การการุณยฆาตก็ไม่จำเป็น

“แม้เป้าประสงค์ของการทำ การุณยฆาต คือการจัดการความทุกข์ทรมานของคนไข้ แต่ในความเป็นจริง ในช่วงที่คนไข้มีอาการทรุดหนักลง หากมีการ ดูแลประคับประคอง ที่ดี คนป่วยก็จะไม่ทุกข์ทรมานมาก และคนไข้บางรายอาจมีชีวิตยืนยาวกว่าเดิมก็ได้”

ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์

วรวิทย์: ความจริงข้อหนึ่งคือ คนรวยตายสบายกว่าคนจน แต่หากระหว่างทางนั้นทุกคนได้รับการดูแลในสภาพที่ดีเท่าเทียมกัน การุณยฆาตก็ไม่จำเป็นเลย

ภาพ : www.one31.net

ศิริลักษณ์: การจะทำการุณยฆาตไม่ใช่เรื่องง่าย คนไข้ต้องได้รับการประเมินจากบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขา รวมทั้งประเมินทางจิตวิทยา และอีกหลายข้อบ่งชี้ ที่ให้ความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถรักษาได้แล้วจริง ๆ และเห็นควรให้ไปสู่การุณยฆาต และในบางประเทศที่กฎหมายการการุณยฆาตผ่านบังคับใช้แล้ว แต่ถูกดึงกลับก็มี เพราะยังมีช่องโหว่เกิดขึ้นมาก

ถ้าคุณจัดการมันไม่ดีพอ ไม่รัดกุมมากพอ ปัญหามากมายจะเกิดตามมา บางครอบครัวอาจเอาไว้ใช้กำจัดญาติที่ไม่ต้องการ บางครอบครัวอาจจะตัดสินใจแทนคนป่วยที่สื่อสารไม่ได้ทั้งที่เขาอาจอยากอยู่ต่อ เพราะในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยแล้วอยากตาย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการุณยฆาตก็ไม่ใช่สวรรค์

จาก ซีรีส์…สู่เสียงเรียกหา ‘การุณยฆาต’ จากสังคมไทย ?

ศิริลักษณ์: เพราะคนในสังคมเขาไม่มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดีในประเทศแห่งนี้ไง ถ้าเราอยู่ในสภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นภาระของครอบครัว แล้วเจ็บปวดสาหัส แต่เรายังไม่ตาย ก็ต้องทนอยู่ไปในสภาพแบบนั้น สิ่งที่ทุกคนหวาดกลัวคือความทุกข์ทรมานโดยไม่มีทางออก การุณยฆาตจึงอาจเป็นความหวัง

ในซีรีส์ เราใส่ตัวละครหนึ่งที่เป็นคนไข้ป่วยระยะท้ายแล้วโดนโยนทิ้งไว้ที่เถียงนา นี่คือคำถามที่เราโยนกลับไปว่าคนเราต้องถูกกระทำแบบนั้นหรือ มันทำให้คนป่วยคนหนึ่งไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกแล้ว แต่ครอบครัวนั้นก็มีบริบทหลายอย่างที่ทำให้ต้องทำเช่นนั้น

วรวิทย์: เพราะประเทศไทยไม่ค่อยมีทางเลือกให้ประชาชนไง…

ศิริลักษณ์: ใช่ หากคุณมีเงิน 2-3 ล้าน คุณก็บินไปการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณก็ต้องทุกข์ทรมานจนตายไปเอง เราคิดว่าทุกคนเห็นภาพนี้เลยค่อนข้างอยากได้มัน (การุณยฆาต) โดยที่อาจะไม่ได้เข้าใจมันจริง ๆ หรอก แต่อย่างน้อยก็เป็นความหวังริบหรี่ แต่เราไม่ได้บอกเลยว่ามันดี มันเจ๋ง ถึงเวลาแล้วนะที่เมืองไทยต้องมี เราแค่อยากนำเสนอให้คนรู้จักมัน พูดคุยถึงมัน เพราะมันสำคัญจริง ๆ

วรวิทย์: ใช่ เราไม่ได้ตั้งใจทำซีรีส์เรื่องนี้เพื่อโปรโมทการมีการุณยฆาต เราไม่ได้เร่งรัดสังคมว่าเราต้องคุยเรื่องนี้กันเดี๋ยวนี้ หรือตัดสินใจกันตอนนี้เลย

“แต่เราอยากเล่นยาแรง เพื่อให้เกิดการถกเถียงและนำไปสู่อะไรสักอย่างต่างหาก เพราะการุณยฆาต เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นมันมีอะไรอีกมาก ยากที่จะตกลงกันได้ในวันนี้ การดูแลที่ดีมันง่ายกว่ากันเยอะ”

วรวิทย์ ขัตติยโยธิน
ภาพ : www.one31.net

แล้ว ซีรีส์ ‘การุณยฆาต’ ต้องการบอกอะไรกับคนดูกันแน่ ?

ศิริลักษณ์: ข้อแรก เราอยากให้คนดูรู้จักกับ หมอพาลิ, การดูแลแบบประคับประคอง (พาลิทีฟแคร์) หรือการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ว่า สิ่งนี้มันมีอยู่ และเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์มาก ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักมัน และด้วยความขาดพร่องของมันนี้เอง จึงนำมาสู่ข้อสอง ที่เราชวนตั้งคำถามว่า ถ้าบ้านเรายังดูแลผู้ป่วยให้ดีไม่ได้ และผู้ป่วยเดินทางมาถึงทางตัน แต่ละคนควรจะมีสิทธิจบชีวิตตัวเองได้ไหม หรือสมควรไหม ถ้าไทยจะมีกฎหมายการุณยฆาต

วรวิทย์: เราไม่ได้บอกนะ ว่าประเทศไทยเราไม่มีสิ่งนี้ (หมอพาลิ และการดูแบบประคับประคอง) แต่สิ่งที่จะบอกคือ มันไม่ทั่วถึงทุกคน นี่เป็นหน้าที่ของรัฐหรือเปล่า ที่ควรทำให้มันส่งไปถึงประชาชนทุกคน

“เพราะความยากลำบากคนของมนุษย์คนหนี่ง ไม่ได้เกิดระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นตอนที่ป่วยไข้ ใกล้ตาย จนไปถึงวาระสุดท้ายด้วย”

วรวิทย์ ขัตติยโยธิน

ศิริลักษณ์: เรารู้ตรงกันว่าประเทศเรากำลังขาดแคลนสิ่งนี้ และบ้านเรากลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เรากำลังมีคนแก่และคนป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่คนดูแลน้อยลงเพราะมีอัตราการเกิดต่ำไปเรื่อย ๆ ในอนาคต คนแก่แทบทั้งหมดอาจตกอยู่ในการดูแลของรัฐหรือเปล่า ? แล้วรัฐเตรียมอะไรให้กับประชาชนหรือยัง ? ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องคิด


วรวิทย์ ขัตติยโยธิน ผู้กำกับซีรีส์ ‘การุณยฆาต’

วรวิทย์:  มีคนพูดกันมากมายว่า “เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะมีชีวิตไปจนจบอย่างดีได้” ผมคิดว่านั่นรวมถึงการจบชีวิตด้วย แต่ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ชี้นำการจบชีวิตนะ เราไม่ได้บอกว่า ถ้าถึงวันหนึ่งที่คุณพร้อมจากไป ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกแล้ว เราไปจบชีวิตกันเถอะ เราไม่มีทางพูดเรืองแบบนั้น

“แต่สิ่งที่เราพยายามจะบอกคือ สิทธิในชีวิต หากเมื่อเราอยู่ในสภาวะที่ดูแลตัวเองไม่ได้ สร้างประโยชน์อะไรไม่ได้อีกต่อไป เราจะมีหนทางไหนไหมที่จะจากไปโดยสงบ
ไม่ทุกข์ทรมาน”

วรวิทย์ ขัตติยโยธิน

ซีรีส์ ‘การุณยฆาต’ อยากพาคนดูไปถึงไหน ?

ศิริลักษณ์: ถ้าพูดแบบไม่เอาเท่นะ (หัวเราะ) เราไม่ได้คิดว่าพวกเราจะมีเรี่ยวแรงพอที่จะสามารถขับเคลื่อนอะไรได้มากหรอก แต่ด้วยอาชีพของเรา มันมีโอกาสดีอย่างหนึ่งคือสามารถพูดอะไรก็ได้กับคนทั้งประเทศ และเราคิดว่าเรื่องพวกนี้มันสำคัญจึงพยายามสอดแทรก message ที่เป็นประโยชน์ลงไป เพื่อให้คนดูได้รับสารนี้พร้อมกับความสนุกตื่นเต้น เพลิดเพลิน

หลังจากซีรีส์ออกฉาย เราได้รับ feedback กลับมาเหมือนกันว่า มีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าที่ดูซีรีส์เรื่องนี้ เพราะเป็นประเด็นที่เขาสนใจโดยไม่ได้สนใจว่าจะมีประเด็นของ LGBTQ มาเกี่ยวข้องหรือไม่

“ในฐานะทีมผู้สร้าง เราดีใจมากที่ซีรีส์เรื่องนี้มันทำให้คนดูหันกลับไปถามผู้ใหญ่ในบ้านถึงการวางแผนการดูแลสุขภาพล่วงหน้า รวมถึงกลับถามตัวเองว่า หากวันหนึ่งเกิดอะไรสักอย่างขึ้นกับเรา สื่อสารไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อยากให้ครอบครัวดูแลอย่างไร”

ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์
ภาพ : www.one31.net

วรวิทย์: เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนั้น แต่อย่างน้อย ถ้าคนที่ชมซีรีส์ ได้ดูแล้วเกิดการตระหนักบางอย่าง ได้หันไปมองปู่ย่าตายายข้าง ๆ ได้คุยกับลูกหลาน หรืออย่างน้อย ได้เริ่มจากการรู้จัก หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (Living Will) บ้างไม่มากก็น้อย แค่นี้ผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

อ่าน : รู้จักหนังสือแสดงเจตนา (e-Living Will) ทำไมจึงสำคัญ