จาก ‘สึนามิ’ สู่จินตนาการใหม่ ‘การจัดการภัยพิบัติ’ โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ที่ต้องไปให้ถึง

Policy Forum เปิดพื้นที่ทบทวนบทเรียนจากความสูญเสียในอดีต สร้างจินตนาการใหม่รับมือภัยพิบัติใหญ่ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกและรุนแรงขึ้น เห็นพ้อง ‘อำนาจรวมศูนย์’ ไม่อาจทำให้รอดอีกต่อไป จำเป็นต้องมี ‘ภาคี’ เข้ามามีส่วนร่วม เล็งเสนอ ‘สมุดปกแดง’ ถึง ครม. ชงตั้งกลไกติดตามขับเคลื่อนนโยบายจัดการภัยพิบัติ

ในโอกาสครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล จนนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีกฎหมาย มีนโยบายจัดการภัยพิบัติ

แต่นับจากวันนั้นจนถึงปีนี้ (กันยายน 2567) ก็ยังมีอีกหลายความสูญเสียจากภัยพิบัติที่ถูกลืมเลือน ไม่มีใครระลึกถึง หากแต่มีข้อมูลภัยธรรมชาติของไทยที่การระบาดวิทยาทางภัยพิบัติ (Centre for Research on the Epidemiology of Disaster: CRED) บันทึกไว้ 95 เหตุการณ์ รวมผู้เสียชีวิตเกือบ 11,000 คน สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

Policy WatchThe Active ไทยพีบีเอส และองค์กรเครือข่าย จึงใช้โอกาสนี้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน ทบทวนประสบการณ์ เติมความรู้ ไปพร้อมกับการชักชวนกันสร้างการเรียนรู้เชิงนโยบาย ผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 26 : 20 ปีสึนามิ บทเรียนและจินตนาการใหม่ การจัดการภัยพิบัติ” เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนของของธรรมชาติในยุคโลกเดือดที่ซับซ้อนและแปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกรูปแบบ ทุกพื้นที่ และทุกมิติ

โดยรวบรวมหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้ประสบภัย ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงผู้ที่หวังจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ผ่านระบบจัดการภัยพิบัติ กว่า 50 คน เข้ามาระดมความคิด นำมาสู่ข้อเสนอ ‘การจัดการภัยพิบัติรูปแบบใหม่’

บทเรียนความสูญเสีย บทสะท้อนความสำคัญ ‘การจัดการภัยพิบัติ’

ตะวัน ทรายอ่อน เยาวชนวัย 21 ปี ลูกหลานบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากสึนามิครั้งนั้น เล่าให้ฟังว่า วันนั้นพ่อออกทะเลไปกับปู่ คลื่นวันนั้นสูงมากจนเรือล่ม ปู่ถูกน้ำพัดเสียชีวิต พ่อรอดมาถึงฝั่ง แต่ก็พบว่า แม่ ย่า และน้องสาว เสียชีวิตที่บ้านหลังนี้แล้ว ส่วนตัวเอง แม่ได้อุ้มหนีขึ้นต้นไม้ก่อน เลยรอด และตอนนั้นเพิ่งอายุได้ 1 ขวบ

ตะวัน ทรายอ่อน

แม้คลื่นยักษ์จะสงบ แต่ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน และสภาพแวดล้อมริมชายฝั่งอันดามันที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่รู้ว่าภัยพิบัติใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไร เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มเรียนรู้การเป็นอาสาสมัคร ตั้งแต่มัธยมต้นตามอย่างพ่อ จนปัจจุบันเรียนอยู่ปีสุดท้าย สาขาจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และกำลังฝึกงานอยู่ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.พังงา

ภัยพิบัติไม่อาจห้ามได้ แต่สามารถป้องกัน รับมือ เพื่อลดความรุนแรงและความเสียหายให้น้อยลงได้ จึงเปลี่ยนบาดแผล ความสูญเสีย มาเป็นพลังจัดการภัยพิบัติให้กับชุมชน ให้พ่อแม่พี่น้องซึ่งมีอาชีพหลักเป็นชาวประมง ที่อยู่ตรงริมหาดตรงนี้ อยู่รอดปลอดภัย”

ตะวัน ทรายอ่อน

สึนามิไม่ใช่ภัยพิบัติเดียวที่สร้างความเสียหายในวงกว้าง ยังมีอีกหลายภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาลเช่นกัน โดย เจตกรวีร์ จิรารัชตพงค์ ผู้ใหญ่บ้านดอนแหลม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ที่ปรับบทบาทจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มารับหน้าที่ ‘พ่อหลวง’ หลังเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม ในพื้นที่จนส่งผลให้ พ่อหลวงธีรยุทธ สิริวรรณาสถิต เสียชีวิตขณะพยายามช่วยชาวบ้าน และดินโคลนถล่มครั้งนั้นยังคร่าชีวิตชาวบ้านไปอีก 5 คน

กรณีที่เกิดขึ้นนับเป็นเหตุการณ์ที่ เจตกรวีร์ ยอมรับว่า แม้พอจะเข้าใจความสูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า แต่เมื่อมาเจอกับตัวจริง ๆ ถึงกับลืมตำแหน่งของตัวเองไปเลย และไม่รู้จะพาพี่น้องไปต่ออย่างไร

“วันนั้นก็เป็นวันที่ฝนตกธรรมดา แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก มาเห็นอีกทีก็มีคนไหลลงไปแล้ว ปกติภัยพิบัติมักเกิดขึ้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย แต่วันนั้นเป็นความโชคร้ายที่เกิดขึ้นที่บ้านผม ทุกอย่างอลม่าน ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งหมด

เจตกรวีร์ จิรารัชตพงค์

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ เจตกรวีร์ เห็นความสำคัญของระบบการจัดการภัยพิบัติ เพราะหากมีระบบที่ดี ชุมชนอาจปลอดภัยขึ้น ส่วนการจะย้ายถิ่นฐานเพื่อความปลอดภัย ชาวบ้านเกินครึ่งก็เห็นด้วย เพราะรู้ว่าไม่ใช่แค่การสร้างบ้าน ให้อยู่อาศัยอย่างมั่นคง แต่ยังรวมถึงการสร้างพื้นที่อพยพ ให้ทุกคนอยู่รอดในยามวิกฤตได้

อย่างไรก็ตามความฝันนี้ กลับต้องสะดุด ด้วยเงื่อนไขของ พื้นที่อุทยาน ทำให้ความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมในหลายมิติ เช่น การสร้างบ้าน สร้างศูนย์อพยพ ทำได้ยาก ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่สามารถโยกย้ายที่อยู่อาศัยได้ตามที่หวัง

สึนามิ…ยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีก! จากรอยเลื่อนมุดตัว ‘อาระกัน’

ถ้าย้อนดูข้อมูลรอยเลื่อนที่แนวอาระกัน ในอดีตแผ่นดินไหวบริเวณนี้ลุกลามไล่ขึ้นมาที่เกาะสุมาตรายาวมาถึงอันดามัน ทำให้เกิดสึนามิเมื่อปี 2547 แต่ยาวมาจนถึงตอนนี้แผ่นดิวไหวบริเวณนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ และอนาคตก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นหากแนวอาระกันเกิดลุกลามขึ้นมาที่อันดามันอีกครั้ง อาจทำให้เกิดผลกระทบเหมือนสึนามิครั้งก่อน เพียงแต่ตอนนี้อาจไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ

นั่นเป็นการคาดการณ์อนาคตที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยของ ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสเกิด สึนามิ ได้อีก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงสำคัญอย่างมาก โดยเสนอว่า จะต้องปรับ “ระบบเตือนภัย” ให้ดีขึ้นเป็นอย่างแรก โดยเฉพาะการลดทอนขั้นตอนการประกาศแจ้งเตือนที่จะต้องรอ ‘อธิบดี’ มีคำสั่งถึงจะทำได้เท่านั้น เนื่องจากอุปกรณ์หลายอย่างที่มีในการแจ้งเตือนภัยตอนนี้พร้อมแล้ว รวมถึงการปรับให้เสียงไซเรนต้องได้ยินชัดในระยะ  1 กิโลเมตร ซึ่งบางพื้นที่ทีมตัวเองลงไปตรวจแล้ว พบยังไม่ได้ยินเสียงเตือนภัย เช่น หาดบางเนียง และต้องพัฒนาให้เกิดการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทันที

เมื่อมีสัญญาณการแจ้งเตือนแล้ว จะย้ายคนออกได้อย่างไร ก็ต้องมี การซ้อมอพยพ ซึ่งต้องวางแผนให้ชัดว่า จะอพยพอย่างไร จะด้วยรถ จักรยานยนต์ หรือวิ่ง, ใครต้องทำหน้าที่อะไร เช่น พาลูกหนี พาพ่อแม่หนี และจะต้องหนีไปที่ไหน โดยไม่จำเป็นต้องไปที่ศูนย์อพยพอย่างเดียว แต่อาจมีอาคารอพยพแนวดิ่งที่มีโครงสร้างแข็งแรง เปิดให้ประชาชนเข้าไปได้ในยามวิกฤต

เรื่องสำคัญสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงคือ หนีอย่างไรให้ทันท่วงทีโดยไม่หลง เพราะในการหนีภัยจริง ๆ เรื่องการจราจรถือเป็นปัญหาใหญ่ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าจะรอดหรือไม่ ดังนั้น ป้ายเส้นทางหลบหนี ต้องหมั่นบำรุงรักษา และทางที่ดีควรจะเพิ่มให้มีในทุกระยะ 300 เมตรด้วย

“หลายคนคิดว่าการซ้อมอพยพเป็นเรื่องน่าเบื่อ ซ้อมมาหลายปีก็ไม่เกิดขึ้นสักที แล้วจะทำคนรุ่นใหม่สนใจอย่างไร เป็นโจทย์ยากอยู่ แต่สิ่งที่อยากเสนอคือลองทำให้การซ้อมสนุกขึ้น โดยอาจแปลงให้เป็นเกม จำลองให้คนเข้าไปวิ่งในสถานการณ์จริง ๆ แล้วอาจเพิ่มความท้าทายด้วยการนับป้าย เป็นคะแนน ก็ได้”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

ปัญหา – ความท้าทาย นโยบายจัดการภัยพิบัติ

วงเสวนา ยังสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาที่ทำให้นโยบายการจัดการภัยพิบัติ ยังไม่ไปถึงการปฏิบัติจริง มาจากหลากหลายปัจจัย ได้แก่

  • นโยบาย – ขาดการบูรณาการ ไม่ทันความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • กฎหมาย – พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 2550 ยังจัดการภัยพิบัติได้ไม่เต็มที่ รวมถึงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 ที่ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมมานานแล้ว ไม่สามารถโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

  • มาตรการดำเนินงาน – ระบบเตือนภัย แผนฝึกซ้อม แนวทางป้องกันและแก้ปัญหา ยังขาดประสิทธิภาพ

  • ระบบฐานข้อมูล – หลายหน่วยงานทำแยกส่วน ไม่เป็นระบบ ทำให้การเช็กข้อมูลต้องเปิดหลายเว็บไซต์ เช่น สถานการณ์ฝนต้องดูที่เว็บไซต์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือพื้นที่เสี่ยงดินถล่มต้องดูที่กรมทรัพยากรธรณี เป็นต้น

  • การสื่อสาร – ข้อมูลหลายหน่วยงานที่มี ไม่ตรงกัน

  • กลไกการจัดการภัยพิบัติ – ขาดกลไกระดับพื้นที่ ขาดประสิทธิภาพและความต่อเนื่อง เมื่อเกิดภัยพิบัติมักตั้งกลไกใหม่แทนกฎหมายที่มีอยู่

  • ศักยภาพประชาชน สังคม ท้องถิ่น – ขาดการพัฒนาความรู้ และขีดความสามารถรับมือภัยธรรมชาติที่ซับซ้อนหลากหลาย

  • การจัดการขณะเกิดภัย – ขาดการบัญชาการเหตุการณ์การจัดการและสนับสนุน เครือข่ายอาสาสมัครที่ดีพอ

‘สมุดปกแดง’ อนาคตการจัดการภัยพิบัติ

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นทุกปี การรอคอยให้หน่วยงานส่วนกลางเข้ามาช่วยทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติแล้วก็จบ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เป็นเหตุผลให้เริ่มเห็นบทบาทของ ‘ชุมชน’ เข้ามามีส่วนร่วม เกิดกระบวนการพูดคุย และการพยายามผลักดันข้อเสนอ ‘การจัดการภัยพิบัติที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง

โดยเริ่มเห็นจาก สมัชชาสุขภาพ เมื่อปี 2555 ที่มี มติ 4.3 เรื่องการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง และชัดเจนยิ่งขึ้น นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยใหญ่ครั้งล่าสุดในภาคเหนือ ภาคใต้ ซึ่งหนักสุดในรอบหลายสิบปี มาจนถึงเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี สึนามิ ซึ่งเกิดเวทีสนทนาสาธารณะมากมาย

  • 28  กันยายน 2567  Policy Forum ครั้งที่ 21 : City recovery >>> Stronger Chiang Rai ฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติ จ.เชียงราย

  • 24 ตุลาคม 2567 Policy Forum ครั้งที่ 23 : เตรียมความพร้อมภาคใต้ รับมือภัยพิบัติ จ.พัทลุง

  • 7-8 พฤศจิกายน 2567 ระดม “ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน” (Build Back Greener Chiang Rai)

  • 28 พฤศจิกายน 2567 ระดม “ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน” หรือ “แม่ยาวโมเดล” โดยเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ
เพ็ญ สุขมาก ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการภัยพิบัติภาคใต้ 9 สถาบัน

เพ็ญ สุขมาก ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการภัยพิบัติภาคใต้ 9 สถาบัน ยอมรับว่า เห็นความตื่นตัวของภาคประชาชนและข้อเสนอที่มีออกมามากมาย จึงไม่อยากปล่อยให้เป็นเพียงกระดาษ ดังนั้นได้รวมพลังกับภาควิชาการหลากหลายคนจากหลายสถาบันมาทบทวนข้อเสนอทั้งหมด นำมาจัดทำเป็น ‘สมุดปกแดง’

เตรียมนำเสนอผ่าน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือ คณะกรรมการกระจายอำนาจสิทธิชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ เพื่อผลักดันไปให้ถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยมี 3 ข้อเสนอสำคัญถึงรัฐบาล คือ

  1. กำหนดให้ ‘ภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ’

  2. ให้ความเห็นชอบ สมุดปกแดง หรือ ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยพร้อมสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด

  3. แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบาย’ ที่มาจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ และภาคเอกชน พร้อมกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงานให้ชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ซึ่งมีใจความสำคัญ 4 ประเด็น คือ

  • การวางแผนการจัดการภัยพิบัติใน 3 ระยะที่ชัดเจน ต้องก่อนเกิดภัยพิบัติ เกิดภัยพิบัติ และหลังภัยพิบัติ

  • การปรับโครงสร้างทางกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการรับมือภัยธรรมชาติต่าง ๆ

  • การพัฒนาศักยภาพของคนและเครือข่าย

  • ระบบการสื่อสารและข้อมูล ที่รวบรวมทั้งหมดไว้ในที่เดียวให้ประชาชนเข้าใจ และใช้งานได้ง่าย

เสนอตั้ง สภาภัยพิบัติ ที่มาจากประชาชน

จากข้อเสนอใน “สมุดปกแดง” ที่ระบุให้รัฐบาลแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบาย” เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายจัดการภัยพิบัติจากการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นจริง

 สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา จึงอยากเสริมให้ไทยมี “สภาภัยพิบัติ” ที่มาจากประชาชน โดยอาจรวบรวมสมาชิกประมาณร้อยคนก่อนได้ จากผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ที่ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอะไร หรือเกษียณอายุแล้วก็ยังผันตัวเองมาเป็นอาสาสมัครในยามวิกฤต

ดังนั้นถ้ามีคณะกรรมการส่วนนี้ เมื่อเกิดเหตุ ทุกคนจะได้รู้ว่าจะต้องส่งตั๋วเดินทางให้ใครมาช่วยเสริมทัพ เสริมประสบการณ์ เพื่อแก้ปัญหาและรับมือจากภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

“ยกตัวอย่างน้ำท่วมที่หาดใหญ่ปี 2554 ซึ่งทีมผมไม่เคยเจอทุ่งน้ำขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน ถ้าผมได้คนหาดใหญ่มารัน ผมเชื่อว่าแปปเดียวจบ ไม่ต้องงมกันนานเหมือนผม และการถกเถียงทางนโยบายคงเป็นน้ำเป็นเนื้อ”

สมบัติ บุญงามอนงค์

มากกว่านั้น ถ้าคนกลุ่มนี้ได้อยู่ด้วยกันแล้วทำงานร่วมกัน ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยิ่งทำซ้ำ ๆ เชื่อว่าความรู้จัดการภัยพิบัติที่ได้จากตรงนี้อาจคุ้มค่ามากกว่าที่คิด

ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้กับสภาฯนี้ก็ได้ หรือภาคประชาสังคมจัดตั้งกองทุน แต่ถ้าไม่อยากมีค่าใช่จ่าย ก็อาจตั้งกรุ๊ปไลน์ (Line) เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

 สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา

นพ.บัญชา พงษ์พานิช นักวิชาการ และ อาสาสมัครสึนามิ มองเห็นความสำคัญของ “อาสาสมัครไทย” ไม่แพ้กัน และยังมองว่านี่เป็นจุดแข็งของประเทศ

“จากสึนามิถึงวันนี้ จุดแข็งคืออาสาสมัครที่ไม่เคยถอย และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นทำไมเราไม่ลองร่วมกับพวกเขา แล้วมาล้องวงพูดคุยเชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติการ ให้ภัยที่ไม่หยุดหย่อนนี้ ลดความรุนแรงลง”

นพ.บัญชา พงษ์พานิช

การมีวงพูดคุยเรื่องภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง แล้วถกกันเป็นเรื่อง เป็นประเด็น อย่างจริงจัง เชื่อว่าจะทำให้การจัดการภัยพิบัตินี้ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นพ.บัญชา พงษ์พานิช นักวิชาการ และ อาสาสมัครสึนามิ

รัฐต้องพร้อมสานต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย

จากข้อกังวลเรื่องศูนย์อพยพที่อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ต้องรับมือภัยพิบัติอื่น ๆ รวมถึงสึนามิด้วยนั้น กาส เส็นโต๊ะเย็บ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต บอกว่า  ปัจจุบันกำลังตรวจสอบและซ่อม ‘ศูนย์อพยพ’ หรือ ‘หอเตือนภัย’ ที่ชำรุด เช่น ไม่ได้ยินเสียงไซเรน ให้กลับมาพร้อมใช้งาน ซึ่งหากใครอยากของบประมาณในการจัดทำเพิ่ม สามารถติดต่อมาที่ตัวเองได้ ส่วนเรื่อง ‘ป้ายเตือนภัย’ เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ว่าต้องเพิ่มให้มากขึ้น รวมถึงต้องหมั่นดูแลรักษา ใส่ใจสีให้ชัด เพื่อป้องกันการหนีแล้วหลง ซึ่งตรงนี้จะรับไปทำต่อด้วยเช่นกัน

ขณะที่ สมพันธ์ เตชะอธิก กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตอบรับว่า จะนำ ข้อเสนอสมุดปกแดง ไปพิจารณา แต่ข้อเสนอเหล่านี้อาจต้องมีจุดเชื่อมโยงสุขภาพ 4 มิติ ร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญาด้วย เพราะหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นแบบนี้

“นโยบายสาธารณะ อยากให้พวกเราทำ 5 ด้าน เพราะส่วนใหญ่เราชอบเสนอรัฐบาลกลาง เป็นรัฐรวมศูนย์อีกแล้ว และไม่สำเร็จ”

สมพันธ์ เตชะอธิก

นอกจากนี้ยังมีอีก 5 เรื่องที่อยากให้ทำ คือ

  1. นโยบายที่ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเอง

  2. ปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพยากรอยู่ที่ท้องถิ่น แต่จะใช้อำนาจอะไร ให้พวกเขาจัดการภัยพิบัติ เพราะอยู่ ๆ เขาจะไม่ทำเอง ถ้าไม่มีคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลกลาง

  3. ทำให้เป็นยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งความสำเร็จในการบูรณาการ มีให้เห็นน้อยมากในปัจจุบัน

  4. มีภูมินิเวศ เพราะภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นแค่พื้นที่เดียว

  5. เสนอรัฐบาลกลาง ผ่าน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งตัวเองจะช่วยกันดู

เช่นเดียวกัน ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา มองว่า ข้อเสนอสมุดปกแดงสะท้อนให้เห็นปัญหาของการจัดการด้วยระบบรวมศูนย์ที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป และการมีภาคีหลายเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน จะทำให้ทุกคนอยู่รอดและปลอดภัย

ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา

แต่จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องทำให้เกิดการจัดการร่วมกันผ่านกฎหมายนโยบาย และที่จริงแล้ว สส. มีคณะกรรมาธิการสามัญภัยพิบัติอยู่ ถ้าให้คณะกรรมการชุดนี้ได้ศึกษาข้อเสนอเหล่านี้ เป้าหมายที่จะมีนโยบายจัดการภัยพิบัติที่มีชุมชนเป็นส่วนร่วมคงอยู่ไม่ไกล

บทเรียนที่ผ่านมาจะเกิดคุณูปการมากกว่านี้ถ้าใช้ความสูญเสีย มาสร้างจินตนาการใหม่ แม้ไม่รู้ว่าเส้นทางจะยาวไกลเพียงใด แต่เมื่อยังมีหวัง และภัยพิบัติใหญ่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีก จึงอยากชวนให้ทุกคนคิดกันต่อ ร่วมกันผลักดัน และติดตามให้นโยบายการจัดการภัยพิบัติรูปแบบใหม่นี้เกิดขึ้นได้จริง


อ่าน :

20 ปี ไทยสูญเสียจาก ‘ภัยพิบัติ’ แค่ไหน ในวันที่โลกกำลังเผชิญกับความรุนแรงจาก ‘โลกรวน’

กฎหมายการจัดการภัยพิบัติของไทย… มาไกลแค่ไหน ?

“ถ้าแม่ไม่รอดจาก สึนามิ ผมก็คงไม่มีวันนี้” : ต้นกล้า…ในวันที่ต้องแกร่ง ถึงเวลาชุมชนจัดการ ‘ภัยพิบัติ’

จากประสบการณ์ สู่แผนจัดการภัยพิบัติ ‘ตำบลเตราะบอน’

สมุดปกแดง ลายแทงสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active