The Active คว้ารางวัลชมเชย ‘แอมเนสตี้’ สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2567

จากผลงาน… ไทยคิกออฟ ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ ลงพื้นที่ติดตามภารกิจทีมบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก เข้าให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้คนในพื้นที่ จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งเมียนมา




วันนี้ (17 ก.พ. 68) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2567 โดย The Active ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS ส่งผลงานเรื่อง ดีเดย์ 25 มี.ค.นี้ ไทยคิกออฟ “ระเบียงมนุษยธรรม”  เข้าประกวดในประเภท ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ ผลปรากฎว่า คณะกรรมการพิจารณาให้ได้ รับรางวัลชมเชย ซึ่งในผลงานประเภทนี้ไม่มีผู้ได้รับพิจารณาให้ได้รับรางวัลดีเด่น

สำหรับผลงานชิ้นนี้ทีมข่าว The Active ลงพื้นที่ติดตามภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ให้การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง ในเมียนมา ภายในค่ายอพยพหนีภัยสงคราม ซึ่งตั้งอยู่ใน โรงเรียนคริสตจักรมอโพเก๊ะ

โดยค่ายลี้ภัยแห่งนี้ สะท้อนภัยจากสงครามเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน ที่พักพิงอยู่ในค่ายแห่งนี้เกือบ 400 คน พวกเขาอพยพหนีสงครามมาจากหลายเมือง ทั้ง รัฐฉานที่อยู่ทางตอนบน, รัฐยะไข่ที่อยู่ติดกับอินเดีย, รัฐมอญที่อยู่ทางใต้ลงไปติดกับ จ.กาญจนบุรี ซึ่งพ่อแม่เด็กส่วนใหญ่ตัดสินใจหนีมาอยู่ที่นี่ เพราะเชื่อว่า จ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง เป็นพื้นที่ปลอดภัยสุดท้าย ที่ยังไม่เกิดการสู้รบ 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : ‘สาธารณสุข’ พื้นที่มนุษยธรรม เหนือความขัดแย้ง สมรภูมิเมียนมา

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการได้เปิดเผยความเห็น และข้อสังเกตต่อผลงานต่าง ๆ โดยระบุว่า ผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าร่วมการประกวดในปีนี้ ยังคงยืนหยัดให้ความสนใจ พร้อมสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชน ผ่านผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างมุ่งมั่น เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และความพยายามในการทุ่มเทอย่างเต็มที่

ผลการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 มีดังนี้

รางวัลดีเด่นข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ 2 รางวัล ได้แก่

● ผลงานชุด “‘กะเทยพัทยาไม่เคยถูกมองในแง่ดี’ ที่พัทยา กะเทยต้องถูกตรวจฉี่ คนใช้ยาต้องถูกรีดไถ และตีตรา” สำนักข่าวไทยรัฐพลัส

● ผลงานเรื่อง “‘ศูนย์การเรียนสามเณรไร้รัฐ’ การศึกษาใต้ร่มกาสาวพัสตร์ที่ไร้เส้นพรมแดน”  The 101.world

รางวัลชมเชยข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ 6 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง “บุตรของแรงงานข้ามชาติ ชีวิตใหม่ที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย เกิดและลืมตาบนแผ่นดินไทย แต่ไม่มีสูติบัตร” สำนักข่าวไทยรัฐพลัส

● ผลงานเรื่อง “รีไซเคิลบนดิน-ความสูญสิ้นของสายน้ำ: ‘โรงงานรีไซเคิลคลองกิ่ว’ ความผิดแทบทุกตารางนิ้วที่กฎหมายกลายเป็นเศษกระดาษ” The 101.world

● ผลงานเรื่อง “การเดินทางของเม็ดเงิน: ธุรกิจข้ามชาติ ผลประโยชน์รัฐ ธุรกรรมการเงิน และสถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมา” เว็บไซต์ WAY Magazine

● ผลงานเรื่อง “ถูกหลอกเป็นทาส ถูกคุมขัง และถูกดำเนินคดี: ชะตากรรม ‘อาชญากรถูกบังคับ’” สำนักข่าว HaRDstories

● ผลงานเรื่อง “คนยกตกบันได – ห้ามใช้ผู้ช่วยคนพิการ บันทึกประสบการณ์เลือก สว.2567 ระดับอำเภอ” สำนักข่าวออนไลน์ Thisable.me

● ผลงานเรื่อง “พวกเขาต้องเป็น ‘ชายชุดดำ’ ให้รัฐไทยอีกนานแค่ไหน?” สำนักข่าวประชาไท 

รางวัลชมเชยประเภทข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที) 5 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง “SEE TRUE เปลือยชีวิตผู้ชายขายบริการ” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี 32

● ผลงานเรื่อง “ตะกอนหาย เพราะเขื่อนโขง” สถานีโทรทัศน์ Nation TV

● ผลงานชุด “‘ชาวเลมอแกน’ เกาะพยาม ชีวิตที่ถูกลืม?” สำนักข่าววันนิวส์

● ผลงานชุด “คดีตากใบสู่ประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดอายุความ” และ “ตากใบภาค 2 จุดไฟในใจคน?” สถานีโทรทัศน์ Nation TV

● ผลงานเรื่อง “ดีเดย์ 25 มี.ค.นี้ ไทยคิกออฟ ‘ระเบียงมนุษยธรรม’” ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส

รางวัลดีเด่นข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ 1 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง “We Need to Talk About อานนท์ ชายผู้นำพาให้คนเท่ากัน” สำนักข่าวไทยรัฐพลัส

รางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ 4 รางวัล ได้แก่

● ผลงานเรื่อง “Who’s the Black Shirt?” The 101.world

● ผลงานเรื่อง “รอมฎอนที่ 20 ของคดีตากใบ” สำนักข่าวออนไลน์ Decode

● ผลงานเรื่อง “เหมืองแร่โปแตชที่ “เศรษฐา” ต้องการ ทำลายผืนดินโคราชจริงหรือ ?” สำนักข่าวบีบีซีไทย

● ผลงานเรื่อง “บุ้ง เนติพร’ ความตายของกระบวนการยุติธรรม?” สำนักข่าวประชาไท

รางวัลที่ 1 ประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด “ความยุติธรรมที่รอคอย 20 ปี คดีตากใบ” ผลงานของ “ศุภสัณห์ กันณรงค์”

รางวัลที่ 2 ประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด “ห้องทะเบียนเคลื่อนที่ คืนสิทธิให้เด็กรหัส G” โดย ชนากานต์ เหล่าสารคาม

รางวัลที่ 3 ประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด “จากรัฐกะเหรี่ยงถึงระยอง: หนีสงครามสู่ชีวิตใหม่ไกลบ้าน” โดย วัจนพล ศรีชุมพวง

รางวัลชมเชยประเภทภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน”  ได้แก่

● ผลงานชุด “Bamboo School บ้านหลังสุดท้ายของเด็กไร้สัญชาติ” โดย “ณฐาภพ สังเกตุ”

● ผลงานชุด ““ดวงดาวข้างกองขยะ” เก็บของเก่าเลี้ยงชีพ หวังการศึกษาเปลี่ยนชีวิต” โดย ชิน ชมดี

● ผลงานชุด “12 ปีแห่งความรักและการยอมรับ: เสียงหัวใจของคู่รักตาบอด” โดย อานันท์ ชนมหาตระกูล

● ผลงานชุด “บ้านที่กลับไม่ได้” โดย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

● ผลงานชุด “วิถีชีวิตเร่ขายแรงงานกลางตลาดสดใจกลางเมือง” โดย สุภณัฐ รัตนธนาประสาน

● ผลงานชุด “ความทุกข์ในขุนเขา: การแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ห่างไกล ด้วยแนวทาง Harm Reduction” โดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

● ผลงานชุด “เครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ของคนพิการศรีสะเกษ” โดย คชรักษ์ แก้วสุราช

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active