- สารคดี “คลื่นเปลี่ยนเรา คลื่นเปลี่ยนโลก” ฉายให้ชมเป็นครั้งแรกของโลก เล่าเรื่องราวที่มากกว่าแค่ภัยพิบัติสึนามิ
- พาย้อนรอยภาพเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน บาดแผล ความเจ็บปวด ที่นำมาสู่บทสรุปของปัญหา นั่นคือ “ความไม่รู้”
- ฟังเสียงแนวทางการปรับตัว เตรียมพร้อมรับภัยในรูปแบบของชุมชนบ้านน้ำเค็ม และชุมชนต้นแบบอื่น ๆ ทั่วโลก
- ทางออกของ “ความไม่รู้” ไม่ใช่การให้ข้อมูลโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสอดคล้องไปกับชุมชน ไปพร้อมกับท้องถิ่น
สารคดีฝีมือคนไทย ร่วมมือกับ 10 ประเทศสมาชิกสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ABU) ออกมาเป็นผลงาน “คลื่นเปลี่ยนเรา คลื่นเปลี่ยนโลก” (The Wave that Changed the World)
สารคดีเรื่องนี้ถูกนำมาฉายปรากฎสู่สายตาผู้คนครั้งแรกของโลก บนจอหนังกลางแปลง ท่ามกลางบรรยากาศพื้นที่ประสบภัยสึนามิจริง ณ สวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อช่วงค่ำคืนวันคริสต์มาส ปี 2567 ในงาน 20 ปีสึนามิ – บทเรียนและจินตนาการใหม่การจัดการภัยพิบัติ ก่อนที่จะออกอากาศทางไทยพีบีเอส ในวันที่ 26 ธันวาคม 2567 และเปิดให้รับชมในช่องทาง VIPA
สารคดี คลื่นเปลี่ยนเรา คลื่นเปลี่ยนโลก มีความยาว 50 นาที ถ่ายทอด บอกเล่าเรื่องราวหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ปี 2547 สะท้อนผลกระทบที่ยิ่งใหญ่จากภัยธรรมชาติผ่านภาพถ่าย และเสียงจากเหตุการณ์จริง ผนวกไปกับการให้ข้อมูลจากผู้เชียวชาญ เหล่าผู้คนที่ผลักดันประเด็นการจัดการภัยพิบัติ เรื่องระบบเตือนภัยในปัจจุบัน แนวทางการปรับตัวจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากภัย และแนวทางการจัดการภัยอย่างยั่งยืน
บาดแผลจากคลื่น หรือจากความไม่รู้ ?
สารคดีเริ่มฉายคลิปภาพจากเหตุการณ์ ปี 2547 ชุมชนชายฝั่ง พื้นที่ริมทะเลจากหลากหลายประเทศ ที่รวบรวมมา ควบคู่ไปกับเสียงหวอเตือนภัยและเสียงนาฬิกาที่กดดัน ย้ำเตือนให้หวนรำลึกถึงความน่ากลัว หากเราไปยืนอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเมื่อ 20 ปีก่อน
สารคดีถูกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สึนามิ ที่ได้ยินข่าวลือที่หลั่งไหลมาจากหลายทิศทาง ผู้คนในเมืองอาเจะห์ ประเทศอินโดนิเซีย สับสนอย่างหนัก ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น
นักข่าวจากสำนักข่าวอินโดนิเซีย TVRI บรรยายภาพของผู้คนที่ตื่นตระหนก ก่อนที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ กวาดบ้านให้ราบเป็นหน้ากลอง ขณะที่ผู้สื่อข่าวยืนอยู่บนสะพานแห่งหนึ่งในเมืองสุราบายา
มวลน้ำจากอาเจะ ใช้เวลาสี่สิบนาที เคลื่อนตัวมาถึงฝั่งไทย นั่นเป็นช่วงเวลาใกล้ ๆ กันที่ หญิง – อรวรรณ หาญทะเล เรียน กศน. อยู่ในตัวเมืองพังงา ซึ่งห่างจากที่ชุมชนริมชายฝั่ง กว่า 10 กิโลเมตร ครูบอกว่า “หญิง ที่บางสักเกิดคลื่นยักษ์” หญิงติดต่อที่บ้านไม่ได้ จึงขับรถจากตะกั่วป่ามาที่บางสัก ระหว่างทางเห็นคนไม่ใส่เสื้อผ้า ติดโคลนวิ่งหนีออกมา พอเข้าใกล้ตำรวจก็ไม่ให้ขับเข้าไป ณ ตอนนั้น หญิงรู้สึกไม่เชื่อสายตา เหมือนกับอยู่ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์
ประยูร จงไกรจักร์ หัวหน้าทีมชุมชนบ้านน้ำเค็ม เล่าในสารคดีว่า เมื่อก่อนนั้นบ้านน้ำเค็มเป็นชุมชนแออัด พื้นที่เล็กกว่าจำนวนคน เมื่อมีสึนามิ บ้านก็ราบเป็นหน้ากลอง
ผู้ชมสารคดีถึงกับต้องคิดตาม ว่าจริง ๆ แล้วภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและฟังดูเหมือนว่าจะทำอะไรเพื่อหยุดยั้งมันไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถป้องกันตัวเอง ป้องกันชุมชน ให้ไม่ต้องเจอกับความสูญเสียและเสียหายในระดับนี้ ได้หรือไม่ ?
สารคดีจึงเล่าถึงปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความไม่รู้เรื่องการรับมือ นั่นคือ ถึงแม้สึนามิจะเป็นภัยที่สร้างผลกระทบที่ใหญ่มาก แต่ดันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย ส่วนใหญ่จะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงอายุคนกลุ่มเดิม เป็นจุดที่ทำให้องค์ความรู้เรื่องสึนามิอยู่เพียงกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม โลกจึงได้เห็นความสูญเสียจากการไม่พร้อมรับมือ
ก้าวสู่…การเตรียมพร้อม
เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ที่พยายามผลักดันให้ประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดียมีระบบเตือนภัยระหว่างประเทศ เมื่อก่อนนั้นฮาวายเป็นที่เดียวที่มีศูนย์เตือนภัยสึนามิ คนทั้งโลกเริ่มจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติ ความร่วมมือระหว่าง 26 ประเทศ ติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิล่วงหน้า เพราะ “ระบบเตือนภัยสึนามิ ทำประเทศเดียวไม่ได้ ไม่ว่าประเทศนั้นจะเก่งแค่ไหนก็ตาม”
อีกจุดสำคัญของการเตือนภัย คือทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มั่นใจว่าจะไปทางไหนต่อ อพยพตอนไหน อย่างไร ปัญหาที่มีทางออกเดียวคือ การร่วมมือกับชุมชน เพื่อให้เข้าถึงคนในพื้นที่จริง ๆ สร้างความเข้าใจได้จริง ๆ อย่าง บ้านน้ำเค็ม ต้นแบบการจัดการภัยพิบัติของประเทศ ที่มีแนวทางการรับมือภัยที่น่าสนใจ ที่ได้ถูกยกตัวอย่างมาในสารคดีนี้ ผ่านเสียงสัมภาษณ์ของ ประยูร
- มีการเตรียม การสร้างระบบอพยพในชุมชนบ้านน้ำเค็มเอง
- “กระเป๋าวิเศษ” ซองเอกสารสำคัญ รวบรวมไว้ที่หนึ่งเพื่อพร้อมหยิบไปเมื่อต้องวิ่ง เป็นบทเรียนจากสึนามิครั้งก่อน ที่กลุ่มคนที่ไม่มีเอกสารได้รับความเยียวยายากกว่ามาก ๆ
- ซ้อมหนีภัยสึนามิ จากการซ้อมครั้งแรก ใช้เวลา 40 นาทีกว่าคนจะออกจากพื้นที่หมด ล่าสุดใช้เวลา 18 นาที อพยพกว่า 900 คน
ความตั้งใจเตรียมพร้อมรับภัยของไทย ถูกสะท้อนในภาพโรงเรียนมัธยมในเมืองอาเจะห์ ที่จำลองเหตุการณ์ภัย ทั้งแผ่นดินไหว และสึนามิ ทุกวันที่ 26 ของเดือน โครงการ synergy บรรเทาปัญหาสาธารณภัย มีเป้าหมายเตือนให้เด็กมีความรู้เรื่องสึนามิแม้จะไม่เคยผ่านเหตุการณ์มากับตัวก็ตาม เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้สึกปลอดภัย พร้อมรับมือสถานการณ์ ควบคู่กับการตรวจสอบอุปกรณ์ฉุกเฉิน
เนื้อหาส่วนการเตรียมรับมือภัยในสารคดีชุดนี้ เป็นเหมือนการอวดตัวอย่างที่ดี ให้ชุมชน หน่วยงาน หรือประเทศอื่น ๆ สามารถนำแนวทางเหล่านี้ที่ถูกเล่าให้เข้าใจได้ง่าย ไปปรับใช้ได้ในทันที จุดประสงค์ของการเล่าเรื่องบ้านน้ำเค็ม จึงไม่ใช่การพยายามสอดแทรกข้อคิดเหมือนละครคุณธรรม ที่สอนให้เป็นคนดี แต่เป็นการบอกตรง ๆ เลยว่าจะช่วยให้ชุมชนปลอดภัยขึ้นได้ด้วยวิธีอะไรบ้าง
ปรับตัวแบบแตกต่าง ปลอดภัยขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
เพื่อตอกย้ำความสำคัญของปัญหาภัยพิบัติอย่างสึนามิ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้พาผู้ชมเดินทางไปประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ รอบโลก ทุกพื้นที่ต่างประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเหมือนกัน แต่แน่นอนว่าด้วยปัจจัยทางสังคม ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณี การใช้ชีวิตของผู้คนแต่ละที่ ก็ต้องการการฟื้นฟูและเยียวยาที่ไม่เหมือนกัน
อินเดีย: พื้นที่การเกษตรถูกคลื่นยักษ์ทำลาย พื้นดินกลายสภาพเป็นเหมือนบ่อเกลือ ซากสัตว์ทะเลมากองอยู่ในพื้นที่ของชาวเกษตร ทุกคนไม่รู้ว่าจะทำอาชีพอะไรต่อ ทำอะไรกับที่ดินนี้ได้บ้าง จนเกิดความร่วมมือ ชาวบ้านเรียกให้องค์กรมาช่วยตรวจสอบความเค็มของดิน เพื่อปรับรับสถานการณ์หลังภัยพิบัติต่อไปในอนาคต
มัลดีฟส์: นอกจากต้องเจอกับสึนามิแล้ว ยังเผชิญภัยพิบัติจากโลกรวนอย่างภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ต้องมีการย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่เสี่ยงจมน้ำไปอยู่เกาะดูวาฟารู ซึ่งเป็นเกาะที่มีการเตรียมความพร้อมให้ปลดภัย ทั้งการถมทรายให้พื้นสูง สร้างฐานอาคารให้สูงขึ้น และออกแบบตึกสาธารณะอย่างมัสยิด หรืออาคารของรัฐให้แข็งแรง แม้จะฟังดูดี แต่การอพยพของคนมัลดีฟส์ก็ทำให้หลายต่อหลายคนต้องดิ้นรนหาอาชีพใหม่ เหมือนมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ในเกาะที่แปลกตา
SIDS: กลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กนี้ตั้งอยู่วงแหวนแห่งไฟ ที่ทะเลแปซิฟิก แม้จะไม่ได้เป็นต้นตอของภาวะโลกรวน แต่กลับเผชิญความเสี่ยงสูงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ อย่างฟิจิ ประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างสองแผ่นโลก ต้องเตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ
ตองกา: เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ภูเขาไฟปะทุ เกิดความเสียหายทั่วประเทศตองกา ทำให้ได้เห็นความสำคัญของสื่อเก่าอย่างวิทยุ เมื่อประเทศถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีไฟฟ้าใช้ ความน่ากลัวคือภาพเขม่าควันที่ปกคลุมทั่วประเทศ ทุกอย่างถูกปกคลุมด้วยเขม่าถ่านสีดำ ฝุ่น ผงละออง ที่ดันมาพร้อมกับฝนกรด นำไปสู่ภาพความโกลาหลในท้องถนน เป็นค่ำคืนที่ยาวนานจนชาวบ้านลืมไม่ลง
การสื่อสารรูปแบบเดียวที่ทำได้คือการให้ความช่วยเหลือกันด้วยวิทยุสื่อสาร วิทยุเป็นเสมือนฮีโร่ในเรื่องสั้นนี้ ใช้ประกาศเรียกเรือในทะเล ค้นหาคน ช่วยผู้รอดชีวิต เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จนได้กลายเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของระบบเตือนภัยหลากหลายรูปแบบของตองกา ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเกาะ
“คลื่นเปลี่ยนเรา เคลื่อนเปลี่ยนโลก” ทำหน้าที่เป็นเหมือนคุณตา ที่มาเล่านิทานหลากหลายเรื่องราวจากมุมต่าง ๆ ของโลกใบนี้ให้ได้ฟังกัน ตัวละครหลักจากทุกประเทศต้องเผชิญหน้ากับตัวร้าย ที่ทำได้เพียงแต่เตรียมรับมือกับตัวร้ายเหล่านี้ให้ดีขึ้น จนนึกถึงเรื่องราวของลูกหมูสามตัว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าตอนนี้เรื่องราวจากประเทศต่าง ๆ นี้ได้ก้าวไปถึงส่วนที่ลูกหมูสร้างบ้านไม้ หรือบ้านอิฐกันหรือยัง แล้วหากหมาป่าโหดร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ลูกหมูจะยังมีพื้นที่ให้ไปสร้างบ้านใหม่ได้อีกไหม หรือจริง ๆ แล้ว ลูกหมูต้องเข้าใจหมาป่ามากขึ้น เพื่อสร้างบ้านให้ปลอดภัยจากหมาป่าให้ได้
เพิ่มการรับรู้ สู่ความยั่งยืน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยทางธรรมชาติเหล่านี้ ก็หนีไม่พ้นความเป็น “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ” การสอนเรื่องราวเนื้อหาวิชาการพวกนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้ว่าจะจำเป็นไม่แพ้กับนโยบายหรือมาตรการการปรับตัวที่สารคดีได้กล่าวถึงมาแล้ว
สารคดี คลื่นเปลี่ยนคน คลื่นเปลี่ยนโลก พาผู้ชมไปที่ฟิจิ ที่มีการสอนให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจสึนามิแบบง่าย ๆ “หากเพียงได้ยิน รู้สึก หรือมองเห็น” ถ้าได้ยินเสียงคลื่นดังผิดปกติ ถ้าเห็นน้ำลดลง หรือถ้ารู้สึกถึงแผ่นดินไหวใหญ่ ให้รู้เลยว่าต้องขึ้นฝั่ง นี่คือสิ่งที่มีการสอนในพื้นที่ชุมชนชายฝั่งฟิจิ เพราะทุกพื้นที่ไม่ได้เข้าถึงสัญญาณเตือนภัย ทำให้ความเข้าใจ ความพร้อมของชุมชม และความสามารถในการหนีภัย เป็นปัจจัยสำคัญ
บ้านหลังหนึ่งในศรีลังกา พังทลายลง เจ้าของบ้านตัดสินใจสร้างใหม่และแปลงบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ จัดแสดงภาพที่ย้ำเตือนความเศร้าและความสูญเสีย
คามานี เจ้าของบ้านและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์รูปภาพสึนามิที่ศรีลังกา พูดถึงภัยพิบัติว่า มันเคยสอนอะไรเรา แต่บทเรียนเหล่านี้กลับค่อย ๆ หายไปตามเวลา
“ภัยพิบัติบนโลก ไม่ว่าจะเพราะธรรมชาติหรือมนุษย์ เราคงจะทำอะไรไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ สึนามิครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญ ว่ามีคนตายเพราะภัยพิบัติมากเกินไป”
“ผู้เข้าชมตกใจภาพในพิพิธภัณฑ์ของฉัน ฉันคอยถามผู้ชมว่า คนยังฆ่ากันอยู่ได้ยังไง ตอนนี้เขาลืมกันหมดแล้วว่าตอนที่สึนามิเกิดขึ้น ทั้งโลกมาร่วมมือกัน ช่วยกัน ทุกคนถึงค่อยกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง สิ่งที่ฉันพยายามจะสื่อก็คือ ชีวิตนี่แหละที่สำคัญ”
ตัดภาพมาที่กลุ่มมอแกลน ชาติพันธุ์ชาวเลตอนใต้ของไทย มีความเชื่อเรื่องสึนามิสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
หญิง จากชาติพันธุ์มอแกลน เล่าว่า พวกเราจะเรียกสึนามิว่า คลื่นยักษ์เจ็ดชั้น บรรพบุรุษคนมอแกลนเขาเล่ากันว่า น้ำทะเลจะดึงแห้งผิดปกติ แห้งไปสุดขอบน้ำทะเลเลย จะมีกุ้งหอยปูปลาเยอะมาก
“เขาก็เล่าเป็นนิทานว่า เป็นยักษ์หน้าใหญ่ ๆ พร้อมจะกินพวกเรา เขาก็บอกว่าให้เราวิ่งขึ้นที่สูง หรือไม่ก็ปีนขึ้นต้นไม้ ห้ามลงไปจับปลา”
ร่างทรง หรือผู้เฒ่าของชาวเลมอแกลน ได้ให้คำเตือนว่า “เราจะไม่ตาย แต่บ้านเราจะไม่มี” คนนอกก็ไม่เชื่อ เพียงแต่มองว่ามอแกลนนับถือผี
ภาพยนตร์จบลงด้วยภาพวัฒนธรรมประเพณีหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นบนเกาะซีเมอลูเวอแห่งประเทศอินโดนิเซีย เป็นภาพของชาวซีเมอลูเวอเล่นดนตรีเพลงพื้นบ้านริมทะเล เสียงกลองควบคู่ไปกับเสียงร้องเพลง ซับไตเติลภาษาไทยเขียนเล่านิทานเรื่องราวแผ่นดินไหว
สารคดียังเล่าเรื่องมุขปาฐะสืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวซีเมอลูเวอที่อาศัยอยู่บนเกาะอาเจะห์ ช่วยอธิบายสัญญาณที่เกิดก่อน ระหว่าง หลังเกิดสึนามิ และบอกว่าควรทำยังไงถ้าเกิดภัยพิบัติ ในช่วงภัยพิบัติ หลายคนคิดว่าชาวซีเมอลูเวอจะไม่รอด แต่กลับมีคนเสียชีวิตเพียงเจ็ดคน สะท้อนความเข้าใจในการรับมือภัยพิบัติ ผ่านเพลงที่ร้องเล่นกันในท้องถิ่น
เรื่องราวจากศรีลังกา จากไทย และจากอินโดนิเซีย กำลังทำหน้าที่เดียวกัน นั่นคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนเรื่องภัยพิบัติ การสร้างความตระหนักรู้จำเป็นต้องทำเป็นระบบ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวจบ แต่ต้องแทรกอยู่ในสังคม และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ การให้ข้อมูล สร้างคาวมตระหนักรู้นี้ ต้องไม่มาแทนที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ควรสอดคล้องกันไป ควบคู่กันไป
เรื่องเล่านอกจอ ภาคต่อสารคดี
The Active ได้พูดคุยกับ หญิง – อรวรรณ หาญทะเล ต่อยอดจากสารคดี หญิง เล่าว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้กำลังค่อย ๆ หายไปตามผู้เฒ่าในชุมชนที่ทยอยจากไป โดยมองว่าเรื่องเล่าอย่างเรื่องคลื่นเจ็ดชั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และช่วยให้ชุมชนปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศ เข้าใจฝนฟ้ามากขึ้น
“พี่ได้รับการสืบทอดมาว่า ถ้าคลื่นยักษ์มาต้องทำยังไง ถ้าไม่ให้ภูมิปัญญานี้กับลูกหลาน เราก็จะไม่ต่างกับคนอื่น เอาตัวรอดไม่ได้ ในวันที่ภัยพิบัติมา”
อรวรรณ หาญทะเล
ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้เห็นตัวอย่างในสารคดีนี้ จะช่วยให้ชุมชนดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือของรัฐ ในสภาพสังคมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป คอยบังคับให้กลุ่มมอแกลนต้องปรับตัว
นอกจากนี้ ประยูร จงไกรจักร หัวหน้าทีมชุมชนบ้านน้ำเค็ม หนึ่งในตัวละครในสารคดี เปิดเผยกับ The Active ว่า ความตั้งใจของเขาในการให้สัมภาษณ์ในสารคดีครั้งนี้ คือการทำให้โลกเข้าใจว่า ชุมชนบ้านน้ำเค็ม คือโมเดลการป้องกันภัยพิบัติที่ครอบคลุม ไม่ใช่แค่ภัยสึนามิ โดยการจัดการภัยหลายรูปแบบนี้แทบไม่ต่างกันเลย ทั้งหมดนี้กลับไปสู่เรื่องของการรับรู้ข้อมูล ที่บางพื้นที่อาจจะยังขาดความรู้ นำไปสู่ความไม่เชื่อ ไม่ทำตามคำเตือนของหน่วยงานรัฐ และจะจบลงด้วยความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐที่ไม่เข้าใจและไม่บูรณาการข้อมูลกัน
“หลายคนมากพูดเรื่องภัยพิบัติ แต่ส่วนใหญ่พูดถึงปรากฎการณ์ไม่ใช่ปัญหา เขาเลยไม่รู้ปัญหา พอหน่วยงานรัฐเตือนชุมชนก็ไม่เชื่อ ไม่ทำตาม การแจ้งเตือนก็ล้มเหลว ที่คือสิ่งที่ต้องเปลี่ยน เพื่อไม่ให้เขาต้องเสียชีวิตก่อนแล้วค่อยไปจัดการทีหลัง”
ประยูร จงไกรจักร
ข้างหลังกล้องถ่ายทำ ความยากลำบากในการประสานงานกว่า 10 ประเทศ ยังถูกบอกเล่าผ่าน ประวิทย์ คงขวัญรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสารคดีและสารประโยชน์ สำนักสร้างสรรค์รายการ Thai PBS และผู้ประสานงานหลักของสารคดี คลื่นเปลี่ยนเรา คลื่นเปลี่ยนโลก
ประวิทย์ เล่าถึงใจความสำคัญของสารคดี นั่นคือการเรียนรู้เรื่องภัยธรรมชาติว่า “สึนามิเป็นภัยธรรมชาติ ภัยเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่มันสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายได้” และเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ลดความสูญเสียได้ คือการใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น