‘ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ ฝัน…ที่ยังรอวันเป็นจริง ของ ‘ขบวนการแพทย์ชนบท’

หลังได้รับ ‘รางวัลแมกไซไซ’ จากการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘บัตรทอง’ สำเร็จ ก้าวต่อไปจากนี้…คือการปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ ให้มั่นคง ด้วยการสร้าง ‘ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ ในเกิดขึ้นจริงทั่วประเทศ 

ผลลัพธ์แห่งความทุ่มเท ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงหลักประกันสุขภาพในอดีต มาจนถึงปัจจุบันที่ระบบบริการสุขภาพถูกท้าทายด้วยหลายปัจจัย คือ เหตุผลที่ทำให้ก้าวอนาคตของ “ขบวนการแพทย์ชนบท” นับจากนี้ จำเป็นอย่างยิ่งกับการมีบทบาท เพื่อร่วมปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยให้มั่นคง ที่สำคัญ คือ ต้องเริ่มจากการสร้าง ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้เข้มแข็ง

และแน่นอนหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงระบบสุขภาพได้อย่างทั่วถึง จำเป็นต้องลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งถ้าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น นี่คือเจตนารมณ์ที่ทำให้ ขบวนการแพทย์ชนบท ก่อกำเนิดขึ้น และลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงแทนผู้ถูกลืม ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คุณหมอนักต่อสู้ ที่ใช้หลักคิดทลายกำแพงความไม่เท่าเทียม ด้วยพลังแห่งปัญญา

หมอสงวน ผลักดันนโยบายผ่านกลไกทางการเมือง และการกดดันทางสังคม จนเกิด บัตรทอง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทยทั่วประเทศในตลอดช่วงกว่า 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา

นี่ไม่ใช่แค่นโยบาย แต่เป็นการประกาศศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นอย่างทั่วถึง

ด้วยความทุ่มเท และผลสำเร็จที่เด่นชัดเป็นเหตุผลที่ทำให้ ขบวนการแพทย์ชนบท ได้รับ รางวัลแมกไซไซ ในปี 2567 ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย ในฐานะที่เป็น กลุ่มที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพของไทย

หนึ่งในผู้บุกเบิกขบวนการแพทย์ชนบท คือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ในวัย 77 ปี ยังคงระลึกถึงประสบการณ์ในฐานะแพทย์หนุ่มที่ทำงานในชนบทเมื่อหลายสิบปีก่อน เขาเคยเห็นครอบครัวยากจนต้องขายที่ดิน หรือแม้แต่ขายลูกของตัวเอง เพื่อนำเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน

“มันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดและขมขื่น” คือ สิ่งที่หมอวิชัย ยอมรับ นั่นทำให้ตัวเขาเอง และเพื่อน ๆ ร่วมวิชาชีพแพทย์ ฝันอยากทำให้การรักษาพยาบาลฟรีกลายเป็นความจริง

ความฝันนี้ไม่ได้เกิดจากการพูดคุยในห้องประชุม แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่ซึ่งผู้ป่วยมากมายถูกละเลยมานาน ขบวนการแพทย์ชนบท พบว่า โรคที่ชาวบ้านเผชิญอยู่กว่า 80% เป็นโรคที่ป้องกัน หรือรักษาได้ แต่การเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐานกลับจำกัดอย่างยิ่ง

ก่อนปี 2513 รายงานขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า คนไทยไม่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน สถานการณ์อันร้ายแรงนี้ผลักดันให้กลุ่มแพทย์ผู้มีอุดมการณ์รวมตัวกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง พร้อมผลักดันนโยบายสาธารณสุข ที่เป็นรากฐานมาจนถึงปัจจุบัน 

ปี 2508 : หลังการออกระเบียบให้นักศึกษาแพทย์ทำสัญญา ใช้ทุนกับรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญในการกระจายแพทย์สู่ชนบท 

  • เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล
  • ช่วยสร้างหลักประกันว่าจะมีแพทย์ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ขาดแคลน

ปี 2519 : การก่อตั้ง “กลุ่มสหพันธ์แพทย์ชนบท” (ต่อมาเป็น “ชมรมแพทย์ชนบท”) 

  • เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มของแพทย์เพื่อทำงานในชนบท
  • สะท้อนแนวคิดการแพทย์เพื่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ

ปี 2545 : ถือกำเนิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นหมุดหมายสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

  • ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
  • ลดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการสาธารณสุข

ปี 2550 : เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ วางรากฐานสำคัญในการจัดการระบบสุขภาพแบบองค์รวม

  • เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสุขภาพ
  • ให้ความสำคัญกับสุขภาวะครอบคลุมทั้งทางกาย ใจ สังคม และปัญญา

ปี 2562 : เกิด พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและรักษาที่ต้นเหตุ

  • ส่งเสริมการทำงานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายสุขภาพชุมชน กำหนดสัดส่วนประชากร 10,000 ต่อ 1 หน่วยบริการปฐมภูมิ
  • เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ต้องมีแพทย์ประจำครอบครัว

ปี 2563 : ปฏิบัติการแพทย์ชนบทในช่วงวิกฤต โควิด-19 

  • แสดงถึงความสามารถด้านการแพทย์ปฐมภูมิ ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องโหว่ของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร 
  • สะท้อนความจำเป็นของการว่างระบบปฐมภูมิ กทม. อย่างจริงจัง และความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิสุขภาพ 3 กองทุน

ปี 2567 : ขบวนการแพทย์ชนบท ได้รับรางวัลแมกไซไซ สะท้อนการยอมรับในระดับนานาชาติ

  • เป็นเกียรติประวัติของวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย
  • สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข​​​​​​​​​​​​​​​​

ปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ โจทย์ยาก…แพทย์ชนบท ?

หลังจากที่ขบวนการแพทย์ชนบทได้รับรางวัลแมกไซไซ พวกเขากลับมาถอดบทเรียนและทบทวนว่า จากความสำเร็จครั้งนี้จะต่อยอดอย่างไร ท่ามกลางระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ขบวนการแพทย์ชนบทได้มีส่วนในการผลักดันให้เกิดขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน เดินทางมาจนถึงเวลานี้มีปัจจัยความท้าทายหลายอย่าง ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น งบประมาณที่ใช้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นำมาสู่ภาวะปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน และการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่กำลังถาโถมมาที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่ในขณะนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ หนึ่งในขบวนการแพทย์ชนบทยุคบุกเบิก เช่นเดียวกับ หมอสงวน และ หมอวิชัย ทุกวันนี้เขายังมีบทบาทใน สปสช. ในฐานะ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและขยายผลวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพไทยไปสู่ตลาดภาครัฐ 

หมอสุวิทย์ บอกว่า ปัจจุบันระบบบัตรทองได้พัฒนาด้าน สิทธิประโยชน์ ไปเยอะมาก ซึ่งในช่วงเริ่มต้นบัตรทองยกเว้นการรักษาโรคร้ายแรงหรือค่าใช้จ่ายสูง เช่น เอดส์ และมะเร็ง เนื่องจากข้อจำกัดทางงบประมาณในตอนนั้น 

หากถามว่าจะปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ให้ไปต่อไปอย่างไร หมอสุวิทย์ มองว่า ปัจจัยสำคัญคือบุคลากรสาธารณสุข หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ยังยึดปณิธานของ เจ้าฟ้ามหิดล

เอาประชาชนเป็นกิจที่หนึ่ง เรื่องส่วนตัวเป็นกิจที่สอง”

นี่คือสิ่งที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพ ไปต่อได้แม้ไม่มีเงินเลยก็อยู่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรมีเงินให้เขา

“ผมว่าสังคมและสื่อถูกดึงไปผิดประเด็น ดึงไปในเรื่องเงินเรื่องทอง แล้วดึงไปเรื่องกำไรขาดทุนซึ่งมันผิด ระบบหลักประกันฯ ไม่ใช่เรื่องกำไรขาดทุน แต่เป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพประชาชน” 

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

‘ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ ฝัน…ที่ยังไม่เป็นจริง

สิ่งที่เป็นความฝันและเป็นอดุมการณ์ของขบวนการแพทย์ชนบทมี 2 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรก คือ การผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างถ้วนหน้าซึ่งเกิดขึ้นแล้ว 

อีกส่วนหนึ่ง คือ การวางรากฐาน ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งขณะนี้ แม้ว่าจะเกิด พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ขึ้นมาบังคับให้จะต้องจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิในสัดส่วนประชากร 10,000 คนต่อ 1 หน่วยบริการแล้ว ก็ต้องมี แพทย์ประจำครอบครัว หรือ หมอครอบครัว แต่จนถึงทุกวันนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน มองว่า ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

“20 ปีที่ผ่านมา เราสามารถสถาปนา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นสำเร็จก็จริง แต่ระบบปฐมภูมิยังไม่สำเร็จ มันเพิ่งเริ่มเพราะเพิ่งจะมี พรบ.ของตัวเอง แต่ก็เป็นก้าวสำคัญ” 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

ระบบสุขภาพปฐมภูมิในอุดมคติที่ดี ในมุมมองของหมอสุภัทร ที่ยกตัวอย่างให้เห็น คือ หากต้องส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลใหญ่ สมมติว่าเธอเจอก้อนเนื้อที่มดลูก ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ก็ต้องส่งตัวไป ให้คนไข้ไปเองลำพังไปเผชิญกับแผนกผู้ป่วยนอก หรือ OPD อันแสนวุ่นวาย ไม่รู้จะไปเจอหมอคนไหน 

แต่ถ้าในอุดมคติ คือ ถ้ามีหมอประจำครอบครัว ก็จะโทรไปหาสูตินรีแพทย์ ที่รับหน้าที่นั้น หรืออยู่เวร และช่วยนัดหมายว่าจะมีคนไข้ถูกส่งไปพบ หมอครอบครัว ก็จะได้แลกเปลี่ยนกับหมอเฉพาะทางว่าจะดูแลยังไงต่อ นี่ถือเป็นการส่งต่อคนไข้แบบที่ไม่ใช่ส่งไปแบบ ตามมีตามเกิด แล้วหมอครอบครัว ก็กลับมาดูแลสุขภาพทุกคนในครอบครัว ถ้าเกิดโรคติดต่อก็ดูแลทั้งชุมชน 

หากระบบหลักประกันสุขภาพ ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะการรับมือกับสังคมสูงวัย โรคเรื้อรัง และงบประมาณที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งมี หมอครอบครัว เป็นผู้จัดการสุขภาพหลัก จึงถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการรักษาโรค แต่เป็นการดูแลสุขภาพอย่างองค์รวม กระบวนการสำคัญประกอบด้วยการคัดกรองโรคก่อนลุกลาม การติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้การลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะการรักษาโรคที่ป้องกันได้ ด้วยการเน้นการป้องกันและดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่ง คาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณในระยะยาว ลดความแออัดในโรงพยาบาล และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

3 รูปแบบระบบสุขภาพปฐมภูมิ 3 พื้นที่ 

มูลนิธิแพทย์ชนบท ทำงานร่วมสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนารูปแบบการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิในระดับอำเภอ ให้สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และความหนาแน่นของประชากร โดยรูปแบบการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก 

1. พื้นที่เขตชุมชนเมือง ประชากรหนาแน่น ประมาณ 30,000 คนขึ้นไป (20,000 – 40,000 คน) ใช้ Primary Care Cluster Model (PCC) เน้นลดความแออัดโรงพยาบาลและขยายบริการสู่ชุมชน

การจัดบริการ

  • ศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิขั้นสูง (Super Primary Care Unit)
  • หน่วยส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ Prevention Promotion Unit

พื้นที่ตัวอย่าง

  • หน่วยบริการปฐมภูมิเนินพระ (รพ.ระยอง)
  • ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านหนองกุง จ.ขอนแก่น

2. พื้นที่กึ่งเมือง ประชากรขนาดกลาง ประมาณ 30,000 คน (8,000 – 15,000 คน) ใช้ PCU Model เน้นบริการเชิงรุกและเชิงรับแบบเบ็ดเสร็จ

การจัดบริการ

  • รับรักษาผู้ป่วยนอก OPD Walk in 
  • บริการตรวจรักษาแบบเคลื่อนที่
  • ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล Telemedicine

พื้นที่ตัวอย่าง

  • หน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.สต.ศรีไค จ.อุบลราชธานี
  • หน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.สต.คลองสี่ จ.ปทุมธานี

3. พื้นที่ชนบท ประชากรเบาบาง ประชากรทั้งอำเภอไม่เกิน 30,000 คน ใช้ รูปแบบศูนย์บริการปฐมภูมิระดับเครือข่าย NPCU Model เน้นบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดบริการ

  • บริการผู้ป่วยนอก
  • ทีมสหวิชาชีพช่วยดูแล Home Based Care 
  • ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล Telemedicine

พื้นที่ตัวอย่าง

  • โรงพยาบาลหนองฮี จ.ร้อยเอ็ด
  • สมานมิตร-กะเฉด สสารโมเดล จ.ระยอง

การดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมินี้ ยึดหลักการสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2561 ด้านวิชาการ โดยเน้นหลัก 1A4C (Accessibility, Continuity, Comprehensiveness, Coordination, Community Participation) และด้านการบริหารจัดการ ที่มุ่งเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง โรงพยาบาล และ หน่วยบริการปฐมภูมิ อย่างมีประสิทธิภาพ  

รพ.สต.คลองสี่ ตัวอย่าง PCU พื้นที่กึ่งเมือง 

แม้อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ จ.ปทุมธานี ยังคงมีลักษณะกึ่งชนบท การเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองยังคงเป็นความท้าทายสำหรับหลายคน 

ตัวอย่างที่ชัดเจนของความสำคัญของหน่วยบริการปฐมภูมิ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองสี่ (รพ.สต.คลองสี่) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบริการสุขภาพในจังหวัดปทุมธานี ทุกวันพุธและพฤหัสบดี โรงพยาบาลคลองหลวง จะส่งทีมแพทย์และนักศึกษาแพทย์มาตรวจติดตามอาการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง พร้อมทั้งจ่ายยาและให้คำแนะนำด้านสุขภาพถึงชุมชน

ที่นี่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ… สมบุญ สุดทะสน วัย 80 ปี เป็นผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ก่อนหน้านี้ต้องเสียเวลาเดินทางทั้งวันไปต่อคิวที่โรงพยาบาลในเมือง แต่เมื่อมีบริการใกล้บ้าน สมบุญ ก็ลดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายลงได้มาก

สมบุญ สุดทะสน รับบริการที่ รพ.สต.คลองสี่

ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมินี้ ไม่ได้เพียงแค่ให้ การรักษาทางการแพทย์ แต่ยังเน้นการให้คำปรึกษา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างสุขภาพที่ยั่งยืนให้กับผู้ป่วย และเมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการซับซ้อนเกินกว่าจะรักษาในหน่วยปฐมภูมิ ระบบจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ และเมื่อการรักษาในโรงพยาบาลเสร็จสิ้น หน่วยปฐมภูมิจะรับช่วงต่อในด้านการฟื้นฟู เช่น การทำกายภาพบำบัดในชุมชน ซึ่งช่วยลดภาระการเดินทางไปยังโรงพยาบาล

การส่งเสริมและป้องกันโรค ยังเป็นอีกบทบาทสำคัญของ รพ.สต. โดยไม่เพียงแต่ดูแลผู้ป่วย แต่ยังมุ่งเน้นการป้องกันโรคก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง ไพฑูรย์ ดำริห์ ผอ.รพ.สต.คลองสี่ จ.ปทุมธานี ย้ำว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยบริการเหล่านี้เพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชนเป็นไปอย่างครอบคลุม

แม้ประเทศไทยจะมี รพ.สต. มากกว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันมีเพียง 4,900 แห่งที่ได้รับการพัฒนาจนเป็น รพ.สต.ติดดาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมาตรฐานการบริการที่สูงขึ้น สะท้อนว่าการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิยังคงต้องเดินหน้ากันต่อไป

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่อธิบายว่าทำไม ? ขบวนการแพทย์ชนบท ที่ถึงแม้จะผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วน ให้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว แต่ก้าวต่อไปยังจำเป็นต้องผลักดัน ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้สำเร็จเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

เพราะนอกจากช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ท่ามกลางความท้าทายจากปัญหาด้านสุขภาพ โรคภัยใหม่ ๆ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบปฐมภูมิจึงไม่เพียงเป็นทางเลือก แต่เป็น ทางรอด ที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

ความท้าทายส่งต่ออุดมการณ์…แพทย์ชนบท

รูปแบบองค์กรของ ชมรมแพทย์ชนบท ไม่มีลงทะเบียนการสมัครสมาชิกเป็นเครือข่ายกันโดยธรรมชาติ คุณหมอหลายคนอาจจะมีหมวกหลายใบ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ชมรมนี้ก็สะท้อนว่าพวกเขามีอุดมการณ์เดียวกัน

คำถามสำคัญคือ ขบวนการแพทย์ชนบท จะไปต่ออย่างไร ? ท่ามกลางชมรมแพทย์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และ ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

แล้วบทบาทของ ชมรมแพทย์ชนบท จะวางตัวเองอยู่ตรงไหน ? ของวงการสาธารณสุข 

หมอสุภัทร มองว่า ชมรมต่าง ๆ ในแวดวงสาธารณสุขส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ด้านวิชาชีพของตนเอง แต่ชมรมที่ยังคงยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของประชาชน คือ ชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งได้ดำเนินบทบาทนี้มาอย่างยาวนานและยังคงยึดมั่นในเป้าหมายดังกล่าวต่อไป

แม้การขับเคลื่อนนโยบายสังคมและการทำงานทางความคิดในประเด็นเชิงโครงสร้างจะเป็นเรื่องซับซ้อนและอาจสร้างความสับสนให้กับบุคลากรบางส่วน แต่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่เลือกทำงานในแนวทางนี้ มักอาศัยบทบาทภายใต้ หมวก ของชมรมแพทย์ชนบท ในการเป็นแรงผลักดันสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

แล้วความยาก ความท้าทายที่จะส่งต่ออุดมการแพทย์ชนบทไปสู่แพทย์รุ่นใหม่ จะเป็นอย่างไร หมอสุภัทร ยอมรับว่า ยังเป็นห่วงในเรื่องของชุดความคิดต่อระบบหลักประกันสุขภาพ มากกว่า เพราะเวลานี้ถูกมองไปในเรื่องกำไรขาดทุน แต่ที่จริงควรเป็นเรื่องของการรักษาคนอย่างเท่าเทียม ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบทยังคงมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายอย่างเหนียวแน่น และในปีหน้าก็ยังมีการเลือกประธานชมรมแพทย์ชนบทคนใหม่ 

และถ้าไปถามนักศึกษาแพทย์ที่กำลังเติบโตมาเป็น คุณหมอรุ่นใหม่ มองอุดมการของแพทย์ชนบทอย่างไร เสกสรร ยอดสนิท นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์รามาฯ มองว่า ขบวนการแพทย์ชนบทยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ เพราะแน่นอนว่าโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ ยังมีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือถ้าเข้ามาจริง ๆ ก็จะค่อนข้างหนาแน่นเกินไป ทำให้แพทย์ชนบท หรือแพทย์ชุมชนยังมีความจำเป็น และก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามาใช้ระบบบริการสุขภาพที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ก็เลยมองว่าแพทย์ชุมชนเป็นด่านแรก ที่จะคอยช่วยสกรีนดูว่าคนที่ไม่ได้เจ็บป่วยหนักมากสามารถรักษาเบื้องต้นได้ในพื้นที่

เช่นเดียวกับ เวธินี สืบนุการณ์ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปี 6 คณะแพทยศาสตร์รามาฯ  ก็มองว่า การสร้าง หมอครอบครัว ช่วยส่งเสริมให้ระบบสุขภาพเท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น และคงมีแผนการระยะยาวของกระทรวงสาธารณสุขในการที่จะผลิตแพทย์ และกระจายแพทย์ออกไปกลับสู่ท้องถิ่นชุมชน แต่ว่าการที่จะให้แพทย์ไปอยู่ในที่ชุมชน พื้นที่ห่างไกลตาม รพ.สต.ก็คิดว่าอาจจะต้องมีระบบรองรับ มีค่าตอบแทน มีแรงจูงใจให้แพทย์ที่ไปอยู่ตรงนั้นมากขึ้นด้วย

อุดมการณ์ของ ขบวนการแพทย์ชนบท คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และสร้างระบบสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม แม้ในวันที่บทบาทของชมรมอาจถูกตั้งคำถามจากความเปลี่ยนแปลงในวงการสาธารณสุข

แต่สายธารของอุดมการณ์นี้ยังคงไหลต่อไปในใจของคนรุ่นใหม่ ที่เชื่อมั่นในบทบาทของแพทย์ชนบท ในฐานะด่านแรกของระบบสุขภาพที่ดูแลชุมชนอย่างใกล้ชิด และช่วยสร้างระบบที่ยั่งยืน

หากขบวนการนี้สามารถส่งต่อแนวคิดและสร้างแรงจูงใจให้กับแพทย์รุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่ต่างจากการจุดไฟแห่งความเท่าเทียมทางสุขภาพให้สว่างไสวไปอีกนานแสนนาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS